วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > เบทาโกรได้ฤกษ์ 55 ลุยตลาดหุ้นอัดฉีด

เบทาโกรได้ฤกษ์ 55 ลุยตลาดหุ้นอัดฉีด

“เบทาโกร” ใช้ช่วงจังหวะครบรอบ 55 ปี ลุยแผนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะเข้าทำการซื้อขายใน SET ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

ปัจจุบันบริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) หรือ BTG มีทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 2,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท และมีทุนชำระแล้ว 7,500 ล้านบาท โดย BTG จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท หรือไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BTG กล่าวว่า บริษัทวางแผนใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนเป็นเงินทุนการซื้อและก่อสร้างฟาร์มใหม่ โรงงานแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงโรงงาน ฟาร์ม การลงทุนโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม โรงชำแหละสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหารและเนื้อสัตว์ ในไทยและต่างประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ประเทศ สปป. ลาว และเมียนมา รวมถึงลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง

สำหรับปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 8.67 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีรายได้รวมแล้ว 5.41 หมื่นล้านบาท กำไร 3,892 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 5.81 หมื่นล้านบาท และหนี้สิน 3.93 หมื่นล้านบาท

หากพลิกดูร่างหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้น IPO ของ BTG รูปแบบการดำเนินธุรกิจไม่ได้แตกต่างจากยักษ์ใหญ่เจ้าตลาด “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือซีพี ซึ่งจดทะเบียนและเทรดในตลาดหุ้นนานนมตั้งแต่ปี 2530

เหตุผลสำคัญ คือ เบทาโกรต้องการใช้เวลาปลุกปั้นภาพลักษณ์ความเป็นสินค้าพรีเมียม โดยเฉพาะการเปิดตัวแบรนด์ S-Pure (S-Pure Natural Pure Process) เมื่อปี 2549 เน้นกระบวนการเลี้ยงแบบธรรมชาติ 100% ทั้งการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์สัตว์ การเลี้ยง การผลิต จนถึงการจัดส่งและจุดขาย ได้รับการรับรอง “การเลี้ยงที่ไม่มียาปฏิชีวนะ” (Raise Without Antibiotics หรือ RWA) จาก National Sanitation Foundation USA

ทั้งนี้ เบทาโกรมี 9 กลุ่มธุรกิจหลัก

1. กลุ่มธุรกิจเกษตร ได้แก่ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ อุปกรณ์และเครื่องมือฟาร์ม

2. กลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภค เนื้อสด ไข่ ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งปรุงสุก อาหารปรุงสุก และอาหารพร้อมรับประทาน

3. กลุ่มธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปต่างประเทศ

4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบปริมาณมากให้ช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิมและช่องทางอุตสาหกรรมในประเทศไทย

5. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสัตว์และอื่น ๆ เช่น การจำหน่ายชิ้นส่วนของสัตว์ที่เหลือจากกระบวนการชำแหละ โปรตีนทางเลือกจากพืช

6. กลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ กลุ่มฟาร์มและผู้แปรรูปอาหารในประเทศไทย

7. กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมา ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ฟาร์ม ผลิตภัณฑ์อาหาร สุกร สัตว์ปีก ไข่ไก่ เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารแปรรูป

8. กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์ดูแล และ

9. กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เกี่ยวกับการฝึกอบรมและสัมมนา ธุรกิจเพื่อสังคม

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เบทาโกรมีโรงงานอาหารสัตว์ 10 แห่ง ฟาร์มมากกว่า 4,000 แห่ง โรงชำแหละสัตว์ 14 แห่ง โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร 12 แห่ง โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 1 แห่ง และโรงงานผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ 1 แห่ง

แน่นอนว่า เบทาโกรไม่ต่างจากซีพีที่พยายามแตกช่องทางจำหน่าย เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายจุดจำหน่ายเบทาโกร ร้านเบทาโกรช็อป (Betagro Shop) สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2B และร้านเบทาโกรเดลี่ (Betagro Deli) และร้านเนื้อสัตว์อนามัยรองรับลูกค้ากลุ่ม B2C

ล่าสุด บริษัทมีสาขาเบทาโกร 96 แห่ง เบทาโกรช็อป 208 แห่ง เบทาโกรเดลี่ 31 แห่ง และร้านเนื้อสัตว์อนามัยอีก 739 แห่ง ทั่วประเทศไทย

ขณะที่เปิดสาขาเบทาโกร 5 แห่งในประเทศกัมพูชา และร้านเบทาโกรช็อป 5 แห่งในประเทศลาว มีการขายในประเทศและการส่งออกมากกว่า 20 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง.

