วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์” บิ๊กบอส iiG “First Mover” แห่งดิจิทัลเทคโนโลยี

“สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์” บิ๊กบอส iiG “First Mover” แห่งดิจิทัลเทคโนโลยี

“ผมอยู่ในวงการดิจิทัลเทคโนโลยี มาตั้งแต่ต้น เรียกได้ว่ายุคแรกเริ่มของคอมพิวเตอร์ในไทยเลยก็ว่าได้ จนมาถึงยุคที่ดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในทุกเรื่องของชีวิต ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยีในเมืองไทย ผมมักจะเป็นคนแรกที่อยู่ในการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เสมอ”

บทสนทนาเริ่มต้นระหว่าง “ผู้จัดการ 360 องศา” กับ “สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ iiG ผู้ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีแบบครบวงจร (Tech & Digital Consulting Firm) ที่สร้างรายได้เกือบพันล้านในปีที่ผ่านมา และกลายเป็นบริษัทที่มาแรงและเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) หลังจากเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดฯ ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563

iiG ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มาแรงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลแก่องค์กรธุรกิจที่เรียกได้ว่าครบวงจร และเป็นดั่งพี่เลี้ยงในเรื่อง Digital Transformation ให้กับองค์กรธุรกิจในไทย

โดยบริการหลักๆ ของ iiG มีทั้งการทำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร, CRM (Customer relationship management) ระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า, CEM (Customer Experience Management) การตลาดดิจิทัลและโฆษณา, ระบบการสื่อสารของธุรกิจบนคลาวด์, การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลเพื่อธุรกิจ (Data Analytics & Management) รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัลอินชัวรันส์

“สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์” ผู้ก่อตั้งและบิ๊กบอสแห่ง iiG ที่แม้อายุจะเข้าสู่เลขหกปลายๆ แต่ยังคงกระฉับกระเฉงและเต็มเปี่ยมไปด้วยไฟในการทำงานที่มาพร้อมกับความเก๋าแห่งวัย ช่วยฉายฉากทัศน์ความเป็นไปของแวดวงดิจิทัลเทคโนโลยีในไทยในช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างในปัจจุบัน รวมถึงการเดินทางในเส้นทางธุรกิจของเขาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ให้กับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า

“ผมหลงใหลในวิทยาการคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กๆ ถ้าย้อนกลับไปในสมัยนั้นราวๆ พ.ศ. 2518 ผมเพิ่งจบมัธยม คอมพิวเตอร์มันเพิ่งเข้ามาในไทย และเป็นวิทยาการสมัยใหม่ที่เราเพิ่งรู้จัก ผมสนใจมากว่ามันคืออะไร สร้างได้อย่างไร พอจบมัธยมจากโรงเรียนวัดบวรฯ ผมสมัครสอบเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกสถิติ เลือกเป็นอันดับ 1 เลย เพราะอยากเรียนคอมพิวเตอร์ และตอนนั้นในประเทศไทยมีสอนที่เดียวคือที่นี่ ผมเลือกคณะบัญชี แต่ไม่เคยลงเรียนวิชาบัญชีเลยสักตัวเดียว”

คุณสมชายเล่าต่อไปว่า วิชาเอกที่เขาเลือกเรียนคือการประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDP ณ ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าไอทีหรือ Computer Science ถือเป็นยุคแรกเริ่มของคอมพิวเตอร์ เวลาเขียนโปรแกรมต้องใช้เครื่อง Punched Card (บัตรเจาะรูใช้สำหรับควบคุมการปฏิบัติงานของคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ) เขียนหนึ่งโปรแกรมต้องใช้กระดาษเป็นลังๆ

ถึงแม้จะชื่นชอบในคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยความที่เติบโตมาในย่านราชดำเนิน บิดาเปิดกิจการไนต์คลับแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในชื่อ “อเล็กซานดร้า” และใช้ชีวิตอยู่ในแถบนั้น ทำให้เขาได้เห็นและสัมผัสความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เนืองๆ นั่นทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองเริ่มฝังอยู่ในตัวของเขา

“ตอนเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยได้เรียน ไปทำกิจกรรมทางการเมืองเสียมากกว่า เรียกร้องความเป็นธรรม อยากเห็นความเท่าเทียมในสังคม ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ อยากทำเพื่อสังคม ผมจบมหาวิทยาลัยมาด้วยเกรดเฉลี่ย 2.0 เองนะคุณ แน่นอนบริษัทเอกชนเห็นเกรดอย่างนี้ก็ไม่มีใครรับ”

