วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > Sri Lankan Airlines: นกยูงแห่งเอเชียใต้

Sri Lankan Airlines: นกยูงแห่งเอเชียใต้

Column: AYUBOWAN

 

ได้ยินได้ฟังเรื่องราวความเป็นไปของการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาครบรอบ 55 ปี ในปี 2015 เมื่อช่วงเดือนเศษที่ผ่านมาแล้ว ก็ให้รู้สึกเห็นใจผู้คนที่อยู่แวดล้อมองค์กรแห่งนี้ ทั้งในส่วนพนักงานที่ยังไม่สามารถกำหนดอนาคตได้แน่ชัด หรือผู้โดยสารที่รอให้กำลังใจด้วยการใช้บริการ และที่สำคัญคือประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเงินภาษีที่รัฐอาจต้องนำเงินไปอุดหนุนวิสาหกิจแห่งนี้อีกครั้ง

 

แต่กรณีของการบินไทยก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อย่างใดนะคะ เพราะอย่างที่เราท่านคงทราบดีว่า When State Owns, Nobody Owns. When Nobody Owns, Nobody Cares.” ซึ่งดูเหมือนความเป็นไปของสายการบินแห่งชาติหลายแห่งก็จะดำเนินไปในพิกัดระนาบเช่นที่ว่านี้ จนต้องล้มหมอนนอนเสื่อป่วยไข้ไปด้วยพิษการบริหารที่ล้มเหลวจนถึงกับต้องล้มละลายจากหายไปในที่สุด

 

เรื่องราวของ Sri Lankan Airlines เมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมา ก็คงไม่ได้อยู่ในบริบทที่จะได้รับการยกเว้นจากกรณีที่ว่านี้เช่นกันนะคะ เพราะกว่าที่จะมาเป็น Sri Lankan Airlines สายการบินแห่งชาติของศรีลังกาในวันนี้ ต้องเผชิญกับมรสุมและกระแสลมแปรปรวนอยู่หนักหน่วงเช่นกัน

 

จุดเริ่มต้นของสายการบินแห่งชาติศรีลังกา เริ่มขึ้นจากการจัดตั้ง Air Ceylon ในปี 1947 หรือก่อนที่ศรีลังกาจะได้รับเอกราชจากอังกฤษเจ้าอาณานิคม ในปี 1948 เสียอีก โดย Air Ceylon มีสถานะเป็นวิสาหกิจของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเป็นไปเพื่อให้บริการเส้นทางการบินภายในประเทศเป็นหลัก

 

กระทั่งปี 1949 ภายใต้ความร่วมมือกับ Australian National Airways ซึ่งเข้ามาถือครองหุ้นใน Air Ceylon ในสัดส่วน 49% และช่วยให้ Air Ceylon เดินอากาศพาเครื่องบินทะยานไปได้ไกลถึงสนามบิน Heathrow กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

แต่ความเป็นหุ้นส่วนระหว่าง Air Ceylon กับ Australian National Airways ก็ดำเนินอยู่ได้ไม่นานและต้องแยกทางจากกันไปในปี 1953 หลังจากนั้น Air Ceylon ก็มุ่งแสวงหาพันธมิตรจากสายการบินในยุโรปมาเป็นพี่เลี้ยงช่วยประคับประคองรายละ 5-6 ปี ทั้งจาก KLM ในปี 1956 จนมาถึง British Overseas Airways Corporation (BOAC) ในปี 1962 และเนิ่นนาน ก่อนที่ Union de Transports Aériens (UTA) จากฝรั่งเศสจะกลายเป็นพันธมิตรรายสุดท้ายในช่วงระหว่างปี 1972-1977

 

การสิ้นสุดลงของพันธมิตรจากยุโรป ติดตามมาด้วยการประกาศยุบเลิกกิจการ Air Ceylon หลังจากที่สายการบินแห่งชาติประสบภาวะล้มละลายในปี 1978 โดยรัฐบาลศรีลังกาเริ่มต้นนับหนึ่งกับ Air Lanka ในฐานะสายการบินแห่งชาติและวิสาหกิจของรัฐแห่งใหม่ในปี 1979

 

Air Lanka ใช้วิธีการเช่าเครื่องบินจากสายการบิน ทั้งจาก Singapore Airlines และ Royal Brunei ขณะเดียวกันก็ซื้อเครื่องบินมือสองจาก All Nippon Airways เข้ามาประจำฝูงบิน เพื่อขยับขยายเส้นทางการบินให้ได้มากขึ้น

 

จุดเปลี่ยนผ่านของสายการบินแห่งชาติศรีลังกายุคใหม่ น่าจะอยู่ที่การมาถึงของ Emirates Group ที่เข้าร่วมลงนามกับรัฐบาลศรีลังกาในสัญญาระยะเวลา 10 ปีด้วยมูลค่าเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเข้าครอบครองหุ้น 40% ใน Air Lanka เมื่อปี 1998 ในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์

 

