วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > นับถอยหลัง “บิ๊กซีรีเทล” ปลุกมาร์เกตแคป 3 แสนล้าน

นับถอยหลัง “บิ๊กซีรีเทล” ปลุกมาร์เกตแคป 3 แสนล้าน

7 มิถุนายน 2566 บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC” ประกาศเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการ ในฐานะบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) และกลุ่มบริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด (TCC) ลุยยุทธศาสตร์สร้างพอร์ตโฟลิโอธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจค้าส่งหลากหลายรูปแบบ ก่อนรีเทิร์นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BRC ย้ำว่า ข้อมูลของ Euromonitor ระหว่างปี 2556-2565 ในกลุ่มผู้ค้าปลีกสมัยใหม่ 3 อันดับแรกในประเทศไทย BRC คือผู้ประกอบธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในกลุ่มซูเปอร์มาร์เกตและมีสถิติการเติบโตสูงสุดในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งคำนวณจากรายได้จากการขายปลีก

ขณะเดียวกัน เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ที่เติบโตสูงในภูมิภาค ผ่านเครือข่ายร้านค้าหลากหลายรูปแบบและแบรนด์ทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบรวมศูนย์ ซึ่งผสมผสานระหว่างธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ซึ่งเป็นจุดแข็งผลักดันผลกำไรและการเติบโตอย่างมั่นคง

ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจใหม่ของ BRC แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก เริ่มจากกลุ่มใหญ่สุด ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เป็นเครือข่ายร้านค้าหลายรูปแบบ หรือ Multi-format ทั้งร้านค้าขนาดใหญ่ ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า บิ๊กซีเพลส บิ๊กซีมาร์เก็ต และบิ๊กซีฟู้ดเพลส รวมสาขา 199 แห่งในไทยและ 1 แห่งในกัมพูชา

ร้านค้าในรูปแบบขนาดเล็ก 1,518 แห่ง ได้แก่ บิ๊กซี มินิ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ดำเนินการเอง 1,400 สาขา โดยอยู่ในไทย 1,382 สาขา และในกัมพูชา 18 สาขา ส่วนร้านค้า Kiwi Mart อีก 2 สาขาในกัมพูชา อยู่ระหว่างรีแบรนด์เป็นร้านค้าภายใต้แบรนด์บิ๊กซี นอกจากนั้น มีบิ๊กซีมินิสาขาแฟรนไชส์ในประเทศไทย 53 สาขา และในประเทศลาวอีก 63 สาขา

ร้านสะดวกซื้อ B’s Mart ในประเทศเวียดนาม 78 สาขา และตลาด Open-Air รวม 8 แห่งในประเทศไทย แบ่งเป็นตลาดนัดกลางคืน ‘ตลาดเดินเล่น’ 6 สาขา และตลาดนัดกลางวัน คือ ตลาดครอบครัว 1 สาขา และตลาดทิพย์นิมิตร 1 สาขา

ขณะเดียวกัน แตกไลน์ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่รูปแบบอื่นๆ ได้แก่ บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส เน้นบริการลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ล่าสุดเปิดให้บริการ 4 สาขาในไทย และบิ๊กซี ดีโป้ ซึ่งเป็นฟอร์แมตที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดค้าส่งสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ แต่ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่ ขนาดไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ล่าสุดเปิดให้บริการ 11 สาขาในไทย ซึ่งบิ๊กซีโมเดลต่างๆ ยังมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ปล่อยพื้นที่ให้เช่าด้วย

ในธุรกิจกลุ่มแรกนี้ยังรวมถึง Omnichannel Platform ได้แก่ บริการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.bigc.co.th การสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน Big C Plus การซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มมาร์เกตเพลสของบุคคลภายนอก รวมทั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

กลุ่มที่ 2 ธุรกิจค้าส่ง โดยทำการค้ากับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่แบบ B2B โดยตรงกว่า 80,000 ราย การขายสินค้าให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม จำนวนกว่า 1,170 สาขา ที่ดำเนินงานโดยเจ้าของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมในประเทศไทย ภายใต้โมเดล “ร้านค้าโดนใจ”