หลังจากจบจากมหาวิทยาลัย คุณสมชายเริ่มงานที่แรกที่มูลนิธิโกมลคีมทอง ในฝ่ายจัดหน้าหนังสือพิมพ์ “ชาวบ้าน” ให้ข้อมูลข่าวสารผู้ยากไร้ในชนบท แต่เป็นการทำงานที่เขาใช้คำว่า “กินอุดมการณ์” เพราะไม่มีเงินเดือน ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นล้วนเข้าทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ๆ แทบทั้งสิ้น

“ผมทำที่มูลนิธิเกือบปี จนรู้สึกว่าต้องทำงานเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว เพราะพ่อแม่อุตส่าห์ส่งมาเรียน ตอนนั้นเราเอาอุดมการณ์เก็บใส่ลิ้นชักไปก่อน แล้วออกมาทำมาหากิน แต่ก็ยังไม่ยอมไปทำงานภาคเอกชนนะ เลือกที่จะไปทำงานภาครัฐก่อน”

ที่แรกที่คุณสมชายนำวิชาความรู้ที่เรียนมาไปใช้ทำงานกินเงินเดือนคือกระทรวงสาธารณสุข โดยทำฝ่ายสถิติชีพ เก็บข้อมูลคนเจ็บ คนป่วย เพื่อมาประมวลผล ในสมัยนั้นกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง ต้องส่งไปประมวลผลที่สำนักงานสถิติ ซึ่งคุณสมชายรับหน้าที่นี้

หลังจากทำงานที่กระทรวงฯ ได้สักระยะหนึ่ง ปี 2525 เขาตัดสินใจไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาสถิติประยุกต์ (คอมพิวเตอร์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และจบมาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 กระทั่งคณบดีต้องมาเชิญให้ไปเป็นอาจารย์ แต่เขาปฏิเสธและเลือกที่จะไปทำงานในภาคเอกชน เพราะมีบริษัทเคมียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “ดาว เคมิคอล” (Dow Chemical) ติดต่อขอซื้อตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

“เป็นครั้งแรกที่ผมเดินเข้าไปทำงานภาคเอกชน ตำแหน่งนักวิเคราะห์ระบบ ออกแบบระบบงานคอมพิวเตอร์ในบริษัทดาว เคมิคอล ทำอยู่ 2-3 ปี ก็ย้ายไปทำงานที่โรงกลั่นของบริษัทไทยออยล์ที่ศรีราชาในตำแหน่งเดิม”

เขาเล่าต่อไปว่า ด้วยความที่ไทยออยล์เป็นองค์กรใหญ่ คนเยอะ โอกาสในการก้าวหน้าช้า มองไม่เห็นฝั่งว่าจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร จึงตัดสินใจกลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานในเมืองหลวงอีกครั้ง

จุดเปลี่ยนสำคัญ ปลุกวิญญาณความเป็น “ผู้ประกอบการ”

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมาถึงเมื่อเขายื่นใบสมัครในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานคอมพิวเตอร์ (EDP Manager) แผนกยาของบริษัทสัญชาติสวิสอย่าง F.E. Zuellig (Bangkok) โดยตอนแรกผู้สัมภาษณ์ชาวเยอรมันปฏิเสธที่จะรับเขาเข้าทำงานด้วยเหตุผลที่ว่าเขา Overqualified และเป็นคนทะเยอทะยาน

“จากการสัมภาษณ์ไม่กี่นาที เขาบอกว่าผมเป็นคนทะเยอทะยาน ถ้ามาเป็นผู้จัดการก็อยู่ได้อย่างเก่งไม่เกิน 3 ปี แล้วก็ไป เขาเลยส่งไปหานายใหญ่เจ้าของบริษัทที่เป็นคนสวิส พอไปคุยกับนายใหญ่เขาเสนอตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายให้ทำแทน เพราะตอนนั้น Zuellig กำลังเจรจาเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ของ IBM ในไทย ซึ่งมันเป็นการเปลี่ยนแนวของผมอย่างสิ้นเชิง ตอนแรกเราไม่มั่นใจว่าเราเนี่ยนะจะไปขายของได้ แต่หลังจากกลับไปคิดก็ตอบตกลง”

