คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) เป็นกิจการร้านกาแฟของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการเมื่อปี 2545 โดยจุดเริ่มต้นมาจากแนวความคิดของ อภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งช่วงนั้นปั๊มน้ำมันของ ปตท. ยังไม่มีธุรกิจเสริม มีเพียงร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น บางสาขา
อภิสิทธิ์กล่าวไว้ว่า “คาเฟ่ อเมซอน ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์และเป็นเสมือนห้องรับแขกของสถานีบริการน้ำมัน ปตท.”
ช่วงแรกของการเปิดร้าน คาเฟ่ อเมซอน ขายได้เพียง 20 แก้วต่อวัน และใช้เวลาปลุกปั้นแบรนด์ พัฒนาเมนูเครื่องดื่ม และปรับโฉมร้านสาขาอย่างต่อเนื่อง ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง กระทั่งเปิดร้านได้ 300 สาขา จึงหันมาเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน นอกปั๊มน้ำมัน
ล่าสุด คาเฟ่ อเมซอน มีสาขารวม 4,253 แห่ง และมีสาขาในอีก 10 ประเทศ โดย 7 ประเทศ ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เหลืออยู่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และโอมาน นับเป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับ 6 ของโลก
สำหรับสาขาแฟรนไชส์มีทั้งร้านที่เจ้าของปั๊มน้ำมันเป็นผู้ดำเนินการและบุคคลทั่วไปลงทุนเปิดสาขานอกปั๊มน้ำมัน โดยเปิดแฟรนไชส์ครั้งแรกเมื่อปี 2555 มี 2 โมเดลหลัก คือ Stand Alone พื้นที่ 100- 200 ตร.ม. ขึ้นไป(รวมสวนหย่อม) ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2.6-4.2 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง งานตกแต่ง งานระบบ 1.2-3 ล้านบาท ค่าออกแบบ 60,000 บาท อุปกรณ์ภายในร้าน ประมาณ 779,000 บาท หลักประกันสัญญาแฟรนไชส์ 100,000 บาท ค่าดำเนินการก่อนเปิดร้าน เช่น ค่า Set Up ร้าน ค่าฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารร้านเปิดใหม่ ค่าสำรวจพื้นที่ ไม่รวมค่าแฟรนไชส์ฟีอีก 150,000 บาท
โมเดลที่ 2 ร้านภายในอาคาร เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ พื้นที่ 40 ตร.ม. ขึ้นไป อยู่ในบริเวณที่มีผู้คนสัญจรไปมาไม่น้อยกว่า 3,000 คนต่อวัน เงินลงทุนรวม 2,349,000 – 3,709,000 บาท แบ่งเป็น 1,200,000-2,500,000 บาท ส่วนค่าออกแบบ อุปกรณ์ภายในร้าน หลักประกันสัญญาแฟรนไชส์ ค่าดำเนินการก่อนเปิดร้าน ค่าแฟรนไชส์ฟี เท่ากันกับสแตนด์อโลน
ทั้ง 2 โมเดล มีค่า Royalty Fee + ค่า Marketing Fee 3% + 3% ของยอดขายรายเดือน ค่าเช่าเครื่อง Point of Sale (POS) 24,000 บาท/ปี อายุสัญญา 6 ปี (Renovate ร้านทุก 3 ปี)
ด้านร้านกาแฟ “อินทนิล” ของค่ายบางจากคอร์ปอเรชันเริ่มต้นเส้นทางเมื่อปี 2549 ซึ่งหากย้อนต้นตอมาจาก ปตท. เช่นเดียวกัน เพราะสมัยนั้น ปตท. ถือหุ้นในบางจากและมีแนวคิดปรับปรุงปั๊มน้ำมันแนวค้าปลีกสมัยใหม่ จึงสร้างแบรนด์กาแฟแต่เน้นความเป็นไทยสไตล์บางจากในบรรยากาศบนดอยที่ปลูกกาแฟและอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ซึ่งสูงที่สุดในไทย
เวลานั้นทีมผู้บริหาร ปตท. สรุปใช้ชื่อว่า “กาแฟอินทนนท์” แต่การจดทะเบียนติดขัด ไม่สามารถใช้ชื่อซ้ำกับอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ จึงเปลี่ยน Inthanon เป็น Inthanin ซึ่งเป็นชื่อพรรณไม้ยืนต้นที่พบเห็นได้มากในประเทศไทย
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงวาระที่ร้านกาแฟ อินทนิล ครบ 1,000 สาขาเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ย้ำสิ่งสำคัญ คือ ความผูกพันต่อแบรนด์ ทั้งของลูกค้าและ Value Chain ในการร่วมกันสร้าง Circular Economy เพราะอินทนิลใช้กาแฟคุณภาพจากอาราบิก้า 100% สนับสนุนเกษตรกรปลูกออแกนิกอาราบิก้า มีกาแฟออแกนิกและ Home Coffee อย่างกาแฟดริป
ใช้ภาชนะที่ผลิตจากพืช 100% แก้ว Bioplastic ที่ย่อยสลายแบบ Compostable และใช้ BioCup ในทุกเมนู ทุกสาขา ทั้งแก้ว-ฝา-หลอด จนเป็นร้านกาแฟที่ใช้ Bioplastic มากที่สุด เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ต้นทุนแพงกว่า กำไรน้อยกว่า และไม่ใช่การลงทุนเพื่อ CSR แต่คือ DNA ของบางจาก ธุรกิจพลังงานสีเขียว
แน่นอนว่า อินทนิลเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ร้านกาแฟที่มีผู้คนอยากลงทุน โดยบริษัทคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 150,000 บาท ค่าดำเนินการ 50,000 บาท เงินค้ำประกัน 100,000 บาท ค่าบริการระบบ POS 162,000 บาท ค่าออกแบบและทำแบบก่อสร้าง เริ่มต้น 50,000 บาท เงินลงทุนค่าอุปกรณ์การขายและวัตถุดิบครั้งแรก 400,000 บาท ไม่รวมค่าก่อสร้าง ระยะสัญญา 6 ปี มี Royalty Fee 3% และ Marketing Fee 3% จากยอดขายรายเดือน (ก่อนหักค่าใช้จ่าย)
อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนขึ้นอยู่กับรูปแบบสาขา ซึ่งมี 3 โมเดล ได้แก่ ไซส์ S ขนาด 7-20 ตร.ม. เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ไซส์ M ขนาด 25-40 ตร.ม. เงินลงทุนเริ่มต้น 1.5 ล้านบาท และไซส์ L ขนาด 40 ตร.ม. ขึ้นไป เงินลงทุนเริ่มต้น 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ทั้งนั้น คาเฟ่อเมซอนและอินทนิลต่างมี อภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร เป็นผู้ตั้งชื่อแบรนด์และปักหมุดเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจจนกลายเป็นแฟรนไชส์ฮอตฮิตที่ทุกคนอยากลงทุน.