โดยในสัญญาฉบับดังกล่าวระบุให้ Emirates มีสิทธิในการบริหารและตัดสินใจในกิจการ ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุนของ Air Lanka ทั้งระบบ ซึ่งติดตามมาด้วยการปรับภาพลักษณ์และ re-branding สายการบิน Air Lanka มาสู่ชื่อและสัญลักษณ์ใหม่ในนาม Sri Lankan Airlines ในปี 1998 ด้วย

 

การได้ Emirates Group มาบริหารและปรับภาพลักษณ์ทำให้ Sri Lankan Airlines ขยายจำนวนเครื่องบินทั้ง Airbus A320-200 A330-200 และ A340-300 เข้าประจำการในฝูงบิน ควบคู่กับการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ โดยเฉพาะในย่านตะวันออกกลางได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีสถานะประหนึ่งเครือข่ายการบินระยะสั้นให้กับ Emirates ไปโดยปริยาย

 

การเดินทางร่วมกันของ Sri Lankan Airlines กับ Emirates Group สิ้นสุดลงในปี 2008 เมื่อ Emirates Group ไม่ต่อสัญญาภายใต้เหตุผลว่า รัฐบาลศรีลังกาแทรกแซงการบริหารและกิจการภายใน ก่อนที่จะจำหน่ายหุ้นที่ถือครองทั้งหมด 43.63% คืนให้กับรัฐบาลศรีลังกา

 

การถอยออกไปของ Emirates เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้สโลแกน Wonder of Asia” ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ Sri Lankan Airlines สามารถเติบโตต่อไปได้และดำรงบทบาทในการนำนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศเข้าสู่ศรีลังกา ควบคู่กับการขยายเส้นทางการบินไปรับส่งผู้โดยสารชาวจีน ที่กำลังขยายตัวเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ในช่วงที่ผ่านมา

 

ขณะเดียวกัน ภายใต้นโยบายของ Mahinda Rajapaksa ผู้นำของศรีลังกาในขณะนั้น สายการบินต้นทุนต่ำแห่งใหม่ในนาม Mihin Lanka ในฐานะบริษัทลูกของ Sri Lankan Airlines ก็กำเนิดขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายการพัฒนาการบินภายในประเทศให้สะดวกขึ้น ตามความมุ่งหมายที่จะขยายศักยภาพของประเทศด้วยการเป็นศูนย์กลาง 5 ประการรวมถึงศูนย์กลางการบินด้วย

 

แต่เมื่อ Mihin Lanka กำเนิดขึ้นจากต้นร่างทางการเมือง ความเป็นไปของสายการบินต้นทุนต่ำแห่งนี้จึงสิ้นสุดลงจากผลพวงทางการเมือง หลังจากที่ Mahinda Rajapaksa พ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อต้นปี 2015 ที่ผ่านมาและติดตามมาด้วยข้อกล่าวหาว่าด้วยการคอร์รัปชั่นใน Mihin Lanka ที่ส่งผลให้สายการบินแห่งนี้มีภาระหนี้สินมากมาย ก่อนที่ Mihin Lanka จะถูกยุบกิจการไปในที่สุด

 

ย้อนกลับมาดู Sri lankan Airlines ซึ่งพยายามรักษาระดับการเติบโตท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน ด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม Oneworld เมื่อปี 2014 ซึ่งนับเป็นสายการบินจากภูมิภาคเอเชียใต้สายการบินแรกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มพันธมิตรการบินที่มีอยู่สามกลุ่มในปัจจุบัน (อีกสองกลุ่มคือ Star Alliance และ Sky Team)

 

นอกจากนี้ Sri Lankan Airlines พยายามยกระดับมาตรฐานการบริการด้วยการเป็นสายการบินในเอเชียใต้แห่งแรกที่มีบริการ WiFi ให้บริการฟรีบนเครื่อง ควบคู่กับการบรรจุรายการสันทนาการบันเทิงทั้งภาพยนตร์ยอดนิยมจาก Hollywood และรายการสำหรับเด็ก และช่องดนตรีหลากหลายไว้ครบครัน

 

เอกลักษณ์ที่สะดุดตาของ Sri Lankan Airlines ที่จะเว้นไว้ไม่กล่าวถึงก็คงมิได้ ก็คือเครื่องแต่งกายของพนักงานสตรีที่คอยให้บริการทั้งในส่วนของภาคพื้นและประจำเครื่องในชุด Osariya ซึ่งถือเป็นชุดแต่งกายประจำชาติศรีลังกา พร้อมกับลวดลายและเส้นสายของนกยูงบนพื้นหลักสีเขียว

 

แต่นกยูงแห่งเอเชียใต้จะสามารถรำแพนสยายปีกขนท่ามกลางความพลิกผันทางการเมืองภายในประเทศและการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะในอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศได้ดีอย่างไร ถือเป็นกรณีที่ท้าทายและอาจเป็นส่วนหนึ่งในดัชนีบ่งชี้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจของศรีลังกาที่ผูกพันกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมากในช่วงเวลานับจากนี้ได้ดีทีเดียว