ในระยะแรกคุณสมชายเป็นตัวแทนขายเครื่องคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มเพียงอย่างเดียว ขายฮาร์ดแวร์ไปได้สักพักเริ่มไม่สนุก เขาจึงนำเข้าซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมาขาย ซึ่งนั่นถือเป็นยุคเริ่มต้นของระบบ ERP ในประเทศไทยเลยทีเดียว

เขาเล่าต่อไปว่าสมัยก่อนคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ถ้าอยากมีระบบงานที่ใช้กับเครื่องต้องเขียนเอง ไม่มีสำเร็จรูป เขาเป็นคนแรกๆ ที่นำซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอันมาก

โดยสมัยที่ขายเครื่องไอบีเอ็มนั้นยังไม่เกิดคำว่า Open System ทุกอย่างเป็นระบบปิดหมด ไอบีเอ็มที่ขายเป็นเครื่อง system/36 as400 เป็นเครื่องระบบปิดของไอบีเอ็มเอง พวกซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่เอามาใช้ก็ต้องใช้บนเครื่องของไอบีเอ็มเท่านั้น ใช้กับเครื่องยี่ห้ออื่นไม่ได้

โลกขยับเข้าสู่ Open System กับหนทางสร้างองค์กรในฝัน

“พอขายไปสักพัก เริ่มเกิด Open System ทั้งโลกเริ่มขยับ นั่นหมายความว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างยี่ห้อสามารถพูดคุยกันได้หมด ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสามารถรันบนเครื่องคอมพิวเตอร์อะไรก็ได้ ผมบอกเลยว่า ‘นี่มันคืออนาคต’ เราจะไปอยู่กับระบบปิดไอบีเอ็มทำไม โลกมันเปิดแล้ว เริ่มเห็นช่องทาง ตอนนี้รู้ตัวเองแล้วว่ามีวิญญาณความเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ฝังอยู่ข้างใน”

ปี 2534 คุณสมชายในวัย 35 ปี ออกมาตั้งบริษัทเป็นของตนเองในชื่อ บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (Information & Intelligence Group: iiG) ที่ยังคงเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องไอบีเอ็มอยู่ แต่มีการนำซอฟต์แวร์ตัวใหม่ ๆ จากอเมริกาเข้ามาบุกตลาด และเป็นคนแรกที่นำระบบ ERP บนระบบเปิดสามารถใช้ได้กับคอมพิวเตอร์ยี่ห้อใดก็ได้มาบุกตลาดในไทย โดยซอฟต์แวร์ที่ iiG นำเข้ามาขายเป็นของบริษัทอเมริกันชื่อ QAD Inc. ที่สามารถสร้างผลกำไรต่อเนื่องมาตลอด 6 ปี

ปี 2540 บริษัท QAD เข้าตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ที่อเมริกา ซึ่งเป็นปีที่ไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง แน่นอนว่า iiG ได้รับผลกระทบเต็มๆ ประจวบเหมาะกับ QAD ได้เงินทุนก้อนโตจากการเสนอขายหุ้น จึงเข้ามาเสนอซื้อกิจการของไอแอนด์ไอ แต่สมชายเสนอให้ตั้งบริษัทร่วมทุน เพราะเขาไม่อยากกลับไปอยู่ในฐานะลูกจ้างใครอีก

ปี 2541 iiG บรรลุข้อตกลงกับทาง QAD จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในสัดส่วนที่สมชายถือ 25% และ QAD ถืออยู่ 75% กระทั่งผ่านไป 10 ปี บริษัทร่วมทุนเริ่มเกิดความไม่ลงรอย ทั้งจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการบริหารงาน

“แรกๆ เขาก็ดี หลังๆ เริ่มส่งฝรั่งมาคุม เรารู้สึกสูญเสียอำนาจการสั่งการ ถ้าขำๆ ก็เหมือนไม่สามารถทำอะไรอย่างที่เถ้าแก่เคยทำได้ ตอนนั้นความเป็นผู้ประกอบการในสายเลือดเรามันเต็มเปี่ยมมาก เลยยุติบทบาทของบริษัทร่วมทุนลงในปี 2551”

