วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ปีที่ 51 ของมาม่า กับ “พันธ์ พะเนียงเวทย์”

ปีที่ 51 ของมาม่า กับ “พันธ์ พะเนียงเวทย์”

บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TF ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จากไต้หวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต กับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ซึ่งรับผิดชอบในด้านการตลาดและการจำหน่ายสินค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ “มาม่า” โดยมี “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญ

หลังการดำเนินธุรกิจในปีแรกผ่านไป หุ้นทั้งหมดถูกโอนไปยังผู้ถือหุ้นคนไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จนกระทั่ง ปี 2560 ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ได้ควบรวมกับบริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มาจากข้าวเป็นหลัก โดยภายหลังการควบรวมบริษัทยังคงใช้ชื่อเดิมคือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA มีบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 25.98 และกลุ่ม “พะเนียงเวทย์” ตามมาเป็นลำดับ 4 ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 14.47

เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในวาระครบรอบ 50 ปีของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ มาม่า “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยถึงความสำเร็จและแผนธุรกิจของมาม่า พร้อมกับการเปิดตัวทายาทรุ่น 2 ของ “พะเนียงเวทย์” กำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของมาม่าและบริษัทในเครือ อย่าง ดร.พจน์ พะเนียงเวทย์ ที่ปัจจุบันนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ, ดร.พจนี พะเนียงเวทย์ รองผู้อำนวยการ, พจนา พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัทและกรรมการธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยง, เพชร พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัทและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 บมจ. สหพัฒนพิบูล และที่ปรึกษา TFMAMA และพันธ์ พะเพียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ

“ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “พันธ์ พะเนียงเวทย์” บุตรชายคนเล็กของคุณพิพัฒ ที่ตามหลังพี่ๆ เข้ามาทำงานในบริษัทเป็นคนสุดท้ายของบ้าน ที่แม้จะเข้ามาเป็นคนสุดท้ายแต่ปีนี้ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 ที่เขาเข้ามาทำงานในอาณาจักรของมาม่า ซึ่งนานพอที่จะฉายภาพการเดินทางตลอด 50 ปีของมาม่าให้เราได้พอเห็นภาพ

“MAMA Station” ย่านเพชรเกษม 98 ร้านอาหารโมเดลต้นแบบของมาม่า ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานและกำลังถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ คือสถานที่ที่เขาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้

“ปี 2565 เป็นปีที่มาม่าครบรอบ 50 ปี คนน่าจะอยากเห็นภาพว่าหลังจาก 50 ปีแล้วยังไงต่อ คุณพิพัฒก็เลยบอกอย่าไปชูตัวเขาคนเดียวเลย ปีที่แล้วเขาก็อายุ 83 แล้ว จะให้คนอายุ 80 กว่ามาเป็นไอคอนของบริษัทไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ค่อยดี ครั้งนั้นก็เลยมีการแนะนำทีมบริหาร อาจจะไม่ถึงขั้นเปิดตัวทายาท เพราะมาม่าคือบริษัทมหาชน และบ้านเราอยู่ในฐานะคนทำงานมากกว่า”

พันธ์เท้าความว่า ในช่วงวัยเรียนเขาไม่มีความคิดที่จะเข้ามาทำงานในเครือของมาม่า เพราะเห็นว่าพี่ๆ เข้ามาทำกันหมดแล้วและทำมาดีมาก ซึ่งคงไม่มีอะไรให้เขาทำมากนัก แต่พอได้เข้ามาทำจริงๆ กลับไม่ใช่อย่างที่เขาเคยคิด

“ปีที่เริ่มเข้ามาทำงานในไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์คือปี 2542 ทำประสานงานสำนักงานผู้อำนวยการเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ คิดว่าทำแป๊บๆ เดี๋ยวก็คงไปเรียนต่อ แต่พอทำไปทำมามันมีอะไรที่เราต้องช่วยแบ่งเบาเยอะ ตอนที่เข้ามาคุณพ่อก็อายุ 60 แล้ว และตอนนั้นมาม่าถูกสร้างมาแล้วเกือบ 27 ปี ซึ่งรุ่นก่อนเขาทำไว้ดีมาก การรักษาสิ่งที่ถูกสร้างมาอย่างดีให้ดีต่อไปได้มันคืออีกหนึ่ง mission ที่สำคัญ”

