แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยมีการขยายตัวอย่างมากในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือหากย้อนลึกลงไปถึงปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติจำนวน 138 แห่ง กระทั่งปี พ.ศ. 2567 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 249 แห่ง มูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท แม้ว่าพื้นที่ชั้นในอย่างกรุงเทพฯ เริ่มมีพื้นที่จำกัด จึงมีการขยายตัวไปสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้น
แม้ว่าภาพรวมของจำนวนนักเรียนมีภาวะหดตัวลงตามแนวโน้มสถิติการเกิดที่ลดลง แต่ความนิยมในโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักน่าจะมาจากการลงทุนด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองมองว่าคุ้มค่า
เหตุผลการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองน่าจะเป็นสิ่งที่ LEARN Corporation (เลิร์น คอร์ปอเรชั่น) เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะกลุ่มผู้บริหารคร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจการศึกษามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังอย่าง OnDemand
และนี่เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่เลิร์น คอร์ปอเรชั่น ขยายธุรกิจไปสู่การเปิดตัวโรงเรียน Crest School และ Mastery School ภายใต้คอนเซ็ปต์ Modern School ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางแหล่งชอปปิ้งย่านสยาม บนอาคาร MBK Tower
“เราโตมาจากโรงเรียนกวดวิชา ออนดีมานด์ อยากโฟกัสเรื่องการศึกษา จึงหันมามองโมเดิร์นสคูล ตามรอย ประกอบส่วนจาก OnDemand โรงเรียนกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย และ Ignite, Edu smith คอนซัล สำหรับคนที่อยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ มาสู่ Learn สาธิตพัฒนา ทำให้แต่ละสิ่งที่เราชำนาญด้านการนำนักเรียนเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัย เรามั่นใจว่าการที่เรามาทำงานที่ยากขึ้นอย่าง Modern School น่าจะเป็นไปได้” สุธี อัสววิมล หัวหน้ากรรมการที่ปรึกษาหลักสูตร ศูนย์การเรียนรู้เครสท์สคูล
ก่อนจะขยายความว่า Crest School เป็นโรงเรียนมัธยมปลายหลักสูตรนานาชาติจากออสเตรเลีย โดยรัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้วางระบบ เหมาะกับเด็กที่ต้องการศึกษาต่อต่างประเทศ หรือเรียนภาคอินเตอร์ในไทย โดยเด็กที่จบจากที่นี่จะได้วุฒิการศึกษา 2 ใบ คือ จากประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย ขณะที่ Mastery School หลักสูตรการศึกษาไทย
“เลิร์น ช่วยสร้างระบบการศึกษาช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด นี่เป็น Learn Ecosystem เสริมทักษะการเรียนรู้ให้กับเด็กไทย เรากำลังสร้างของขวัญให้กับคนไทย ประเทศไทย ประเด็นหลัก 3 ด้านที่เลิร์นมีให้คือ 1. ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ เพิ่มเติมจากโรงเรียน ให้ได้วิชาการ ประสบการณ์เรียนที่ดีและเหมาะสม สามารถสอบแข่งขันในระดับอุดมศึกษาระดับทอปของไทยและต่างประเทศได้ 2. การเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการมีทักษะยืนระยะจนกระทั่งเกษียณ แต่ต้องต่อเติมทักษะในอนาคตข้างหน้าด้วย เราจึงมี Skooldio Degree
“และ 3. ระบบนิเวศของเลิร์นที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ด้านทรัพยากรบุคคล เราเริ่มจากทรัพยากรประมาณ 1 พันคน ที่ต่อยอด Ecosystem นี้ และเรามีผู้บริหารระดับสมองของประเทศ” โทนี่ คันธาภัสสะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อธิบาย
แต้มต่อของการอยู่ในแวดวงการศึกษามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเป็นสถาบันกวดวิชาอย่าง OnDemand จนมาถึง เลิร์น คอร์ปอเรชั่น
นอกจากนี้ ผู้บริหารของเลิร์นยังมองว่า การทำให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง และเข้ามหาวิทยาลัยระดับทอปของโลกเป็นเป้าหมายสำคัญไม่ต่างกัน
ณัชชา พลาพิภัทร หนึ่งในผู้บริหารของโรงเรียน Crest School และMastery School มองว่า “คีย์หลักของเราคือ เราใช้ความสามารถ ประสบการณ์ที่ได้จากเครือ เลิร์น คอร์ป เป็นพื้นฐาน และเราเข้าใจความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง ซึ่งเรามองว่า นี่เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะทำให้เด็กสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเอง และเข้ามหาวิทยาลัยที่หวังได้ แน่นอนว่าเรามองไปถึงมหาวิทยาลัยระดับทอปของโลกอย่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และไอวี่ลีก”
ณัชชาเสริมว่า Crest Schoolเปิดสอนระดับชั้น ม.4 – ม.6 โดยเน้นวิชาการและทักษะอาชีพให้นักเรียนผ่าน 4 สายการเรียนเฉพาะทางได้แก่ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ธุรกิจและสังคมศาสตร์
ขณะที่ Mastery School ที่ใช้หลักสูตรเดียวกับกระทรวงศึกษาไทย แต่จะเป็นการเรียนแบบใหม่ที่ไม่ใช่ระบบการเรียนแบบท่องจำ แต่เด็กจะต้องนำความรู้ไปใช้ได้จริง
“เราตั้งใจที่จะทำให้เด็กมีความสามารถทางวิชาการ ใช้งานได้จริง มีความรู้ด้านอาชีพที่สนใจ ต้องต่อยอดได้ในระดับประเทศ ระดับโลก นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข ผ่านองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้านคือ เวลา การเรียน การสอน และชีวิต ซึ่งองค์ประกอบสุดท้ายเราให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ได้ผ่านหลักสูตรชีวิตที่สำคัญในชีวิต เช่น การวางแผนทางการเงิน การให้ การดีลกับผู้คน และการจัดการกับความเจ็บปวด”
ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่ผุดอยู่ทุกมุมเมือง น่าจะทำให้การเริ่มต้นของสองโรงเรียนในเครือเลิร์น คอร์ปอเรชั่น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โทนี่ คันธาภัสระ มองเรื่องการแข่งขันในธุรกิจนี้ว่า
“เราต้องปรับตัวด้วยข้อได้เปรียบด้านราคาของค่าเรียนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 350,000 บาทต่อปีการศึกษา หากเทียบกับโรงเรียนอื่นด้วยคุณภาพในระดับใกล้เคียงกัน นี่จะเป็นตัวเลือกที่ดี และกลุ่มเป้าหมายของเราไม่ชัดเจน เราไม่ได้เจาะกลุ่มตลาดบน หรือตลาดกลาง แต่กลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือ ผู้ปกครองที่เข้าใจระบบการศึกษา มีหัวสมัยใหม่ที่เข้าใจว่าเด็กต้องการอะไร และยอมรับในสิ่งที่เด็กอยากเป็น”
ก่อนจะทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “เราไม่ได้มองว่านี่เป็นการแข่งขันและการหาเงิน เพราะหากเราจะทำสิ่งนั้น เราคงเล่นกับกลุ่มอินเตอร์ที่เป็นเทียร์บน แต่เราอยากสร้างโรงเรียนที่มีความเป็นโมเดิร์นที่เข้าถึงได้ สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของตลาด ผู้ปกครองที่มีความต้องการโรงเรียนแบบนี้กำลังเติบโต”.