ซึ่งก่อนที่จะร่วมทุนกับ QAD นั้น ตัวบริษัทไอแอนด์ไอหลักทำ ERP ของ Oracle อยู่ก่อน พอร่วมทุนจึงไม่สามารถขาย ERP 2 ตัวพร้อมกันได้ เขาจึงตัดสินใจแยกส่วนที่ทำ Oracle มาตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไอซีอี คอนซัลติ้ง จำกัด (iCE) เป็นบริษัทลูกที่ไอแอนด์ไอถือหุ้น 100% มีทีมผู้บริหารต่างหากควบคู่กันไปด้วย

“Cloud Technology” ช่วยจุดไฟในการทำงานอีกครั้ง

หลังจากแยกทางกับ QAD คุณสมชายเว้นวรรคจากการทำงานไปช่วงหนึ่ง รับบทบาทเป็นเพียงที่ปรึกษาให้กับ iCE เท่านั้น จนกระทั่งเขาเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกเทคโนโลยี นั่นคือการเกิดขึ้นของ “Cloud Computing” เมื่อ 11-12 ปีที่แล้ว

“ตอนแรกที่บริษัทร่วมทุนจบผมก็ไม่ได้ทำอะไร ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ iCE เฉยๆ จนสักพักเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเทคโนโลยี จาก Open System มา Client Server มาถึงอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งเกิด Cloud Computing และผมบอกเลยว่านี่มันเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก”

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมันคือวงจรของเทคโนโลยี โดยเขาให้จับตาดูที่อเมริกา อะไรที่เกิดขึ้นในอเมริกา ปีถัดมามันจะลามมาที่ยุโรปทันที และอีก 3-4 ปี ค่อยลามมาที่เอเชียแปซิฟิก เรียกว่าเป็น “Technology Adoption Cycle”

ประจวบเหมาะกับ Salesforce Inc. บริษัทสัญชาติอเมริกัน และเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก ในการทำแพลตฟอร์มการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) บนระบบคลาวด์ ติดต่อเข้ามาเพื่อให้ iiG ช่วย Salesforce บุกตลาดในประเทศไทยพอดี นั่นถือเป็นโอกาสทองและทำให้คุณสมชายในวัย 55 ไม่รีรอที่จะกลับมานั่งแท่นบริหารงานอีกครั้ง ในฐานะตัวแทนจำหน่าย Cloud Computing ให้กับ Salesforce เป็นบริษัทแรกในไทย

แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น หรือราวๆ ปี 2555 เทคโนโลยีคลาวด์ยังไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยอมรับเท่าไรนัก เพราะข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก นั่นจึงทำให้ในช่วงแรกของการทำตลาดค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลาในการให้ข้อมูลกับตลาดจนเป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่คลาวด์มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิต โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

“สิ่งที่ผมมองว่าคลาวด์จะมาเปลี่ยนโลก ผมมองไม่ผิด แต่ต้องยอมรับว่า 3 ปีแรกที่เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับ Salesforce นั้น ทำการตลาดยากมาก คนไม่ยอมรับเพราะกลัวข้อมูลรั่วไหล กลัวความไม่ปลอดภัย เราต้องอดทน ต้องทำความเข้าใจและให้ข้อมูลกับตลาดว่าเขามีระบบรักษาความปลอดภัย จนกระทั่งมีธนาคารใหญ่มาเป็นลูกค้า ถือเป็น Early Adopter เพราะเขาเห็นว่ามันมีประโยชน์จริงๆ หลังจากนั้นตลาดก็เปิดรับมากขึ้น”

เมื่อตลาดเปิดรับเทคโนโลยีคลาวด์ จากลูกค้ารายแรกที่เป็นธนาคาร คุณสมชายขยายกลุ่มลูกค้าไปยังฝั่งธุรกิจประกันชนิดที่เรียกว่า “ไล่เก็บเกือบหมด” หลังจากนั้นจึงเริ่มมีลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ติดต่อเข้ามา ทั้งอสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล การสื่อสาร โดยเขาจับกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่เป็นหลัก

“เราเป็นตัวแทน Salesforce มา 12 ปี แต่ 2-3 ปีแรกขายไม่ได้เลย เป็นการให้ข้อมูลตลาด มาขายจริงๆ คือ 8-9 ปีหลัง ถือเป็น First Mover ก็เป็นปกติครับ ผู้บุกเบิกมักจะเหนื่อยกว่าเสมอ แต่พอตลาดยอมรับแล้ว คนที่มาทีหลังก็สบายหน่อย”

