วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เทรนด์การลงทุนปี 2566 กับโอกาสรับไชน่ารีโอเพ่น

เทรนด์การลงทุนปี 2566 กับโอกาสรับไชน่ารีโอเพ่น

แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจและการลงทุนของปี 2565 อาจดูไม่สดใสนัก เพราะต้องเผชิญกับความผันผวนมาตลอดทั้งปี ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สภาวะเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงความผันผวนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ล้วนสร้างผลกระทบต่อบรรยากาศในการลงทุน

ซึ่งความผันผวนดังกล่าวจะต่อเนื่องไปถึงปี 2566 แต่นักลงทุนต่างคาดการณ์ว่าภายใต้ความผันผวนที่จะลากยาวไปถึงปีหน้า ยังคงมีโอกาสทางการลงทุนที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ในช่วงเวลานี้ของปี บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนต่างออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนของปีที่กำลังจะมาถึง

“ประกิต สิริวัฒนเกตุ” หรือ อาจารย์ปิง นักลงทุนมืออาชีพและวิทยากรด้านการลงทุนของไทย เปิดเผยถึงความท้าทายและโอกาสของการลงทุนในปี 2566 ว่า “ความท้าทายของเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2566 คือสภาพคล่องทางเศรษฐกิจจะหายไปมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แต่โอกาสในการลงทุนยังมีอยู่แต่ก็จะยากกว่าสองปีที่ผ่านอย่างแน่นอน”

โดยประกิตกล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพคล่องทางเศรษฐกิจในปี 2566 ที่จะลดลงนั้น สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1. ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนั่นส่งผลต่อกิจกรรมทางการเงินต่างๆ อย่างการกู้ยืม การขอสินเชื่อจะยากมากขึ้น

2. บรรดาธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะดูดเงินกลับพร้อมกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากที่เคยปล่อยออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เพิ่งดึงเงินกลับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพียงเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียวดึงเงินกลับไปถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์ และน่าจะเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าปีหน้าทั้งปีธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดึงเงินกลับไปราวๆ 1.2-1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และไม่ใช่แค่ธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ธนาคารกลางทุกประเทศ ทั้งธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และทุกธนาคารกลางจะดึงเงินกลับ ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องโดยรวมของทั้งโลกลดลง

โดยเทรนด์การลงทุนภายใต้สภาพคล่องที่ลดลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นั้น จะเน้นเรื่อง “Asset Allocations” หรือการจัดสรรสินทรัพย์ที่เน้นการกระจายการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอไปในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือเงินสด เพื่อเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงเวลา ซึ่งหลายตลาดในโซนเอเชียจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายที่นักลงทุนไทยควรระวังคือความไม่รอบรู้ของตัวนักลงทุนเองโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ เขายังคาดการณ์ว่าในครึ่งปีแรกตลาดหุ้นไทยและการลงทุนจะปรับตัวดีขึ้นส่วนครึ่งปีหลังจะปรับตัวลดลง สวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ครึ่งปีแรกจะอยู่ในช่วงขาลง และดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยบวกที่ทำให้หุ้นไทยในครึ่งปีแรกมีทิศทางที่ดีคือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 และการเปิดประเทศของจีน (China Reopen)

ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 จะเป็นตัวกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนและการเก็งกำไรในตลาดหุ้น เพราะนักลงทุนคาดหวังว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นหากมีการเลือกตั้ง ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยคือการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาอย่างชัดเจน การท่องเที่ยวจะคึกคักมากขึ้น

รองลงมาคือประโยชน์เรื่องการนำเข้าและส่งออกสินค้า ปริมาณการค้าจะดีขึ้นชดเชยกับการค้ากับสหรัฐฯ ที่จะปรับตัวลดลง เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปีหน้าคือความถดถอยทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นปริมาณการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะแย่ลง แต่ถ้าจีนเปิดประเทศปริมาณการค้าระหว่างไทยกับจีนจะเข้ามาชดเชยได้

โดยอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนจากการเปิดประเทศของจีนนั้น อันดับต้นๆ คือ ธุรกิจสายการบินและธุรกิจโรงแรม เพราะการท่องเที่ยวจะกลับมา และอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการกลับมาของจีนคือ “กลุ่มธุรกิจค้าปลีก” เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากขึ้น กำลังซื้อในประเทศจะหมุนเวียนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ประกิตมองว่าน่าสนใจและมาแรง

ถัดมาเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตอนนี้เป็นเทรนด์ยอดฮิตของบรรดาผู้มั่งคั่งในฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ที่นิยมมาซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับบนในเมืองไทย เพราะฉะนั้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นระดับบนจะไปได้ดีมาก และสุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ที่น่าจะได้ประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามายังไทย

ซึ่งประกิตเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตอนนี้จีนอยู่ในช่วงที่ติดเรื่องข้อบังคับต่างๆ ภายในประเทศ เพราะฉะนั้นน่าจะได้เห็นภาพการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาเมืองไทยเยอะขึ้น แต่ก็ยังมีข้อน่ากังวลในเรื่องของค่าแรงถ้ามีการปรับขึ้นมาก การย้ายฐานการผลิตก็จะไม่เกิด

โดยมีการคาดการณ์กันว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งเร็วสุดคือภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 เพราะจะเห็นว่าจีนเริ่มลดประเด็นความไม่พอใจในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประชาชนลง เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดประเทศบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่อิงกับการเปิดประเทศของจีนจึงน่าสนใจและมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี รวมถึงการลงทุนในหุ้นจีน กองทุนรวม และตราสารอนุพันธ์ (DW) ของจีนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ส่วนครึ่งปีหลังประกิตมองว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาลง อันเนื่องมาจากความกังวลใจของนักลงทุนต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนได้อยู่

“การลงทุนด้าน Option Trading และตราสารอนุพันธ์จะเป็นทางเลือกที่ดีในเวลาที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะขาลงในปีหน้า สำหรับผู้ที่สนใจการลงทุนระยะยาว ธีมพลังงานทดแทนและธีมที่ได้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันลดลง เช่น การขนส่งโลจิสติกส์เป็นธีมที่น่าสนใจในปี 2566”

ในขณะที่ ดร. กวินทร์ ภู่พกสกุล ผู้อำนวยการสำนักผลิตภัณฑ์การลงทุน ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนและเทรนด์การลงทุนในปีหน้าว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนมากที่สุดในตอนนี้คือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มขยับขึ้นไปถึงร้อยละ 5 ในปี 2566 แต่ในความเห็นของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คาดว่าดอกเบี้ยจะขยับไปสูงมากกว่านั้นอันเป็นผลมาจากแรงส่งจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลง

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่สำคัญคือสภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเกิดการชะลอตัวในหลายประเทศทั่วโลก สะท้อนจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการปรับลดมุมมองเศรษฐกิจลงทุกภูมิภาค

ซึ่งจากภาพที่เกิดขึ้นข้างต้นทำให้โอกาสของหุ้นเติบโต (Growth Stock) ที่ขับเคลื่อนตลาดมาโดยตลอดมีความน่าสนใจลดลง แต่หุ้น Value หรือหุ้นกลุ่มที่มีปันผลสูงน่าจะเป็นพอร์ตลงทุนหลักที่จะพานักลงทุนผ่านพ้นความเสี่ยงของปีหน้าไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียที่จะได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง รวมถึงหุ้นในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่มีระดับเงินปันผลอยู่ในอัตราสูง

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่าระดับราคาปัจจุบันยังไม่อยู่ในจุดที่น่าสนใจในการลงทุน เพราะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยยังเป็นปัจจัยลบของการลงทุนในตราสารหนี้

นอกจากนี้หุ้นในกลุ่ม well-being ในตลาดหุ้นไทย ทั้งกลุ่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ การท่องเที่ยว และอาหาร เป็นกลุ่มที่น่าสนใจท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก

โดยเน้นย้ำว่าในสภาวะที่การลงทุนยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงเข้ามากดดันตลาดเป็นระยะ ดังนั้นการกระจายการลงทุนคือสิ่งที่จำเป็น และปัจจัยที่ต้องจับตามองคือเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวซึ่งอาจส่งผลกระทบมายังประเทศไทยในที่สุด.