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและได้ทดลองทำงานในสายงานอื่นๆ ระยะหนึ่ง เขากลับเข้ามาทำงานในไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์อีกครั้งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล เพื่อดูแลพนักงานของมาม่าที่มีอยู่ราวๆ 3-4 พันคน ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในการนำระบบ ERP มาปรับใช้ในองค์กรพอดี

และหลังจากเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลอยู่ราวๆ 4 ปี เขาได้รับมอบหมายจากคุณพิพัฒให้ไปทำงานบริษัทในเครืออีก 2-3 แห่ง ก่อนกลับมาที่ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์อีกครั้งในตำแหน่งผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการจนถึงปัจจุบัน

“ปี 2515 เป็นช่วงที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มเข้ามาในไทย สหพัฒน์โดยนายห้างเทียมท่านมีดำริว่า มันเป็นสินค้าที่น่าจะผลิตขาย แทนที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นั่นเลยกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของมาม่าในไทย ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ ยี่ห้อ ทั้งไวไว ยำยำ มาม่า ซันวา” พันธ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของมาม่า

เขาเปิดเผยต่อไปว่า แม้มาม่าจะมีมาตั้งแต่ปี 2515 แต่กว่าจะผลิตขายได้จริงๆ คือประมาณปี 2517-2518 เพราะช่วงแรกๆ คนยังไม่รู้จัก ยังเป็นของใหม่ในตลาดประเทศไทย ประกอบกับเทคโนโลยีในการผลิตปีแรกๆ ยังใหม่อยู่จึงต้องใช้เวลา โดยมาม่ารสชาติแรกที่ผลิตออกวางจำหน่ายคือ “มาม่ารสซุปไก่” ในราคา 2 บาท ซึ่งปัจจุบันรสซุปไก่ยังมีวางขายในต่างประเทศเกือบทุกประเทศ และเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในตลาดอเมริกาและยุโรป

จากซุปไก่สู่ต้มยำกุ้ง Turning Point ของการเป็นเบอร์ 1

หลังจากเปิดตัวด้วยรสซุปไก่ มาม่ามีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวที่ทำให้มาม่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด และก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือการเกิดขึ้นของ “มาม่ารสต้มยำกุ้ง”

มาม่าเปิดตัวรสต้มยำกุ้งน้ำใสครั้งแรกเมื่อปี 2523 และเป็นดังการสร้างปรากฏการณ์ให้กับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย เพราะนอกจากรสชาติที่แปลกใหม่ อร่อยถูกใจผู้บริโภคแล้ว ยังมาพร้อมกับแพ็กเกจจิ้งแบบซอง Metalized สีเงิน ซึ่งมาม่าเป็นรายแรกของโลกที่ใช้ซองประเภทนี้ นั่นทำให้มาม่ารสต้มยำกุ้งมีความโดดเด่นและแตกต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนั้น สร้างยอดขายได้อย่างก้าวกระโดด และทำให้มาม่าก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในที่สุด

ปัจจุบันมาม่ามีกำลังการผลิต 6 ล้านหน่วยต่อวัน ถือเป็นเบอร์ 1 ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 45%-50% ในขณะที่เบอร์ 2 และ 3 อย่างยำยำและไวไว ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ราวๆ 10%-20% ทั้ง 3 เจ้ารวมกันมีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 90% และยังคงมีมาม่าต้มยำกุ้งเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่ง

“ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้มาม่าประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ คงต้องบอกว่ามาจากจุดขายของมาม่าคือ ‘สะดวก อร่อย ประหยัด’ รวมแล้วมันคุ้มค่าในการบริโภค และหลังจากติดตลาดไปแล้ว เราก็ไม่หยุดนิ่ง ยังคงพัฒนาและรักษามาตรฐานเอาไว้ในระดับที่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค”

ก้าวต่อไปของมาม่าเน้นนวัตกรรมพร้อมรุกตลาดต่างประเทศ

สำหรับทิศทางในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อจากนี้มาม่าจะโฟกัสที่ตลาดต่างประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างยอดส่งออกให้มีรายได้เท่ากับยอดขายในประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมปรับกลยุทธ์จาก volume based สู่ food innovations เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น

