วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ดิไอคอน กรุ๊ป ปั้นยอดขาย 4 พันล้านใน 4 ปี พอล วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ปฏิวัติค้าออนไลน์

ดิไอคอน กรุ๊ป ปั้นยอดขาย 4 พันล้านใน 4 ปี พอล วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ปฏิวัติค้าออนไลน์

อย่างที่ทราบกันดีว่าตลาดอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ข้อมูลจาก WebsiteBuilderExpert พบว่า ยอดการใช้จ่ายอีคอมเมิร์ซทั่วโลกในปี 2021 รวมกว่า 4.921 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2565 มีมูลค่า 900,900 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 693,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% จากปี 2563 และหนึ่งในการเติบโตของตลาดนี้คือ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด (THE iCON Group) ที่เปิดบริษัทมาเพียงไม่กี่ปี แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้ปฏิวัติการขายออนไลน์” ด้วยการสร้างยอดขายมากกว่า 4 พันล้านภายใน 4 ปี

แม้ว่า ดิไอคอน กรุ๊ป จะไม่เป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก หากแต่จะเอ่ยถึงภาพนักแสดงหนุ่ม 5 คน ได้แก่ ป้อง-ณวัฒน์, บอย-ปกรณ์, เวียร์-ศุกลวัฒน์, โดม-ปกรณ์ ลัม, กันต์-กันตถาวร ที่ถูกติดตั้งบนป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ พร้อมกับโลโก้บริษัท อาจจะพอคุ้นตาอยู่บ้าง หลายคนอาจคาดเดาว่า นี่เป็นธุรกิจขายอาหารเสริม ขายตรง ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด ทว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ดิไอคอน กรุ๊ป ไม่ใช่ธุรกิจขายตรงแบบที่สังคมรู้จักเช่นยุคก่อน ที่ตัวแทนหรือสมาชิกต้องซื้อสินค้าจากบริษัทไปก่อน และนำสินค้าไปจำหน่ายต่อ พร้อมสร้างเครือข่ายของตัวเอง “พอล วรัตน์พล วรัทย์วรกุล” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง บอกเล่าให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ฟังถึงแนวคิดที่นำมาซึ่งความสำเร็จเช่นในปัจจุบัน

“เราแตกต่างจากแบรนด์ที่ขายออนไลน์ทั่วไปตรงที่เราเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการขายออนไลน์ให้ตัวแทนเราไม่ต้องสต๊อกสินค้า ไม่ต้องคอยแก้ปัญหา ไม่ต้องแพ็กของ ส่งของ เพราะเราวางระบบ Dropship Fulfillment ตัวแทนจะล็อกอินเข้าระบบ กดสั่งของ ส่วนหน้าที่ส่งของให้ลูกค้าคือบริษัท เราตัดการสต๊อกสินค้าของตัวแทน เพราะเรากังวลเรื่องมาตรฐานการจัดเก็บสินค้า ซึ่งเรามีโกดังที่ควบคุมระบบความชื้น ป้องกันการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพสินค้า”

นอกจากการวางระบบการขายออนไลน์แบบใหม่ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับสมาชิกแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ พอล วรัตน์พล สร้างขึ้นคือ โรงเรียนสอนธุรกิจออนไลน์ ที่ให้ตัวแทน หรือสมาชิกได้เรียนรู้ทักษะ เทคนิคการขายอย่างมืออาชีพ “ผมเป็นพนักงานประจำมาก่อน กระทั่งผมไปเรียนการขายออนไลน์กับตลาดดอทคอม พี่ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยาภานะ CEO ของ tarad.com เป็นคนสอน ครั้งนั้นเปิดโลกทัศน์เลย มุมมองเปลี่ยน เวลานั้นขายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เริ่มเอามาขายผ่านเว็บ tarad.com ขายอยู่ 4 เดือน รายได้ดีกว่าทำงานประจำ จึงตัดสินใจลาออก แต่วันหนึ่ง Margin ไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว ก็นำมาสู่การทำธุรกิจ ดิไอคอน กรุ๊ป ผมเลยเริ่มเขียนระบบเอง ส่วนเรื่องโรงเรียนเรามองว่า การเรียนการสอน จะเป็นจุดแข็งของบริษัท เราเลยลงทุนสร้างเป็นโรงเรียน เพื่อพัฒนานักขายมืออาชีพ ช่วงแรกผมเอาประสบการณ์ตัวเองมาสอน แต่ในปัจจุบันเราก็นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาสอน ว่าอันนี้ไม่เวิร์ก ไม่ควรทำ อันนี้เวิร์ก ขายได้”

ปัจจุบันดิไอคอนมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 200,000 ราย สมาชิกอายุน้อยสุดคือ 18 ปี จนถึงอายุ 70+ ปี เป็นวัยทำงานอายุ 30-40 ปี ราว 90% ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกการค้าออนไลน์เป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันสถานที่เรียนการขายออนไลน์ที่รองรับได้ 1,000 คนต่อวันไม่เพียงพอต่อความต้องการ วรัตน์พลมีแผนลงทุนขยายพื้นที่จากเดิมโรงเรียนตั้งอยู่ย่านรามอินทรา ไปยังย่านมีนบุรี-หทัยราษฎร์ พื้นที่ 63 ไร่ โดยหวังจะให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การขายออนไลน์ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวออกแบบให้เป็นอาคาร Mixed-Use ครบวงจร มีศูนย์ประชุม ร้านอาหาร สตูดิโอสำหรับการถ่ายทำ ที่สามารถรองรับผู้เรียนได้ 1 หมื่นคนต่อวัน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าเฟสแรกจะพร้อมใช้งานภายใน 3 ปี

“ปีแรกที่เปิด ดิไอคอน ผมมียอดขายไม่ถึง 100 ล้าน การขายออนไลน์มีเยอะ แต่เราจะมองแค่การตลาดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมุ่งเน้นที่การให้ความรู้ ถึงจะไม่เห็นผลในระยะแรก แต่เราหวังผลในระยะยาว ผมเชื่อในเรื่องนี้ เชื่อว่าความรู้เหนือ กลยุทธ์เหนือ ในที่สุดจะต้องชนะแต่ต้องใช้เวลา ปีแรกทำเต็มที่ ไม่ใช่ไม่ขยัน ขยันที่สุดแต่ได้เท่านั้น ไม่ออกดอกผลในปีแรก”

“การลงทุนศูนย์การเรียนรู้ใหม่ เพราะผมต้องการให้มีพื้นที่เพียงพอต่อการขยายตัวของตัวแทน สมาชิก เมื่อตัวแทนถูกฝึกฝนจำนวนเยอะขึ้น รายได้ก็ควรจะต้องเยอะขึ้น เรามองว่า ปริมาณผู้เรียนจะเป็นตัวคัดคุณภาพ สมมุติมีคนมาเรียน 100 คน ดีแค่ 10% ก็ถือว่าเยี่ยม แต่ถ้ามาคนเรียนเพิ่มขึ้น 1,000 คน เราอาจจะได้คนเก่งสัก 100 คน ทุกอย่างมันเป็นกฎธรรมชาติ เหมือนเวลาเราทำการตลาดหาลูกค้า 1,000 คน เราอาจได้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเราจริงๆ 100 คน”

วรัตน์พลเปิดเผยตัวเลขรายได้นับตั้งแต่ดิไอคอนเริ่มต้น ปี 2561 ยอดขาย 80 ล้านบาท ปี 2562 ยอดขาย 322 ล้านบาท ปี 2563 ยอดขาย 378 ล้านบาท และก้าวกระโดดในปี 2564 ที่ 4,950 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นของยอดขายในปีที่ผ่านมาอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย

