ช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปี กลุ่มนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้เดินหน้าเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ หลังดึงอรฤดี ณ ระนอง อดีตผู้พลิกโฉมบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) จากธุรกิจอุตสาหกรรมสังกะสีเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูง
ไม่ใช่แค่การเปิดศึกบุกตลาดไฮเอนด์จนถึงระดับซูเปอร์ลักชัวรี แต่ยังสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ตั้งบริษัทลูก “นายณ์เอสเตท” ทำหน้าที่ขยายโครงการในลักษณะการร่วมทุนกับพันธมิตรกลุ่มแลนด์ลอร์ด หรือพาร์ตเนอร์ที่สามารถเข้าถึงที่ดินผืนงามใจกลางเมือง ซึ่งนับวันจะหายากมากขึ้นและราคาสูงลิบลิ่ว
อรฤดีในฐานะกรรมการบริหารบริษัท นารายณ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นายณย์ เอสเตท ประเดิมยุทธศาสตร์จับมือร่วมทุนกับบริษัท คูน แคปปิตอล ผุดโครงการบ้านหรูหลังใหญ่ในทำเลทองย่านสุขุมวิท ท่ามกลางสมรภูมิคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าที่ยักษ์อสังหาฯ กำลังเปิดศึกผุดโปรเจกต์อย่างดุเดือด
เริ่มจาก “ควอเตอร์ 39” เป็นทาวน์โฮม จำนวน 15 ยูนิต เนื้อที่ 2 ไร่เศษ ราคาเริ่มต้น 38.6 ล้านบาท ถึงเกือบ 60 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 680 ล้านบาท
ตามด้วย “ควอเตอร์ 31” ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2 ไร่ครึ่งในซอยสุขุมวิท 31 เป็นทาวน์โฮมสูง 3.5 ชั้น จำนวน 20 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 44.3 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท และ “ควอเตอร์ ทองหล่อ” บ้านเดี่ยว 3 ชั้น 8 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 58.8 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 600 ล้านบาท
เอ่ยชื่อ “คูน แคปปิตอล” เหมือน “หน้าใหม่” ในวงการ แต่สามารถเฟ้นหาที่ดินผืนงามใจกลางสุขุมวิทได้ ย่อมไม่ใช่แค่ “มือใหม่” หรือพาร์ตเนอร์ชั้นธรรมดาแน่ โดยเฉพาะการงัดกลยุทธ์รุกช่องว่างเจาะลูกค้าตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อระดับเศรษฐี ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และมีความต้องการซื้อบ้านหรูในเขตซีบีดี ซึ่งแทบไม่มีค่ายอสังหาริมทรัพย์เจ้าไหนกล้าลงทุน หลังกลุ่มเอพีผุด “บ้านกลางกรุง บริติช ทาวน์ ทองหล่อ” เมื่อ 13 ปีก่อน
บริษัท คูน แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส จำกัด ประกอบด้วย 4 ผู้ถือหุ้น 4 กรรมการบริหาร เริ่มจาก สรวิศ ชัยโรจน์ อดีต Vice President ดูแลรับผิดชอบด้านการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส มีประสบการณ์การลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วอาเซียน อย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นมากกว่า 30,000 ล้านบาท
สรวิศคนนี้วัยสี่สิบเศษๆ แต่มากประสบการณ์เรื่องการร่วมลงทุนในลักษณะ Joint venture เคยเป็นตัวแทนของเลห์แมน บราเธอร์ส ในการร่วมลงทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เช่น กลุ่มเซ็นทรัลในประเทศไทย บริษัท Kajima ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท Hotel Properties Limited ประเทศสิงคโปร์
ตัวอย่างโครงการการลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ โครงการ 185 Rajdamri, โครงการ The River, และโครงการ Northpoint ซึ่งร่วมลงทุนกับบริษัท ไรมอนแลนด์ รวมถึงโรงแรม Le Royal Meridien Phuket Yacht Club และ โรงแรม Le Royal Meridien Baan Taling Ngam ที่ซื้อมาจากบริษัท แปซิฟิก แอสเซ็ท
สรวิศรู้จักกับฐิติวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ เพื่อนร่วมงานที่เลห์แมน บราเธอร์ส ดูแลด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน
ฐิติวัฒน์ทำดีลซื้อขายสินทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ มูลค่าการลงทุนไม่แพ้กับสรวิศ จาก “เลห์แมน” ฐิติวัฒน์ถูกกลุ่มบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ดึงไปนั่งบริหารงานด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และการควบรวมกิจการทั้งหมด
หลังเลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลายเมื่อปี 2551 ทั้งสองคนชักชวนหุ้นส่วนอีก 2 คน ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ ธเนศ อรุณวณิชพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท Building Property Company Limited ในฐานะรุ่นพี่ในวงการรับเหมาก่อสร้าง ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ผ่านโครงการทั่วกรุงเทพฯ กว่า 20 โครงการ และณัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Optimist ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ การออกแบบ และการสื่อสาร การตลาด มือสร้าง “แบรนด์” โครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 12 โครงการ
ณัฐวัฒน์ยังเคยร่วมงานกับบริษัทเอเยนซี่ชั้นนำ เช่น Creative Juice และ Bates Asia (Thailand) ให้คำปรึกษาแก่แบรนด์ระดับโลก เช่น โคคา-โคลา ฮอนด้า โซนี่ และ ปตท.
