วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > PTG ปล่อยเงินกู้ผ่านปั๊ม ปฏิบัติการมองข้ามช็อต

PTG ปล่อยเงินกู้ผ่านปั๊ม ปฏิบัติการมองข้ามช็อต

พิทักษ์ รัชกิจประการ บิ๊กบอส พีทีจี เอ็นเนอยี ออกมาให้ข้อมูลชนิดเขย่าวงการค้าปลีกน้ำมัน ระบุกำลังเจรจากับบริษัทไฟแนนซ์นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ รายหนึ่ง เพื่อเข้าร่วมทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ผ่านสาขาปั๊มน้ำมัน PT ทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่ง และคาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้ในครึ่งปีหลังนี้ โดยเตรียมงบลงทุนนับพันล้านบาท

ตามแผนบริษัทเตรียมรวบรวมข้อมูลลูกค้าเป้าหมายจากฐานข้อมูลสมาชิกบัตร PT Max Card ทั้ง Max Card, Max Card Plus, Max Me และ Max Enterprise Connect ซึ่งล่าสุดมียอดสมาชิกบัตรรวมกว่า 19 ล้านราย และตั้งเป้าปรับเพิ่มเป็น 30 ล้านรายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดย Max Card และ Max Card Plus ถือเป็นเครื่องมือวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อสร้างโปรแกรมเพิ่มยอดขายและเพิ่มความถี่ของการเข้ามาใช้บริการธุรกิจในเครือเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ลูกค้าผู้ใช้บริการหน้าสถานีบริการเท่านั้น กลุ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อยังรวมถึงบรรดาร้านอาหาร ร้านค้า และปั๊มน้ำมันที่ต้องการเงินทุนขยายสาขาหรือรีโนเวต สามารถยื่นกู้เงินได้เช่นกัน

นายพิทักษ์ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า กลุ่มไฟแนนซ์ ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัทจะค่อยๆ เห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยระยะแรกอาจเริ่มจากสินเชื่อเล็กๆ ก่อน แต่วางเป้าหมายภายใน 5 ปี จะเติมเต็มสินเชื่อครบทุกประเภท เพราะมีทั้งฐานข้อมูลจากบัตรสมาชิกและเครือข่ายสาขาสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ไม่ต่างจากเครือข่ายสาขาแบงก์

ที่ผ่านมา พีทีจีได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย ออก “บัตรเครดิตนิติบุคคล (PT Fleet Card)” ให้ลูกค้ากลุ่มบริษัทใช้เติมน้ำมัน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ โดยกำหนดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนานสูงสุด 55 วัน ซึ่งมียอดลูกค้าสนใจและยื่นทำบัตร PT Fleet Card จำนวนมาก

ที่สำคัญ เมื่อธุรกิจไฟแนนซ์ PTG เต็มลูป สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้าเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าผ่านกลุ่มนอนออยล์ที่บริษัทวางแผนขยายแตกไลน์อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการเติมน้ำมัน

หากดูตัวเลข ณ สิ้นปี 2565 จำนวนสถานีบริการน้ำมัน PT อยู่ที่ 2,149 สถานี ขณะที่จำนวนสาขาของธุรกิจ Non-Oil อยู่ที่ 1,526 สาขา แบ่งเป็นร้านกาแฟพันธุ์ไทย 511 สาขา ธุรกิจ LPG แบ่งเป็น สถานีบริการ Auto LPG จำนวน 231 สถานีบริการ ร้านจำหน่ายก๊าซ LPG บรรจุถัง (Gas Shop) 253 สาขา ร้านสะดวกซื้อ Max Mart จำนวน 309 สาขา ร้านคอฟฟี่ เวิลด์ 26 สาขา ศูนย์บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์ Autobacs จำนวน 45 สาขา ศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมัน Maxnitron Lube Change จำนวน 52 สาขา จุดพักรถ Max Camp จำนวน 64 จุด และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging) อีก 35 จุดชาร์จ

