วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > มหกรรมหนังสือระดับชาติ ’27 มหานครนักอ่าน ณ บ้านเก่าหลังใหม่

มหกรรมหนังสือระดับชาติ ’27 มหานครนักอ่าน ณ บ้านเก่าหลังใหม่

หากเอ่ยถึงงานสัปดาห์หนังสือ หรืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ สถานที่ที่หลายคนคุ้นเคยคือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เนื่องจากอยู่ใจกลางเมืองที่นักอ่านสามารถเดินทางไปได้สะดวกเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดิน แต่ถูกปิดปรับปรุงในปี 2562 หลังจากเปิดให้บริการรองรับการจัดงานประชุม งานอีเวนต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534

หลังจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ปิดปรับปรุงไปนานถึง 3 ปี ปัจจุบันด้วยรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดีไซน์ร่วมสมัยที่มาพร้อมฟังก์ชันและสามารถรองรับงานอีเวนต์จากทั่วโลก โดยเฉพาะงานหนังสือ ซึ่งหลายคนให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ศูนย์ฯ สิริกิติ์เหมาะสมที่สุด

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวว่า “ขอปวารณาตัวว่า กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองแห่งการอ่านหนังสือ และผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ อ่านเยอะขึ้นไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เรารักการอ่านมากขึ้นในเวลาต่อมา ช่วยจุดประกายสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งความรู้ เป็นเมืองแห่งการอ่าน และกระจายให้ทุกคนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ กทม. จะทำหน้าที่เตรียมหนังสือให้หลากหลาย ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการอ่านได้อย่างสะดวก”

นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยหรือ PUBAT กล่าวว่า “ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ร้านหนังสือปิดตัว สำนักพิมพ์ปิด พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อหนังสือผ่าน Market Place เช่น Shopee, Lazada ส่งผลให้สำนักพิมพ์ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ พึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น พึ่งพาร้านหนังสือน้อยลง มีการเปิดพรีออเดอร์หนังสือ ซึ่งผู้อ่านจะเห็นแค่เพียงหน้าปกและตัวอย่างบทแรก ทำให้สำนักพิมพ์ไม่จำเป็นต้องมีสายป่านยาวเหมือนสมัยก่อน”

แง่มุมหนึ่งการเปิดพรีออร์เดอร์หนังสืออาจเป็นการดิสรัปต์วงการหนังสือเสียเอง เพราะปัจจุบันผู้อ่านสามารถพรีออร์เดอร์ได้จากสำนักพิมพ์โดยตรง นั่นทำให้สถานการณ์ร้านหนังสือในไทยค่อนข้างน่ากังวล แม้จะเคยมีกรณีการโกงจากการเปิดพรีออร์เดอร์ก็ตาม

ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือปี 2557 อยู่ที่ 29,300 ล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่ 27,900 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 27,100 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 23,900 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ปี 2562 อยู่ที่ 15,900 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 12,500 ล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือของไทยที่เคยเฟื่องฟูไปเกือบ 30,000 ล้านบาท ในปี 2557 แต่ปัจจุบันมูลค่าตลาดเหลืออยู่เพียง 12,500 ล้านบาท อาจเป็นเพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ก่อให้เกิดการดิสรัปต์ในอุตสาหกรรมนี้ และส่งผลต่อจำนวนร้านหนังสือที่เคยมีทั่วประเทศถึง 2,483 ร้าน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 800 ร้านเท่านั้น

ปัญหาภาพรวมในอุตสาหกรรมหนังสือคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ PUBAT ผู้จัดงานต้องขบคิด เมื่อการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของความรู้ อีกทั้งการอ่านยังช่วยกระตุ้นความคิดของคนในสังคมได้ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022) ที่มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 จึงเกิดขึ้นภายใต้ แนวคิด “BOOKTOPIA : มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง”

“เชื่อว่างานหนังสือจะคึกคัก คาดว่าจะมีคนมาเดินชมงานไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน และมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาท โดยปีนี้มียอดพิมพ์หนังสือใหม่ 7,690 ปก เมื่อถึงสิ้นปีจะมีแค่ 12,000 ปกเท่านั้น คาดหวังว่างานหนังสือระดับชาติที่เกิดขึ้นหากมีเสียงตอบรับดีจากนักอ่านเชื่อว่าการผลิตหนังสือใหม่จะกลับมา ย้อนกลับไปในปี 2557 ที่อุตสาหกรรมหนังสืออู้ฟู่ มีมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ก่อนจะลดลงอย่างต่อเนื่องถึงปี 2564 อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท และสิ่งที่น่าสนใจคือยอดขายหนังสือใน Market Place เติบโตถึง 61 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้” ทิพย์สุดาอธิบาย