ในขณะที่ iiG ทำเรื่อง CRM ทำการตลาดและเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดของ Salesforce ในไทย บริษัทลูกอย่าง iCE ทำ ERP ของ Oracle แต่ทำไปได้สักพัก เขาเห็นว่าโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มดิสรัปต์หลายธุรกิจ พฤติกรรมของคนเปลี่ยน และโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นทำให้ในปี 2562 คุณสมชายตัดสินใจตั้งบริษัทลูกขึ้นอีกแห่งหนึ่งในชื่อ บริษัท ไอแอนด์ไอ เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (iiXP) เพื่อรองรับดิจิทัลดิสรัปชันโดยเฉพาะ และเพื่อสร้างการบริการให้ครบวงจร โดยไอแอนด์ไอ กรุ๊ป เข้าไปถือหุ้น 100% เช่นเดิม

“ผมตั้ง iiXP ก่อนเกิดโควิด จากการที่เราเห็นดิสรัปชันมันเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างสื่อนี่โดนก่อนเพื่อนเลย หลายๆ ธุรกิจจะอยู่ไม่รอดถ้าไม่ปรับตัว และทุกธุรกิจไม่มีใครหนีพ้นกระแสนี้ เราเลยตั้งบริษัท iiXP ขึ้น เพื่อช่วยลูกค้าในการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล ให้เขาสามารถแข่งขันและเติบโตได้ในเศรษฐกิจดิจิทัล”

หลังจากนั้นไม่นาน ปี 2563 สมชายนำ iiG ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) และเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีรายแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เขาเล่าต่อไปว่าตอนเข้าตลาดฯ ใหม่ๆ ทั้งนักลงทุน นักวิเคราะห์ แม้กระทั่ง ก.ล.ต. เองยังไม่เข้าใจว่าธุรกิจของ iiG คืออะไร ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ จนกระทั่งเกิดเป็นหมวดหมู่ใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในชื่อ “Tech Consult” หลังจากนั้นถัดมาอีกเพียง 1 ปี มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจคล้ายกับไอแอนด์ไอ กรุ๊ป อีก 2-3 บริษัท เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกัน และกำลังร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

นับจากนั้น iiG มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่การขยายธุรกิจและตัวเลขรายได้ ปี 2565 ที่ผ่านมา iiG กวาดรายได้ไปถึง 950 ล้านบาท ส่วนปี 2566 สมชายตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,400-1,500 ล้านบาท และ 2,000 ล้านบาท ในปี 2567

iiG มีพนักงานในเครือรวมทั้งสิ้นกว่า 700 คน ให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจร และมีลูกค้าเป็นบริษัทชั้นนำมากมาย อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทีทีบี เมืองไทยประกันชีวิต ทิพยประกันภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น นอกจากนี้ เขายังมีแผนขยายธุรกิจไปยังประเทศกลุ่ม CLMV โดยมีเวียดนามเป็นหมุดหมายแรก แต่นอกจากเป้าหมายในแง่การสร้างรายได้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คุณสมชายมุ่งมั่นในการสร้างคือ “ทรัพยากรมนุษย์”

“ถ้าไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ Digital Economy เรื่องทรัพยากรมนุษย์คือโจทย์ใหญ่ เรายังไม่มีบุคลากรที่เพียงพอในการที่จะทรานส์ฟอร์มทั้งประเทศ ถ้ารอภาครัฐอาจจะไม่ทัน ในฐานะภาคเอกชน ถ้าอะไรเราทำได้เราทำ ทุกวันนี้ผมยังไปสอนตามมหาวิทยาลัย และสร้าง Development Center เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถขึ้นมารองรับ”

ซึ่ง Development Center เป็นศูนย์พัฒนา Software Development และ Human Development ของ iiG โดยเฉพาะ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ หาดใหญ่ และมีแผนจะขยายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเติมในอนาคต

ทุกวันนี้บิ๊กบอส iiG ยังคงสนุกกับการทำงาน และพร้อมจะนำประสบการณ์ ความรู้ และความเก๋าที่มีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในแบบฉบับที่เขาถนัด และถ้าถามว่าอะไรคือปัจจัยในความสำเร็จที่ผ่านมา เขาตอบเพียงว่า

“ตั้งเป้าหมายแล้วไปให้ถึง ไปถึงแล้วก็ตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นไปอีก”.