แม้สถานการณ์โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย แต่อีกด้านหนึ่ง คือปัจจัยบวกของกลุ่ม Drug Store และ Beauty & Wellness ซึ่งประเมินตัวเลขเติบโตปีนี้จะมากกว่า 13% แซงหน้าภาพรวมตลาดร้านค้าปลีกที่คาดว่าจะขยายตัว 9% จากมูลค่าปีก่อน 121,896 ล้านบาท
ที่สำคัญ กลุ่ม Drug Store และ Beauty & Wellness ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาน้อยกว่าเซกเมนต์อื่นและฟื้นตัวเร็ว เพราะคนไทยมากกว่า 65% หันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ทุกคนต่างต้องการเสริมภาพลักษณ์ทุกสิ่งอย่างบนร่างกายให้ดูดีตลอดเวลา
หากเจาะสมรภูมิตลาดหนีไม่พ้น 3 ค่ายใหญ่ ได้แก่ วัตสัน (Watsons) บู๊ทส์ (Boots) และซูรูฮะ (Tsuruha) โดยมีกลุ่มเซ็นทรัลที่กำลังเร่งผลักดันร้านท็อปส์แคร์ (Tops Care) และท็อปส์ วีต้า (Tops Vita) เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
ถ้าย้อนดูที่มาของ 3 ค่ายแรก วัตสันมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านขายยาในฮ่องกง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2384 เดิมเป็นที่รู้จักในชื่อ Big Medicine Shop ก่อนมาใช้ชื่อ A.S. Watson ในปี 2413 และเปิดร้านขายยาชื่อ Watsons the Chemist
สำหรับ เอ.เอส. วัตสัน กรุ๊ป เป็น 1 ในบริษัทร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพ ความงาม และไลฟ์สไตล์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและยุโรป ถือเป็นบริษัทย่อยในเครือของบริษัท CK Hutchison Holdings Limited ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง มีสาขากว่า 8,000 สาขา และร้านขายยากว่า 1,500 ร้านค้า ในเอเชียและยุโรป โดยเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2539 ผ่านกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ และเดิมใช้ชื่อบริษัท เซ็นทรัล วัตสัน
วัตสันร้านแรกอยู่ในตึกมณียาเซ็นเตอร์ และใช้เวลากว่า 27 ปี ปลุกปั้นสร้างแบรนด์เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ล่าสุดมีสาขามากกว่า 650 แห่งทั่วประเทศ
ขณะที่คู่แข่ง “บู๊ทส์ (Boots)” ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2392 เป็นร้านขายยาสมุนไพรและหันมาเน้นการทำวิจัยผลิตยาต่างๆ โดยมีชื่อดั้งเดิมว่า Boots the Chemists Ltd. และมีการขยายธุรกิจในหมวดอื่นๆ ด้วย เช่น ผลิตชิ้นส่วนจักรยานและรถยนต์ ธุรกิจตกแต่งบ้าน ทันตกรรม การผ่าตัดดวงตาด้วยเลเซอร์
กิจการบู๊ทส์ผ่านร้อนผ่านหนาวจนมาอยู่ในเครือวอลกรีนส์ บู๊ทส์ อลิอันซ์ บริษัทสัญชาติอเมริกัน จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ มีชื่อย่อว่า WBA ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของบริษัท วอลกรีน โค (Walgreen Co.) กับอลิอันซ์ บู๊ทส์ (Alliance Boots) เมื่อปี 2557 และเข้ามาบุกประเทศไทยเมื่อปี 2540 ปักหมุดสาขาแรกที่อาคารไทยพาณิชย์ปาร์ค พลาซ่า ล่าสุดมีสาขามากกว่า 280 แห่ง
ด้าน“ซูรูฮะ” ซึ่งเครือสหพัฒน์ร่วมทุนและดึงเข้ามาเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเกตเวย์เอกมัยเมื่อปี 2555 ถือเป็นบริษัทค้าปลีกสินค้าสุขภาพครบวงจรอายุเก่าแก่กว่า 80 ปี จำหน่ายยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และของใช้ในครัวเรือน ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1929 ที่เมืองอาซาฮิคาวะบนเกาะฮอกไกโด จากร้านขายยาเล็กๆ แห่งเดียวในเมือง ขยายสาขาครบ 100 แห่ง ในปี ค.ศ. 1989 เปลี่ยนชื่อจาก “ซูรูฮะ ยะคุชิโด” เป็น “ซูรูฮะ” และย้ายสำนักงานใหญ่มาที่เมืองซัปโปโร
กระทั่งปี ค.ศ. 1995 บริษัทตกลงร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทอิออน ( Aeon) และนำหุ้นเข้าขายในตลาดหลักทรัพย์ โตเกียว โดยซูรูฮะโฮลดิงส์ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ติดท็อปทรีธุรกิจดรักสโตร์ของญี่ปุ่น มีจำนวนร้านค้า 1,000 สาขาทั่วประเทศ มีร้านดรักสโตร์ในเชนทั้งสิ้น 5 แบรนด์ ได้แก่ Sakura Drugs, Kusuri No Fukutaro, Tsuruha Drugs, Wellness และ Tsuruha Catalogs
ส่วนผู้เล่นรายล่าสุดอย่างบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ตัดสินใจปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเอง ได้แก่ ท็อปส์ แคร์ และท็อปส์ วีต้า โดยวางตำแหน่งทางการตลาดให้ท็อปส์ แคร์ เป็นร้านขายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีทั้งส่วนบริการตัวเอง จำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ยาใช้ภายนอก อาหารทางการแพทย์ อุุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชสำอาง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเคาน์เตอร์ให้บริการโดยเภสัชกร จำหน่ายยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ ยากลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ โดยปีที่ผ่านมาเปิดให้บริการแล้ว 12 สาขา