“หากมองในมุมของคนทำธุรกิจออนไลน์ คิดว่าแนวโน้มการเติบโตของตลาดนี้ยังไปได้อีก เพียงแต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงก็ส่งผลต่อยอดขายในปีปัจจุบันเช่นกัน ซึ่งปีนี้ต่ำกว่าที่คาดไว้คือ 4 พันล้านบาท สาเหตุอาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น การเดินทางสะดวกขึ้น ผู้คนออกมาใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ หลายคนโหยหาการท่องเที่ยว ก็อาจจะใช้เงินไปกับสิ่งอื่น ทำให้ยอดขายของเราลดลง”

1 หมื่นล้านบาทภายในเวลา 5 ปี
วรัตน์พลตั้งเป้าหมายล่วงหน้าไว้สูง ส่วนหนึ่งอาจมาจากการลงทุนโรงเรียนที่ใช้งบประมาณสูงถึง 3,000 ล้านบาท และกลยุทธ์ในการรุกตลาดที่เพิ่มมากขึ้น

“เราก็หวังว่าภายใน 5 ปี เราจะสร้างยอดขายได้ 1 หมื่นล้านบาท จะเป็นไปได้ไหมก็ยังไม่แน่ใจ แต่เรามุ่งมั่นเต็มที่ ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่ม Personal Care เราจะบุกตลาดสกินแคร์มากขึ้น พร้อมกับการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และเรามีพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ คือ น้องพีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร ซึ่งน่าจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มแฟนคลับของพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ รวมทั้งพรีเซ็นเตอร์เดิมทั้ง 5 คนด้วย”

นอกจากตลาดในประเทศที่จะเป็นกำลังหลักของรายได้ให้แก่ ดิไอคอน การขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV เป็นสิ่งที่วรัตน์พลให้ความสำคัญ

“ลูกค้าในกลุ่มประเทศ CLMV เรามีในระดับหนึ่ง ความนิยมสินค้าในกลุ่มประเทศนี้ไม่ต่างจากไทย คือ คอลลาเจน ยาสีฟัน กาแฟ เพียงแต่ประเทศกลุ่มนี้เราต้องเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง ปีหน้าเราจะรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น”

ขณะที่การเติบโตของดิไอคอนที่มีแนวโน้มเป็นไปด้วยดี ทว่า ผู้บริหารของดิไอคอนยังไม่คิดจะเป็นผู้ผลิตสินค้าเอง “ผมไม่คิดจะทำโรงงานเอง เพราะผมคิดว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมต้องการกาแฟที่ดีที่สุด ผมเจอ 10-20 โรงงาน เขาเก่งทั้งนั้น บางบริษัทเปิดมา 25 ปี เก่งมาก แต่ถ้าผมไปทำโรงงานเอง เมื่อไหร่ผมจะเก่งเท่าเขา ฉะนั้นสินค้าของเราคือจ้างผลิต แต่เรามีทีมคุมคอนเซ็ปต์ มีทีม R&D ที่เป็นคุณหมอ บุคลากรทางการแพทย์ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องส่วนประกอบต่างๆ เราแค่เลือกว่าต้องการใส่ส่วนผสมอะไร เท่าไร หรือควรใส่แค่ไหนในระดับที่ปลอดภัย เหมาะสม”

ทิศทางการเติบโตของการค้าออนไลน์ยังมีโอกาสอีกมากให้ไขว่คว้า แม้ว่าแนวโน้มในอนาคตผู้คนกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เลือกซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า แต่ความคุ้นชินที่เกิดขึ้นกับรูปแบบการค้าออนไลน์คงไม่ถูกวิถีชีวิตแบบปกติกลืนกิน

วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน เรายังทำยอดขายได้สูงถึงกว่า 4,000 ล้านบาท ประชากรโลกมีกว่า 7,000 ล้านคน แม้จะคนละสเกล แต่การเจาะตลาด CLMV ในปีหน้ามากขึ้น เชื่อว่าการทำให้เป็น 10,000 ล้านภายใน 5 ปีเป็นไปได้”.