วันอังคาร, ตุลาคม 22, 2024
Home > Cover Story > “มาม่า” พลิกกลยุทธ์ บุก “ราเมน” สู้วิกฤต

“มาม่า” พลิกกลยุทธ์ บุก “ราเมน” สู้วิกฤต

 
การเปิดตัวธุรกิจร้านอาหารราเมนญี่ปุ่น “KAIRI KIYA (ไคริคิยะ)” ของ “ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์” เป้าหมายหนึ่งเป็นการเปิดกลยุทธ์แก้พิษเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มรากหญ้าอย่างจังจนภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท เติบโตติดลบ และยอดขาย “มาม่า” เติบโตต่ำสุดในรอบ 42 ปี
 
“มาม่า ซองละ 6 บาท ราเมน ชามละ 150 บาท เพิ่มมูลค่าตัวนี้ดีกว่า!!”
 
เวทิต โชควัฒนา ในฐานะกรรมการรองผู้อำนวยการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวกับ “ผู้จัดการ360  ํ” 
 
แน่นอนว่า หากเปรียบเทียบสถานการณ์การเติบโตทางธุรกิจ เวทิตยอมรับว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือ “บะหมี่ซอง” ราคาซองละ 6 บาท มีลูกค้าระดับรากหญ้าเป็นกลุ่มหลักและเป็นสินค้าทั่วไปที่แมสมากๆ  แม้มาม่าพยายามใช้กลยุทธ์เพิ่มมูลค่าสินค้าหลากหลายรูปแบบ เช่น ออกสินค้ากลุ่มพรีเมียมอย่างมาม่าราเมง บะหมี่อบแห้ง “เมนดาเกะ” เส้นพิเศษ นำเสนอรสชาติแปลกใหม่มากกว่า 10 รสชาติ หรือผลักดันกลุ่มคัพ แต่ยังสร้างสัดส่วนยอดขายได้น้อยมาก ไม่ถึง 3% 
 
สินค้าที่สร้างรายได้หลักจึงจำกัดอยู่เฉพาะรูปแบบ “ซอง” และมีรสชาติขายดีไม่กี่รสชาติ เช่น ต้มยำและหมูสับ ส่วนสินค้ากลุ่มพรีเมียมรองรับลูกค้าบางกลุ่มและทำยอดขายแบบทรงตัวเท่านั้น โดยภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคาดว่า ปี 2558 จะอยู่ที่ 15,800 ล้านบาท เติบโตเพียง 1.2-1.3% เท่านั้น จากปกติเติบโตเฉลี่ย 5% และเคยเติบโตสูงสุดถึง 12% 
 
แม้ “มาม่า” ยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 53% ทิ้งห่าง “ไวไว” และ “ยำยำ” ที่มีส่วนแบ่งใกล้เคียงกันประมาณ 20% แต่การขยายตัวเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปี 2556 
 
ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นถือเป็นบลูโอเชียนใหม่ ทั้งของมาม่าและเครือสหพัฒน์ มีอัตราเติบโตทุกปีไม่ต่ำกว่า 10-15% และแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องอีก 5 ปี 
 
ประเมินกันว่า ปี 2557 ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีมูลค่าตลาดประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาท และปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท โดยกว่า 80% เป็นสัดส่วนของร้านที่เปิดสาขาในศูนย์การค้า ประมาณ 3-4 ราย เช่น  โออิชิ ฟูจิ ยาโยอิ และเซน เรสเตอรองส์  
 
อีก 20% เป็นสัดส่วนของร้านรายย่อยที่เปิดสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลน ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเชนร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาบุกตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะร้านจากต้นตำรับญี่ปุ่น  เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคคนไทยเริ่มรู้จักเลือกอาหารญี่ปุ่นที่มีคุณภาพ ต่างจากเดิมที่นิยมสไตล์บุฟเฟต์ราคาประหยัด โดยถือว่าประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นให้บริการมากเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี และไต้หวัน
 