ขณะที่ท็อปส์วีต้าเน้นจำหน่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เปิดให้บริการแล้ว 29 สาขา
แน่นอนว่า สงครามดรักสโตร์ Beauty & Wellness เปิดเกมร้อนแรงทันทีตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยเฉพาะเจ้าตลาด “วัตสัน” เดินหน้ากลยุทธ์ O+O (Offline plus Online) ตามนโยบายของบริษัทแม่ในทุกตลาดทั่วโลก พร้อมกับเปิดตัว “โปรโมเชื่อม” เชื่อมต่อการชอปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์สำหรับสมาชิกวัตสันคลับ ที่มีมากกว่า 8 ล้านสมาชิกในประเทศไทย หากสมาชิกวัตสันคลับซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ จะได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 5% หลังซื้อสินค้าที่หน้าร้านวัตสันในเดือนเดียวกัน
เช่นเดียวกัน หากสมาชิกซื้อสินค้าที่หน้าร้านก่อนจะได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 5% เมื่อซื้อสินค้าทางออนไลน์ในเดือนเดียวกัน
พสิษฐ์ มั่นคงขันติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ วัตสัน ประเทศไทย กล่าวว่า พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เน้นออนไลน์มากขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนวิธีให้บริการลูกค้า ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งกลยุทธ์ O+O Platform จะเป็นกลยุทธ์หลักและมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้ในทุกสถานการณ์ เพราะจากข้อมูลช่วงปีที่ผ่านมา ช่องทางออนไลน์ไม่ได้ส่งผลให้ยอดขายหน้าร้านลดลง
ในทางกลับกัน ลูกค้าที่ชอปปิ้งทั้งทางออนไลน์และหน้าร้านมีการใช้จ่ายมากกว่าลูกค้าที่ซื้อหน้าร้านอย่างเดียวถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ ในปี 2566 วัตสันวางแผนเปิดสาขาเพิ่มอีก 50 แห่ง และตั้งคลังสินค้าแห่งใหม่ที่วังน้อย จังหวัดอยุธยา เพื่อกระจายสินค้าให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
ฝ่าย บู๊ทส์ ปีนี้เน้น 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. Fully Integrated Omnichannel เข้าถึงลูกค้าทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ 2. Customer Driven Store Format จัดทำร้านค้าแบบใหม่ เน้น 3 หมวดหลัก คือ สินค้าสุขภาพ สินค้าความงาม และผสมผสานระหว่างสินค้าสุขภาพและความงาม
3. Product Innovation นำเสนอนวัตกรรมสินค้าคุณภาพภายใต้แบรนด์บู๊ทส์ ในราคาจับต้องได้ และสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟนำเข้าจากอังกฤษ ได้แก่ No7, Soap & Glory,Ted Baker 4. Upgrade Boots mix & match อัดโปรโมชันตลอดทั้งปี
อรพรรณ พงศ์พานิช Head of Customer Experience บู๊ทส์ รีเทล ประเทศไทย กล่าวว่า บู๊ทส์อยู่กับคนไทยมากว่า 25 ปี เน้นโซลูชันบริการดูแลสุขภาพครบวงจร เช่น Talk to Pharmacist ผ่านบู๊ทส์แอปพลิเคชัน สามารถพูดคุยกับเภสัชกร สั่งซื้อยาและจัดส่งถึงบ้าน รวมทั้งบู๊ทส์ยังเป็นจุดบริการแจกฟรีชุดตรวจ ATK ในช่วงโควิดระบาด และยังร่วมมือกับโครงการสุขภาพต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยมาตลอด รวมถึงโปรโมชันต่างๆ ด้วย
สุดท้าย ค่ายซูรูฮะ ณ ขณะนี้เปิดให้บริการรวม 18 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 15 สาขาในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์และอาคารสำนักงาน เช่น แฟชั่นไอส์แลนด์ สยามสแควร์ อาคารญาดาศาลาแดง แมกซ์แวลู คู้บอน วันอุดมสุข BTSอุดมสุข สาทรซิตี้ทาวเวอร์ ซีคอนบางแค เกตเวย์เอกมัย เมกาบางนา Market Place Nawamin ลาซาล อเวนิว เกตเวย์ บางซื่อ วิคตอรี่คอร์นเนอร์ เซ็นจูรี เดอะมูฟวีพลาซ่า สุขุมวิท (อ่อนนุช) เทอร์มินอล 21 อโศก และรุกสาขาต่างจังหวัด 3 แห่ง ได้แก่ เทอร์มินอล 21 พัทยา เมญ่า เชียงใหม่ และเจพาร์ค ศรีราชา
แม้ดูเหมือนซูรูฮะยังไม่สามารถปูพรมตามเป้าหมาย 100 แห่ง เพราะเจอสงครามการแข่งขันรุนแรง วิกฤตเศรษฐกิจ และพยายามปรับจุดขายให้โดนใจกลุ่มลูกค้าเหนือเจ้าตลาด แต่หลังจากร้านโอเกนกิของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ปรับเปลี่ยนแบรนด์เป็นร้านขายยาเพรียวในกลุ่มบิ๊กซี ทำให้ซูรูฮะกลายเป็นเครือข่ายร้าน Beauty & Wellness สไตล์ญี่ปุ่นรายใหญ่เพียงแห่งเดียวในตลาด สามารถเน้นภาพลักษณ์ได้ชัดเจน มีกลุ่มลูกค้าประจำเหนียวแน่นและมีแนวโน้มขยายฐานได้อย่างต่อเนื่องด้วย.