วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป” พร้อมทรานส์ฟอร์มสู่เทค คอมพานี

“ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป” พร้อมทรานส์ฟอร์มสู่เทค คอมพานี

ที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ด้านนิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ของไทย อย่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจออกมาให้ได้เห็นเป็นระยะๆ แต่หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือการประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ความเป็น “Tech Company” ภายในปี 2567 ภายใต้การนำทัพของผู้บริหารหญิงแกร่งอย่าง “จรีพร จารุกรสกุล”

ปัจจุบัน “Tech Company” (เทค คอมพานี) บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีหรือบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในแวดวงธุรกิจ และกำลังกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนี้

นั่นทำให้หลายองค์กรต่างต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้และขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น เพื่อการอยู่รอด สร้างการเติบโต และเพื่อไม่ตกขบวน รวมถึง ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่ออกมาประกาศพร้อมทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่การเป็นเทค คอมพานี ให้ได้ภายในปี 2567 ด้วยเช่นกัน

สำหรับ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA Group) ถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านนิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ของไทย โดยประกอบธุรกิจใน 4 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมในเครือปักหมุดในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั้งในเขต EEC และพื้นที่ใกล้เคียง

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวเรือใหญ่ในการทรานส์ฟอร์มองค์กรเปิดเผยว่า

“ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ถือเป็นองค์กรต้นๆ ของประเทศที่พูดถึงเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เราเชื่อในเทคโนโลยีและเชื่อมาตลอดว่าโลกมันกำลังเปลี่ยนแปลง ปี 2560 เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งเทคโนโลยีคือตัวที่มาผลักดันให้โลกเปลี่ยน และนั่นคือปีที่เราเริ่มวางแผนในการปรับเปลี่ยนองค์กรจากการเป็น Infrastructure สู่ Tech Company”

โดยจะเห็นว่าทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจรีพรมั่นใจว่าท่ามกลางกระแสดิจิทัลดิสรัปชันที่กำลังเกิดขึ้น ตัวธุรกิจของดับบลิวเอชเอจะไม่โดนดิสรัปชันอย่างแน่นอน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม อย่างการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันยังต้องพึ่งระบบโลจิสติกส์ถึง 95% ยิ่งอีคอมเมิร์ซโตมากขึ้นเท่าไร ระบบโลจิสติกส์ก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

ถัดมาเรื่องนิคมอุตสาหกรรม การที่ภาครัฐประกาศก้าวสู่ Industry 4.0 นั่นยิ่งต้องใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานก็ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นทั้งสิ้น แต่แน่นอนว่าต้องไม่ใช่ในรูปแบบเดิมๆ

ซึ่งจรีพรมองว่าถึงแม้ตัวธุรกิจจะไม่โดนดิสรัปต์ แต่ถ้าองค์กรไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลยนั่นจะเป็นการดิสรัปต์ตัวเองในที่สุด โดยตัวธุรกิจอาจจะคงอยู่ได้แต่จะไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น ในขณะที่ถ้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้จะเป็นดั่งการติดสปริงให้กับธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

นั่นจึงทำให้แม่ทัพใหญ่ของดับบลิวเอชเอตัดสินใจวางโรดแมปนำพาองค์กรสู่การเป็นเทค คอมพานี นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงการดำเนินงาน โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานขององค์กรเป็นฐานรองรับ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท และนำไปสู่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กับดับบลิวเอชเอ โดยยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานว่า

“เทคโนโลยีอะไรก็ตามถ้ามีแต่แพลตฟอร์มไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ สุดท้ายพอเกิดฟองสบู่มันจะแตกและพังทลายโดยที่ไม่มีอะไรมารองรับ เหมือนการพังของ LUNA หรือ FTX ที่เล่นบนแพลตฟอร์มล้วนๆ ซึ่งภาพนี้จะยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ธุรกิจอะไรก็ตามที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงและมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มันจะโตอย่างมีศักยภาพ ถ้ามีแค่โครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวมันก็โต แต่โตแนวระนาบ กราฟมันไม่พุ่ง เหมือนหลายองค์กรที่เป็นอยู่”

เลือกที่จะทำบนความไม่พร้อม เพราะถ้ารอทุกอย่างพร้อมอาจสายเกินไป
ปี 2560 เป็นปีที่จรีพรเริ่มวางโรดแมปเดินหน้าปรับเปลี่ยนดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สู่ความเป็นเทค คอมพานี แม้ว่าความพร้อมขององค์กร ณ ขณะนั้นยังไม่ 100% ก็ตาม เพราะแม่ทัพใหญ่แห่งดับบลิวเอชเอเชื่อว่า การปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้ารอให้ทุกหน่วยในองค์กรพร้อมปรับนั่นอาจจะสายเกินไป และก้าวไม่ทันโลก เพราะฉะนั้นจะไม่รอให้ทุกอย่างพร้อม แต่จะทำบนความไม่พร้อม เพราะบนความไม่พร้อมมักมีโอกาสใหญ่รออยู่

โดยการเดินหน้าสู่เทค คอมพานีของดับบลิวเอชเอ มี 2 กระบวนการที่ทำควบคู่กันไป ได้แก่ Digital Innovation และ Digital Transformation

จรีพรอธิบายเพิ่มเติมว่า ระหว่างที่รอให้ทุกหน่วยขององค์กรพร้อมในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล จะทำกระบวนการ Digital Innovation หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ล่วงหน้าไปก่อน โดยเอาคนและหน่วยงานที่พร้อมของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ มาดูว่าจะเอาเทคโนโลยีอะไรมาปรับใช้ได้บ้าง และให้แต่ละหน่วยไปจับมือกับสตาร์ตอัป หรือเทค คอมพานี ภายนอกที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ และนำเทคโนโลยีมาใช้จริง

ในระหว่างที่ทำเรื่อง Digital Innovation สิ่งที่ดับบลิวเอชเอทำควบคู่กันไปคือการทรานส์ฟอร์มองค์กร พัฒนาคนสู่ความเป็นดิจิทัล หรือ Digital Transformation โดยจะทำการอบรมพนักงาน เปลี่ยนมุมมอง รวมถึงรับสมัครคนใหม่ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งขององค์กร

กระทั่งปี 2563 คนของดับบลิวเอชเอทุกคนพร้อมที่จะเดินทางตามโรดแมปการก้าวสู่เทค คอมพานี ที่วางไว้

ปี 2564 ดับบลิวเอชเอ ได้ริเริ่มโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นมาถึง 33 โครงการ ครอบคลุมธุรกิจของบริษัทในทุกด้าน โดยมุ่งหวังที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาความมั่นคงและประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ

ปี 2565 โครงการเทคโนโลยีดิจิทัลผุดขึ้นอีกกว่า 20 โครงการ พร้อมกับการประกาศตัวว่าภายใน 3 ปี หรือปี 2567 ดับบลิวเอชเอจะทรานส์ฟอร์มสู่การเป็นเทค คอมพานี

ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นความคืบหน้าในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาธุรกิจของดับบลิวเอชเอออกมาให้เห็นอยู่เป็นระยะ เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco Industrial Estates) ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในทุกกิจกรรมตั้งแต่การสื่อสาร ระบบขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตน้ำและบำบัดน้ำเสีย โดยศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center หรือ UOC) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร WHA Tower ย่านบางนา สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ช่วยให้สามารถติดตามผลค่าตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในแบบเรียลไทม์ ทั้งการตรวจสอบคุณภาพอากาศและน้ำเสีย ระดับน้ำ การจราจร และความปลอดภัย

การพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ภายใต้ชื่อ Renewable Energy Exchange (RENEX) เป็นแพลตฟอร์มที่นำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการซื้อขายพลังงานระหว่างลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการสุดท้ายสำหรับการดำเนินการเชิงพาณิชย์

โดยระยะแรกจะเป็นการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์รูฟทอปของแต่ละโรงงาน ซึ่งดับบลิวเอชเอเชื่อว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ แพลตฟอร์ม RENEX จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทยด้วยการลดต้นทุนด้านพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน WHAbit ดิจิทัลเฮลท์แคร์ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ให้บริการด้านสุขภาพ โดยมีโรงพยาบาลสมิติเวชเป็นพันธมิตรหลัก ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของดับบลิวเอชเอ

ก้าวต่อไปของการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลของดับบลิวเอชเอคือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ จากผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนโรดแมป ตามที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายจะก้าวเป็นบริษัทเทคโนโลยีให้ได้ภายในปี 2567.