“ตลาดต่างประเทศต้องโต และพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น เพราะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีข้อจำกัด การไปต่อหลังจากนี้ถ้าใช้การเพิ่มจำนวนซองต่อคนต่อปีคงเพิ่มได้อีกไม่มาก เพราะฉะนั้นต้องเพิ่มจำนวนเงินที่เขาจ่ายให้กับผลิตภัณฑ์ จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อแก้โจทย์ตรงนี้”

เขาเปิดเผยต่อว่ามาม่ามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งบะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม สินค้าสุขภาพ สินค้าผู้ป่วย สินค้า plant based เพียงแต่ต้องรอจังหวะตลาดที่เหมาะสมและภาพลักษณ์ของแบรนด์มาม่าที่จะค่อยๆ ปรับ ก่อนที่จะทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด

“สินค้าสุขภาพเราก็มี แต่ด้วยความเป็นแบรนด์มาม่า คนอาจจะไม่เชื่อว่ากินแล้วสุขภาพดี แต่กินอย่างไรให้มันกระเทือนสุขภาพได้น้อยลง เราต้องมีทางเลือกให้ผู้บริโภค ไม่มีไม่ได้”

สำหรับแผนการขยายตลาดต่างประเทศนั้น มาม่ามีแผนตั้งโรงงานผลิตเพิ่มในทวีปแอฟริกาเพราะเป็นตลาดที่กำลังเติบโต โดยเป็นโมเดลที่ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ไม่ได้เข้าไปลงทุนเองทั้งหมด แต่ใช้วิธีเทคโนโลยีทรานส์เฟอร์ นอกจากนั้น ยังวางแผนจะตั้งโรงงานหรือลงทุนในทุกทวีปทั่วโลกตามการเติบโตของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันมาม่ามีโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศรวม 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี โดยโรงงานที่ฮังการีถือเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าทางฝั่งยุโรป ในขณะที่กัมพูชาเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุด และครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 60%
“เราคิดว่าอีก 5 ปี ยอดขายต่างประเทศจะต้องเป็นครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด ตอนนี้อัตราส่วนรายได้อยู่ที่ 30:70 เป็นยอดขายต่างประเทศ 30 ยอดขายในประเทศ 70”

อยากเห็นมาม่าในปีที่ 51 เป็นแบบไหน?

ในฐานะหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของประเทศ สิ่งที่เราอยากรู้คือ เขามองภาพของมาม่าในปีที่ 51 ไว้อย่างไร

“สิ่งเก่าต้องรักษาให้ดีที่สุด และสิ่งใหม่ก็ทิ้งไม่ได้ อย่างแรกเลยคือ อยากให้สิ่งที่เป็นมาอยู่เดิมซึ่งมันดีมากๆ มันไม่หายไป ต้องรักษาฐานเดิม รักษาแกนหลักให้มันแน่นและดีขึ้น สินค้าหลักของเราปล่อยไม่ได้ อยู่ๆ จะไปเห่อกระโดดไปทำอะไรใหม่ๆ จนของเก่าไม่แน่นมันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นฐานเดิมต้องเอาให้นิ่ง อย่างมาม่าต้มยำกุ้ง หมูสับ มาม่าโอเค ต้องรักษาให้แน่น ส่วนที่จะขยายใหม่อาจจะเป็น 10%-20% ต้องค่อยๆ เดิน ต่อให้เราอยากเห็นอะไรใหม่ๆ แค่ไหนก็ต้องค่อยๆ ไป อย่าง MAMA Station เป็นสิ่งใหม่ที่เรากำลังทำอยู่ก็ต้องค่อยๆ ไปเช่นกัน เพราะสิ่งใหม่คือสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราเชี่ยวชาญและทำได้แน่ๆ แล้วเราต้องไม่ทิ้ง ต้องรักษาให้ดีเท่าเดิม หรือดีกว่าเดิม”

และถ้าถามต่อว่า ณ ตอนนี้ “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ในฐานะผู้บุกเบิกและสร้างความเป็นมาม่ามากว่า 50 ปี วางมือหรือยัง?

“ยังครับ เพียงแค่เปลี่ยนบทบาท แทนที่จะลงมาคุมเอง สั่งเองทุกอย่างเหมือนที่เคยทำ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นคนคุมหางเสือแทน คอยคุมจังหวะและทิศทางของบริษัทว่าควรไปทิศทางไหน” พันธ์ พะเนียงเวทย์ กล่าวทิ้งท้าย.