“คูน แคปปิตอล เกิดจาก Vision และ Passion ทุกคนชอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และคลุกคลีอยู่ในวงการนานหลายปี แต่การเข้ามาในธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวมีโจทย์และความท้าทายมาก เพราะบริษัทไม่ใช่องค์กรใหญ่ แต่ต้องการสร้างธุรกิจอย่างมีคุณภาพ มีจุดขายแตกต่าง ซึ่งโชคดีที่นายณ์เอสเตทกำลังหาไอเดียใหม่ คูนแคปปิตอลนำเสนอไอเดียใหม่ ทุกอย่างเลยคลิก” สรวิศ ชัยโรจน์ กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 ํ”
แผนการร่วมทุนขยายโครงการตามโมเดลใหม่ของอรฤดีจึงเกิดขึ้นทันที เมื่อ “คูน แคปปิตอล” เจรจาซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 31 ซอยสุขุมวิท 39 และซอยทองหล่อ ได้สำเร็จ
ทั้ง “นายณ์เอสเตท” และ “คูน แคปปิตอล” มีคอนเซ็ปต์ตรงกันที่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อจับตลาดใหม่ ตอบโจทย์ “คนเมือง” จากเดิมต้องเลือก “บ้าน” ภายใต้เงื่อนไขจำกัด 3 ข้อ คือ หาคอนโดมิเนียมในเมือง พื้นที่ใช้สอยจำกัด หาบ้านเดี่ยวรอบนอกกรุงเทพฯ และเสียเวลาเดินทางนานหลายชั่วโมงเข้าสู่เมือง หรือซื้อที่ดินเปล่าและสร้างบ้าน ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง ทั้งค่าที่ดินและค่าก่อสร้าง
ฐิติวัฒน์กล่าวว่า ควอเตอร์คอลเลกชั่นจึงเป็น “สินค้า” ที่เข้ามาทดลองเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ คือ ครอบครัวที่ใช้ชีวิตในเมือง มีพ่อแม่ แต่ปฏิเสธการอยู่คอนโดมิเนียม ซึ่งไม่มีโครงการบ้านในเขตเมืองรองรับความต้องการและกลุ่มคอนโดมิเนียมที่กำลังสร้างครอบครัว ต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ใหญ่และสนามเด็กเล่น
“อสังหาริมทรัพย์ในเมืองกำลังเข้าสู่ยุคที่ 2 จากช่วง 9-10 ปีก่อน คอนโดมิเนียมระดับกลางบูมมาก คนแห่ซื้อเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การทำงาน หนีรถติด และราคาที่ดินแพงทำให้ดีเวลลอปเปอร์ต้องลงทุนโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ ยูนิตจำนวนมาก แต่คำตอบคือ อยู่ไม่ได้เมื่อครอบครัวขยาย เข้าสู่เวฟที่ 2 ต้องการบ้านขนาดใหญ่ขึ้นและรองรับไลฟ์สไตล์ได้ด้วย นั่นคือช่องว่างทางการตลาด”
แน่นอนว่า การจับมือของ “นายณ์เอสเตท” และ “คูน แคปปิตอล” ไม่ใช่แค่โอกาสรุกตลาดใหม่ แต่ยังสะท้อนภาพการร่วมทุนกับกลุ่มแลนด์ลอร์ดที่ต่างจากเดิมและเป็นยุทธศาสตร์ที่ยักษ์อสังหาฯ กำลังขับเคลื่อนธุรกิจ อย่าง เค.อี.แลนด์ผนึกกับกลุ่ม ปตท. ที่มีทั้งที่ดินในมือ ทุนและโนว์ฮาว นำร่องผุด “เดอะคริสตัล พีทีที” หรือล่าสุด การร่วมทุนของ “แสนสิริ” และ “บีทีเอส” ซึ่งตั้งเป้าผุดโปรเจ็กต์ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าถึง 25 โครงการ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท
ผนึกจุดแข็งสองฝ่าย ได้ทั้งที่ดินผืนงามและลดความเสี่ยง ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจด้วย