ส่วนเป้าหมายปี 2566 เบื้องต้นขยายสถานีบริการน้ำมันและก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น 80-120 แห่ง ร้านกาแฟพันธุ์ไทยตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มขึ้น 1,000 สาขาในปีนี้ เพื่อให้ภายในสิ้นปี 2566 มีสาขารวม 1,500 สาขา และใน 5 ปี จะเพิ่มให้ได้ 5,000 สาขา นอกจากนั้น จับมือกับพาร์ตเนอร์หลากหลายมากขึ้น โดยที่ผ่านมาร่วมลงทุนกับแพลตฟอร์ม “อรินแคร์ (ARINCARE)” สตาร์ทอัปแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา ให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพและยา และร้านขายยา เน็กซ์ ฟาร์มา ที่มีสาขากว่า 18,000 แห่ง พัฒนาแอปพลิเคชัน “พาทัวร์” สร้างการรับรู้กับลูกค้าถึงบริการมากมาย พร้อมๆ กับเป็นอาวุธขยายฐานด้วย

แน่นอนว่า การเตรียมรุกเข้าสู่ธุรกิจเป็นการมองโอกาสใหม่ ตลาดใหม่ ต่อยอดจากฐานข้อมูลบัตรสมาชิก ซึ่งพบว่า กลุ่มลูกค้าหลักของพีทีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการระดับกลางและรายย่อย อุตสาหกรรมต่างๆ กลุ่มลูกค้าภูมิภาค กลุ่มเถ้าแก่ ต่างมีความต้องการสินเชื่ออีกจำนวนมาก เพราะมากกว่าครึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ ซึ่งพีทีพุ่งเป้าเจาะช่องว่างเหล่านั้นได้ ไม่ต่างกับกลุ่มนอนแบงก์ที่จับกลุ่มลูกค้ารายย่อยหรือกลุ่มสินเชื่อรถแลกเงิน หรือบ้านแลกเงิน

ขณะเดียวกัน ถ้าดูข้อมูลแบบสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำทุกไตรมาส เพื่อสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลงานด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) ครอบคลุมทั้งอุปทานของสินเชื่อ อุปสงค์ของสินเชื่อ และแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสข้างหน้า

ผลสำรวจรอบล่าสุดประจำไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 25 แห่ง รวมถึง Non-banks 24 แห่ง ส่งคำตอบแบบสำรวจครอบคลุมร้อยละ 98 ของสินเชื่อทั้งระบบ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2565 – 18 มกราคม 2566 พบว่า ภาพสะท้อนในไตรมาส 1 ปี 2566 ธุรกิจทุกขนาดและทุกสาขายังมีแนวโน้มต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินกิจการและผลิต สินค้าคงคลัง ส่วนความต้องการสินเชื่อของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อาจขยายตัวชะลอลงบ้าง เนื่องจากได้เร่งระดมทุนไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า แต่ยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อการควบรวมกิจการ (M&A)
ด้านการให้สินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และไตรมาส 1 ปี 2566 ยังมีความเข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ทุกสถาบันการเงินต่างระมัดระวังมากขึ้นจากคุณภาพสินเชื่อที่ยังไม่ปรับดีขึ้นนัก รวมถึงมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น สินเชื่อภาคเกษตร

กลุ่มภาคครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค

ผลสำรวจยังพบว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สถาบันการเงินต้องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงแนวโน้มการแข่งขันปล่อยสินเชื่อระหว่างสถาบันการเงินกับกลุ่ม non-banks ที่สูงขึ้น แต่อัตราอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อยังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากยังกังวลความเสี่ยงของผู้กู้

ดังนั้น หากพีทีจีเดินหน้าตามแผนการแตกไลน์ธุรกิจสินเชื่อและสามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้ นั่นย่อมหมายถึงการขยายฐานครั้งใหญ่ชนิดมองข้ามช็อตและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการสินเชื่ออย่างแท้จริงด้วย.