ช่วงเวลาที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ปิดปรับปรุง งานสัปดาห์หนังสือ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ช่วงที่ผ่านมาต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงาน โดยเลือกใช้ศูนย์ประชุมอื่นๆ เช่น อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี, ไบเทคบางนา หรือจัดงานในรูปแบบออนไลน์ ส่งผลต่อยอดขายและยอดผู้เข้าชมงานโดยตรง

ขณะที่จำนวนหนังสือออกใหม่ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ไทยมีการพิมพ์หนังสือออกใหม่ปีละประมาณ 20,000 ปก โดย PUBAT ให้ข้อมูลว่า ปี 2560 มีหนังสือออกใหม่จำนวน 19,454 ปก ปี 2561 จำนวน 20,542 ปก ปี 2562 จำนวน 19,614 ปก ปี 2563 จำนวน 17,911 ปก ปี 2564 จำนวน 18,291 ปก

ทิพย์สุดาเสริมว่า “เราพยายามเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์การอ่าน ซึ่งที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์สร้างนักอ่านนักเขียนให้เติบโตงอกงาม เราจึงเรียกที่นี่ว่า ‘บ้าน’ เพราะจัดงานยาวนาน 19 ปี กระทั่งปี 62 ศูนย์ฯ สิริกิติ์ปิดปรับปรุง ปีนี้กลับมาจัดงานที่บ้านอีกครั้งเชื่อว่าจะตอบโจทย์ทั้งผู้จำหน่ายและผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี”

ขณะที่มูลค่าของอุตสาหกรรมหนังสือลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 พร้อมกับคำถามที่ผู้คนในแวดวงหนังสือมีคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้จะดำเนินไปอย่างไร เมื่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคนี้เปลี่ยนไป สื่อหลายสำนักปิดตัวลง สิ่งพิมพ์ นิตยสารล้มหายตายจากวงการไปจำนวนไม่น้อย แต่ยังมีอีกหนึ่งบริษัทที่สวนกระแส นั่นคือ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจสื่อแบบครบวงจร ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และการจัดกิจกรรม

โดยอมรินทร์กรุ๊ปเพิ่งเปิดเผยตัวเลขรายได้ไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวม 998,639,000 บาท ทั้งนี้รายได้ของอมรินทร์ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ อยู่ที่ 572,047,000 บาท ธุรกิจสื่อโทรทัศน์มีรายได้ 351,104,000 บาท และธุรกิจจัดแสดงงานและสื่อออนไลน์ มีรายได้ 204,429,000 บาท

สถานการณ์อุตสาหกรรมหนังสือในไทยต้องอาศัยการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ภาครัฐจะมีโครงการรณรงค์สนับสนุนให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มพูนปัญญามากขึ้น แต่นั่นเป็นความช่วยเหลือจากปลายทาง ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมหนังสือในต่างประเทศที่รัฐบาลของหลายประเทศให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งสนับสนุนผู้ผลิตหนังสือรายย่อย หรือผู้ผลิตหนังสืออิสระ เช่น แคนาดา รัฐบาลจะจัดสรรเงินทุนสนับสนุนสำนักพิมพ์ที่เปิดใหม่ สวีเดน ผู้ประกอบการธุรกิจหนังสือจะได้รับอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป หรือที่ฝรั่งเศส สำนักพิมพ์อิสระที่ต้องการเงินทุนในโครงการที่ใช้งบประมาณสูง สามารถขอกู้เงินแบบปลอดดอกเบี้ยจากศูนย์หนังสือแห่งชาติฝรั่งเศสได้ และสิ่งที่ผู้ผลิตหนังสือต้องทำตามเงื่อนไขคือ ผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ เช่น วรรณกรรม วรรณกรรมภาษาถิ่น วิชาการ

หากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐคงช่วยให้อุตสาหกรรมนี้สามารถปรับตัวอยู่ได้ในทุกสมัยของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี รวมไปถึงความต้องการที่จะให้ไทยเป็นสังคมอุดมปัญญาคงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน

การกลับมาจัดงานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่เปรียบเสมือนการกลับบ้านครั้งนี้ กลายเป็นความหวังของทั้งผู้จัดงาน สำนักพิมพ์ และนักอ่านที่เฝ้ารอคอยบรรยากาศคุ้นเคย หากผลตอบรับในเรื่องยอดขายเกินกว่าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่บ่งบอกสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์อุตสาหกรรมหนังสือที่กระเตื้องขึ้น.