สำหรับโมเดลร้านค้าโดนใจถือเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ใช่แค่การสร้างฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการซื้อสินค้ากับบิ๊กซีอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ยังสามารถเปิดเกมรุกขยายเครือข่ายมินิสโตร์เจาะกลุ่มชุมชนและสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพราะแม้โมเดิร์นเทรดรุกตลาดค้าปลีกประเทศไทยมานานและขยายฐานทั่วประเทศ แต่สัดส่วนยอดขายของร้านโชห่วยในเมืองไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด 45% เปรียบเทียบกับร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ 31% และไฮเปอร์มาร์เกต 24%

ที่ผ่านมามีร้านโชห่วยจำนวนมากร่วมเป็นพันธมิตร เพราะใช้เงินลงทุนพลิกโฉมเป็นร้านสะดวกซื้อแนวใหม่ ประมาณ 3-7 แสนบาท ไม่ต้องหักแบ่งรายได้และยังเป็นเจ้าของกิจการ 100% สามารถใช้ชื่อร้านเดิมได้ ต้นทุนถูกกว่าการทุ่มเงินซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อหลักล้านบาท หรือในกรณีเปิดร้านใหม่ ผู้ค้าลงทุนโครงสร้างร้านและให้ทีมงานโดนใจเข้าตกแต่งภายในพร้อมวางระบบทั้งหมดได้เช่นกัน

รูปแบบร้านมี 3 ขนาด คือ ไซซ์ S พื้นที่ขาย 40 ตารางเมตร จำนวนสินค้าประมาณ 1,000 รายการ พื้นที่วางสินค้าสูงสุด 27 ล็อก และตู้แช่เย็น 2 ตู้

ไซซ์ M พื้นที่ขาย 40-80 ตารางเมตร จำนวนสินค้า 2,000 รายการ พื้นที่วางสินค้าสูงสุด 55 ล็อก ตู้แช่เย็น 2 ตู้ และตู้แช่แข็ง 1 ตู้

ไซซ์ L พื้นที่ขายมากกว่า 80 ตารางเมตร จำนวนสินค้า 2,400 รายการ พื้นที่วางสินค้าสูงสุด 55 ล็อก ตู้แช่เย็น 2 ตู้ และตู้แช่แข็ง 1 ตู้

ส่วนธุรกิจกลุ่มสุดท้าย ประกอบด้วยร้านขายยาเพรียว จำนวน 146 สาขาในประเทศไทย ร้านขายยาสิริฟาร์มา 1 สาขา ร้านกาแฟวาวี  58 สาขาในประเทศไทย  ร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส 55 สาขา และร้านหนังสือบุ๊คกาซีน 1 สาขาในประเทศไทย

บริษัทยังมีรายได้จากบริการต่างๆ เช่น บริการรับชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ Big Service ในร้านค้าบิ๊กซี บริการให้คำปรึกษา บริการวางระบบหน้าร้านและระบบสนับสนุน การติดตั้งระบบเครื่องชำระเงิน (POS System) ให้ร้านค้าโดนใจ บริการทรัพยากรบุคคล การดำเนินงานร้านค้า MM Mega Market ของ MMVN ในประเทศเวียดนาม บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ซัปพลายเออร์ของร้านค้าบิ๊กซี บริการให้เช่าพื้นที่โฆษณาภายในเครือข่ายร้านค้า

ด้านนางสาวอัญชลี ริมวิริยะทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC กล่าวว่า บริษัทคาดการณ์ยอดขายต่อสาขาเดิมในงวดไตรมาส 2/2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2566 และเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากวันหยุดยาวหลายช่วง กระตุ้นให้ประชาชนในประเทศเดินทางท่องเที่ยว และพบปะสังสรรค์มาก โดยเร่งขยายสาขาทุกแพลตฟอร์ม ทั้งไฮเปอร์มาร์เกตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 สาขา ฟู้ดเพลส 5 สาขา ฟู้ดเซอร์วิส 7-8 สาขา บิ๊กซีมินิ 200 สาขา ร้านขายยาเพรียว 12 สาขา และร้านโดนใจ 3,000 สาขา

ที่สำคัญ การปรับโครงสร้างใหม่และขยายพอร์ตโฟลิโอแบบบิ๊กบึ้มของ BRC เพื่อรองรับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งใหม่ในฐานะ Flagship Company ของ BJC ซึ่งบรรดาโบรกเกอร์คาดการณ์กันว่าจะมีมาร์เกตแคปสูงถึง 3 แสนล้านบาท และจะกลายเป็นหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มค้าปลีกในทันที