วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > จากทัวร์ศูนย์เหรียญ-ทัวร์อั้งยี่ สู่อาณานิคมของนักลงทุนจีนในไทย

จากทัวร์ศูนย์เหรียญ-ทัวร์อั้งยี่ สู่อาณานิคมของนักลงทุนจีนในไทย

ในระดับมหภาคเศรษฐกิจไทยกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะมีปัจจัยอยู่บ้าง แต่เป็นปัจจัยที่มิอาจควบคุมได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กระนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้านยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่น

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะที่ปีนี้กระแสนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่ขาดสาย นักท่องเที่ยวจากจีนยังคงเป็นเป้าหมายหลักและความคาดหวังของผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย

ทว่า สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลคือ การขยายตัวของทุนจีน ที่เริ่มจากทัวร์ศูนย์เหรียญ สู่ทัวร์อั้งยี่ จนถึงการสร้างอาณานิคมทางเศรษฐกิจของชาวจีนอพยพใหม่ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาที่อาจจะกระทบกับรายได้ของภาคการท่องเที่ยวไทยเท่านั้น

เมื่อนักลงทุนจากจีนเริ่มขยายธุรกิจออกไปในวงกว้าง ทั้งในภาคการท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้า ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น

หลายฝ่ายอาจมองว่า การที่มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน จำนวนเงินสะพัดในตลาดนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ภาพที่ฉาบจากด้านนอกอาจเป็นเช่นนั้น ทว่า ความจริงอาจเป็นขั้วตรงข้ามโดยสิ้นเชิง

เริ่มจากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญที่เคยสร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งทัวร์ศูนย์เหรียญคือ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังไทย โดยซื้อทัวร์จากประเทศตัวเองในราคาต่ำกว่าต้นทุน จากนั้นบริษัททัวร์เหล่านั้นจะส่งลูกทัวร์ทั้งหมดมาให้บริษัททัวร์ในไทย โดยไม่ต้องจ่ายค่าทัวร์แฟร์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการพาเที่ยวที่เก็บมาจากลูกทัวร์ให้กับเอเยนต์ฝ่ายไทยแม้แต่เหรียญเดียว แม้ว่าไทยจะยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง จากการใช้จ่ายซื้อของกิน ของที่ระลึก รูปแบบทัวร์นี้จะสร้างผลกระทบในระยะยาว

ปัญหาต่อมาคือ ทัวร์อั้งยี่ ที่คาบเกี่ยวกับปัญหาทุนสีเทา เป็นการท่องเที่ยวแบบผูกขาด เช่น ไกด์นำเที่ยวเถื่อนที่เป็นชาวจีน หรือการนำนักท่องเที่ยวไปใช้บริการร้านอาหาร หรือซื้อสินค้าจากร้านของนักลงทุนจากชาติเดียวกัน

ประเด็นนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมองว่า หากร้าน หรือบริษัทนั้นๆ ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายของไทยก็ไม่น่ากังวล

ชาวจีนอพยพมาไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา เยาวราช หรือไชน่าทาวน์ เกิดขึ้นเมื่อปี 1892 ย่านรัชดา-ห้วยขวาง กลายเป็น “นิวไชน่าทาวน์” ในปี 2016 ของชาวจีนอพยพใหม่ ซึ่งมีชาวจีนอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 7,000 คน กิจการที่เปิดให้บริการในย่านห้วยขวางส่วนใหญ่จะเป็นภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งส่งผลให้ราคาค่าเช่าจากเดิมที่ 15,000 บาท ปรับสูงไปถึงหลักแสนบาทต่อเดือน

นอกจากพื้นที่นิวไชน่าทาวน์ย่านห้วยขวางแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ โครงการศูนย์ค้าส่งค้าปลีกชื่อ “ซามาเนีย พลาซ่า” ที่ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นคลังเก็บรวบรวมสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ หลายคนบอกว่าเสมือนยกเมืองเซินเจิ้น กว่างโจว มาไว้ที่นี่ นอกจากนี้ภายในพื้นที่ดังกล่าวยังเปิดให้บริการเช่าพื้นที่สำหรับการขายของแบบไลฟ์สด ซึ่งนี่จะเป็นการตัดโอกาสช่องทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าสินค้าจากจีน