อย่างไรก็ตาม สหพัฒน์แท้จริงแล้วไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการธุรกิจ เพราะเริ่มชิมลางธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2551 โดยบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒนพิบูล ร่วมทุนกับบริษัท กรีนเฮ้าส์ จากญี่ปุ่น เปิดร้านทงคัทสึหรือหมูทอด “ชาโบเตน” เปิดสาขาแรกที่ห้างอิเซตัน และล่าสุดมีสาขารวม 7 แห่ง ก่อนมาเปิดเกมรุกธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างชัดเจน หลังจากทุ่มทุนเปิดโครงการคอมมูมิตี้มอลล์ “เจพาร์ค” ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมทั้งการร่วมทุนกับกลุ่มลอว์สันอิงค์ ประเทศญี่ปุ่น เดินหน้าร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน 108” ซึ่งมีจุดขายอยู่ที่เมนูอาหารญี่ปุ่นด้วย
 
ปี 2557 เครือสหพัฒน์ เปิดแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น “อูมัย” สไตล์เสิร์ฟอาหารบนสายพานในเจพาร์ค และประกาศร่วมทุนกับบริษัท เอ.ที.วี. โฮลดิ้ง จำกัด ในนามนิปปอนเต กรุ๊ป ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่น และบริษัท ซาโต เรสเตอรองต์ ซิสเท็มส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการร้าน จัดตั้งบริษัท นิปปอน เต ซาโต จำกัด ลุยธุรกิจร้านบุฟเฟต์ชาบู “วาโชกุ ซาโต” ในประเทศไทย
 
วาโชกุซาโตประเดิมสาขาแรกในเจพาร์ค ศรีราชา เช่นเดียวกัน โดยตั้งเป้าจับกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่อาศัยและทำงานในศรีราชาไม่ต่ำกว่า  6,000 คน ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 คน เพราะบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งย้ายฐานผลิตไปอยู่ที่ชลบุรีมากขึ้นและวางแผนขยายสาขาในกรุงเทพฯ ด้วย รวมถึงการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว
 
สำหรับ “ไคริคิยะ” ถือเป็นร้านราเมนชื่อดังจากเมืองเกียวโตและมีสาขาในเมืองหลักๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น เคยได้รับรางวัล Ramen Battle 2013 โดยเมนูหลักๆ นอกจากราเมน ซึ่งชูจุดเด่นเรื่องน้ำซุปโชยุและต้นหอมซอยแล้ว ยังมีเมนูข้าว เช่น ข้าวผัด เกี๊ยวซ่า ไก่ทอดคาราเกะ ซึ่งเวทิตกล่าวว่า ราคาเมนูราเมนเริ่มต้นอยู่ที่ชามละ 150 บาท 
 
ถือว่าตลาดร้านอาหารราเมนมีความคุ้นเคยกับคนไทยและเป็นอาหารที่ทานได้บ่อย ทำให้ตลาดมีอัตราเติบโตต่อเนื่องทุกปี 10-20% มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท แต่มีคู่แข่งจำนวนมากเช่นกัน 
 
ทั้งเจ้าเก่าที่ยึดตลาดระดับกลางไว้เหนียวแน่นอย่างฮาจิบังและโออิชิราเมน กลุ่มระดับพรีเมียมอย่างร้านยามาโกย่าและบาซารากะ ของบริษัท ยามาโกย่า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มบุญรอด บริวเวอรี่กับทุนญี่ปุ่นเจ้าของแบรนด์ยามาโกย่า และบริษัท  กัสตรอนอมเม่อ จำกัด ในเครือพาราวินเซอร์ 
 
นอกจากนั้น ยังมีร้านราเมนแชมเปี้ยนของ ตัน ภาสกรนที และร้านชาบูตงของเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ปกับโกลบบีท เจแปน อิงค์ ไม่รวมร้านราเมนอีกหลายแบรนด์ที่เปิดตัวอย่างต่อเนื่อง 
 
ณ วันนี้ แม้ธุรกิจราเมนยังเทียบไม่ได้กับยอดขายหลักจาก “มาม่า” แต่ถือเป็นอีกขาหนึ่งของสหพัฒน์ที่กำลังรุกต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่แผนแตกไลน์ธุรกิจ แต่ยังหมายถึงการสร้างโอกาสขยายธุรกิจครบวงจรที่มีมูลค่าเพิ่มกว่าเดิมอีกหลายเท่า