เส้นทางสร้างอาณาจักร BTG

“เบทาโกร” ก่อตั้งเมื่อปี 2510 ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ มีโรงงานแห่งแรกที่ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ

ปี 2515 เปิดฟาร์มสุกรและพ่อแม่พันธุ์ จ. นครราชสีมา ฟาร์มไก่เนื้อและพ่อแม่พันธุ์ จ. นครปฐม และขยายธุรกิจการเกษตรไปยังบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย

ปี 2516 ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ก้าวเข้ามาร่วมบริหารเบทาโกร เพราะพ่อของเขา คือ กิมฮง แซ่แต้ เจ้าของโรงสีปากเพรียว ริมแม่น้ำป่าสัก มีหุ้นอยู่ในเบทาโกร และเป็นช่วงที่บริษัทอยู่ในสภาวะยุ่งเหยิง จึงต้องหาผู้บริหารมาช่วยจัดการ ซึ่งชัยวัฒน์สามารถลุยงานตามความตั้งใจของเตี่ยกิมฮง มีการขยายธุรกิจต่อเนื่อง

ปี 2521 ตั้งบริษัท เบ็ทเทอร์ฟาร์ม่า จำกัด เปิดโรงงานผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ จ. สมุทรปราการ

ปี 2523 ตั้งบริษัท อาหารเบทเทอร์ กิจการร่วมค้ากับกลุ่มโตโชกุ (Toshoku) ดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อไก่สดและเนื้อไก่แช่แข็ง และเปิดโรงชำแหละไก่แห่งแรกของเบทาโกร

ปี 2531 ชัยวัฒน์ตัดสินใจส่งไม้ต่อการบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้ วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ลูกชายคนโต ส่วนตัวเขาขึ้นไปเป็นประธานกรรมการกลุ่มเบทาโกร ก่อนที่จะดึง วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ลูกชายคนที่ 3 เข้ามาร่วมบริหารในอีกหลายปีต่อมา

ปี 2533 ก่อสร้าง Food Complex 1 ฐานการผลิตอาหารแห่งแรกของบริษัท และตั้งบริษัท บี. ฟู้ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กิจการร่วมค้ากับกลุ่ม Mitsubishi เพื่อขยายการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น

ปี 2536 ตั้งบริษัท ไทย เอส พี เอฟ โปรดักส์ จำกัด กิจการร่วมค้ากับกลุ่ม Sumitomo ผลิตสุกรพันธุ์สุกรขุน

ปี 2537 บริษัท เบทาโกร จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด

ปี 2538 ตั้งบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เบทาโกร โฟรเซ่นฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กิจการร่วมค้ากับกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ (Ajinomoto) ผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อไก่ ส่งออกประเทศญี่ปุ่น

ปี 2539 บริษัทจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เปลี่ยนชื่อจากบริษัท เบทาโกร อโกรกรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัท เบทาโกร อโกรกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,500 ล้านบาท และตั้ง เบทาโกร โฮลดิ้ง โอนธุรกิจต่าง ๆ ให้บริษัท เบทาโกร อโกรกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ปี 2546 สร้าง Food Complex 2 ฐานการผลิตเพิ่มกำลังการผลิตเนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก และไส้กรอก

ปี 2547 เปิดร้านเบทาโกรช็อปแห่งแรก

ปี 2549 ตั้ง Betagro Science Center และเปิดตัวผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแบรนด์ S-Pure รุกตลาดพรีเมียม

ปี 2550 บริษัท เบทาโกร อโกรกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

ปี 2551ตั้งบริษัท เบทาโกร (ลาว) และบริษัท เบทาโกร (กัมพูชา) พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แบรนด์ S-Pure

ปี 2552 ตั้งบริษัท อิโตแฮม เบทาโกร ฟู้ดส์ จำกัด กิจการร่วมค้ากับกลุ่ม Itoham เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหมูพรีเมียม และอาหารปรุงสุกแช่แข็งส่งออก มีประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก

ปี 2553 เปิดตัวผลิตภัณฑ์ไข่ไก่แบรนด์ S-Pure

ปี 2554 ตั้งบริษัท เบทาโกร เอ็มเอฟ เดลี จำกัด กิจการร่วมค้ากับกลุ่ม Marudai ผลิตผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหมูพรีเมียมและอาหารปรุงสุกแช่แข็งเพื่อส่งออก มีญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก

ปี 2557 เปิดร้านเบทาโกรเดลี่ แห่งแรก ที่สำนักงานใหญ่

ปี 2560 เปิดร้านเนื้อสัตว์อนามัยแห่งแรก

ปี 2562 ตั้งบริษัท เบทาโกร (เมียนมา) จำกัด

ปี 2564 ทำสัญญาร่วมค้ากับบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เบทาโกร จำกัด ประกอบธุรกิจบริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Delivery) ในประเทศไทย

เบทาโกร โฮลดิ้ง ปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยกลุ่มครอบครัวแต้ไพสิฐพงษ์ลดสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 46.7% แต่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

ปี 2565 บริษัทขายหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศให้ เบทาโกร โฮลดิ้ง จำนวน 390.9 ล้านบาท

28 เม.ย. ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้บริษัทเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ของบริษัทฯ จากเดิม 10 บาทต่อหุ้น เป็น 5 บาทต่อหุ้น และเพิ่มทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท จากเดิม 7,500 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท.

ติดตามเพิ่มใน

Youtube >> https://www.youtube.com/watch?v=eOGcloS-msc&t=28s

Tiktok >> https://www.tiktok.com/@gotomanager360/video/7148375102462151962?is_copy_url=1&is_from_webapp=v1