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI นักลงทุนจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2018 ปี 2019 มากกว่า 270 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 2.9 แสนล้านบาท เฉลี่ยโครงการละ 1 พันล้านบาท ปี 2020 153 โครงการ มูลค่าลงทุน 30,780 ล้านบาท ปี 2021 109 โครงการ มูลค่าลงทุน 37,217 ล้านบาท และปี 2022 ในช่วง 9 เดือนแรก มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนโดยตรงมากที่สุด โดยยื่นขอมา 89 โครงการ มูลค่า 45,024 ล้านบาท

ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าส่งของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการขยายอิทธิพลทางการค้าของชาวจีนอพยพใหม่แล้ว ผู้ประกอบการด้านธุรกิจอสังหาฯ เช่น นายหน้า ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

แม้ว่าชาวจีนจะนิยมซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลที่พบว่า ในไตรมาส 2 ของปี 2022 มีการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า อีกหนึ่งอาชีพของชาวจีนอพยพใหม่คือ ตัวแทน นายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ บ้านและคอนโดมิเนียม จากเดิมชาวจีนกลุ่มนี้จะเป็นเพียงผู้ซื้ออสังหาฯ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนสถานะเป็นนักลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ

นอกจากอาชีพนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีอีกหลายอาชีพที่ชาวจีนอพยพใหม่นิยมทำกัน ได้แก่ 1. พ่อค้า นักธุรกิจ เช่น ร้านขายของที่ระลึก ร้านดอกไม้ ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 2. แรงงานตามสถานประกอบการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม แหล่งบันเทิงของชาวจีน 3. ครู อาจารย์ ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสมาคมจีนต่างๆ 4. มัคคุเทศก์ 5. ขายสินค้าออนไลน์ 6. ช่างเทคนิคในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก

สาเหตุที่ชาวจีนกลุ่มนี้ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ไทยมีความเหมาะสมในเรื่องศักยภาพของตลาด ทำเลที่ตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายสนับสนุนการลงทุน ตลอดจนระบบสาธาณสุข และความสำคัญที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับจีน อีกปัจจัยที่สำคัญคือ สถานการณ์ความขัดแย้งของจีนกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนจีนหันมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้น

ชาวต่างชาติมาลงทุนในไทยย่อมดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน แต่เมื่อพิจารณาจากอาชีพที่ชาวจีนอพยพใหม่ในไทย ทำให้เห็นว่านักลงทุนชาวจีนบางกลุ่มจะจ้างงานคนจากชาติเดียวกัน ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการตัดโอกาสของแรงงานไทยไปโดยปริยาย รวมถึงเม็ดเงินจะยังคงหมุนเวียนอยู่ในกลุ่มชาวจีนอพยพใหม่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวจีนอพยพใหม่ไม่ได้คิดที่จะตั้งรกรากหรือย้ายมาอยู่ไทยเป็นการถาวรเฉกเช่นชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต แต่มาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ต้องการ เช่น โอกาสทางการศึกษา การยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม งาน และในท้ายที่สุด ชาวจีนอพยพใหม่กลุ่มนี้จะกลับไปยังประเทศของตัวเอง

ประเทศไทยไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดียวของชาวจีนกลุ่มนี้ เพราะข้อมูลจาก Juwai.com เว็บไซต์ขายอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่มีผู้ใช้งาน 12.9 ล้านคนต่อเดือน พบข้อมูลประเทศที่ชาวจีนอยากไปอยู่หรือใช้ชีวิตนอกแผ่นดินจีนได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 2. มาเลเซีย 3. ออสเตรเลีย 4. แคนาดา 5. ไทย 6. สิงคโปร์ 7. อิตาลี 8. อังกฤษ 9. สเปน และ 10. ฟิลิปปินส์

ยังคงเป็นเรื่องที่น่าจับตาดูกันต่อไปว่า พื้นที่นิวไชน่าทาวน์แล้วจะมีการขยายอาณาเขตออกไปยังพื้นรอบนอกหรือต่างจังหวัดหรือไม่ ภาครัฐจะมีนโยบายรับมือนักลงทุนกลุ่มนี้รูปแบบไหน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนในประเทศ.