วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ยกเลิก Test & Go ไทยเตรียมลุยท่องเที่ยวเต็มสูบ

ยกเลิก Test & Go ไทยเตรียมลุยท่องเที่ยวเต็มสูบ

อย่างที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลเสียต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งภาคการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว แม้ว่าการค้าระหว่างประเทศจะเคยหยุดชะงักในช่วงแรกของการระบาด ทว่า ปัจจุบันกลับมีทิศทางที่สดใสและมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่การลงทุนยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกล้วนมีส่วนต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจากต่างชาติว่าจะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่

ในขณะที่การท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล โควิด-19 ได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ไว้จนผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเยียวยาตัวเองได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สภาพการณ์ปัจจุบันที่การติดเชื้อเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัว แม้จะยังมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวัน ทว่า ความรุนแรงของโรคค่อยๆ ลดลง เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับวัคซีน และไทยเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวมาแล้วระยะหนึ่ง กระนั้นด้วยเงื่อนไขที่เคร่งครัดสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองว่า เงื่อนไขดังกล่าวไม่เอื้ออำนวยให้การท่องเที่ยวไทยได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานในภาคบริการ ที่ในช่วงการระบาดอย่างหนักจนต้องประเทศปิดประเทศ แรงงานที่อยู่ในระบบนี้ถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก นั่นส่งผลโดยตรงต่อรายได้และหนี้สินที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หนี้ครัวเรือนไทยเมื่อสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 90.1% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 79.9% ของจีดีพี หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากการขาดรายได้ของประชาชน อันมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างมาก เกิดภาวะว่างงาน หรือชั่วโมงการทำงานลดลง รายได้ลดลง ความหวังที่จะให้เศรษฐกิจทั้งระบบขับเคลื่อนคือการผ่อนปรนมาตรการด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ายังประเทศไทยมากขึ้น เมื่อเงื่อนไขต่างๆ ลดลง โดยเฉพาะต้นทุนด้านการเดินทางที่รัฐบาลได้ปรับลดวงเงินประกันภัยสำหรับชาวต่างชาติลง

กระทั่งรัฐบาลประกาศยกเลิก Test & Go และปรับลดเงื่อนไขหลายข้อสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยมุ่งหวังว่า การปรับลดเงื่อนไขดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ในเร็ววัน

ซึ่งมาตรการใหม่ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนั้น แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อเดินทางมาถึง แนะนำให้ตรวจ Self-ATK ระหว่างพักอยู่ในประเทศ หากพบเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการตามระบบประกันภัยตามความรับผิดชอบของบุคคล

กลุ่มที่สอง ผู้เดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ หรือได้รับแต่ไม่ครบตามเกณฑ์ ให้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่ 4-5 ที่เดินทางมาถึงไทย แนะนำให้ตรวจ Self-ATK ระหว่างพักในไทย หากพบเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการตามประกันภัย หรือตามความรับผิดชอบของบุคคล นอกจากนี้ ยังปรับลดวงเงินประกันภัยสำหรับผู้เดินทางทั้ง 2 กลุ่ม จากเดิม 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

วิจัยกรุงศรี เปิดเผยผลวิเคราะห์ด้านการท่องเที่ยวว่า ภาคการท่องเที่ยวได้แรงหนุนจากการยกเลิกระบบ Test & Go ขณะที่รัฐบาลวางแนวทางจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจาก ศบค. เห็นชอบยกเลิกการตรวจ RT-PCR สำหรับผู้เดินทางเข้าไทยที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมถึงปรับลดวงเงินประกันสำหรับผู้เดินทางเป็น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ศบค. ยังเห็นชอบปรับระดับพื้นที่ตามสถานการณ์การระบาด เหลือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะมีสัญญาณเชิงบวกจากการยกเลิกระบบ Test & Go และผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก และให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่หลายๆ ประเทศทั้งในยุโรปละเอเชียได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น และล่าสุดสหรัฐฯ ได้ปรับไทยออกจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากการระบาดของโควิด-19 หรือระดับ 4 (เตือนให้หลีกเลี่ยง) มาอยู่ในระดับ 3 ซึ่งแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเดินทางเท่านั้น

โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ที่เดินทางมาไทยมีจำนวนสูงเป็นอันดับ 5 รองจากรัสเซีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5.5 ล้านคน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปียังเผชิญกับแรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวรัสเซีย และการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไทยของนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป

รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง นักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดหลัก ยังมีแนวโน้มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด และการแข่งขันที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิกใต้

หากพิจารณาจากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ข้อมูลตัวเลขเบื้องต้นจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผย ในเดือนมกราคมมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวน 133,903 คน เดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวน 152,954 คน และเดือนมีนาคม จำนวน 210,836 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 7-13 ล้านคน และน่าจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาท และหากรวมกับเป้าหมายการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยที่ตั้งไว้ว่าจะมี 160 ล้านคน-ครั้ง ที่น่าจะสร้างรายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท รวมแล้วการท่องเที่ยวทั้งปีน่าจะมีรายได้จากทั้งสองกลุ่มถึง 1.3-1.5 ล้านล้านบาท

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 เมษายน 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยแล้วประมาณ 646,812 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2564 ที่ 427,869 คน

การยกเลิก Test & Go และผ่อนปรนมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามายังประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นการจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจง่ายขึ้น ทว่า Thailand Pass อีกหนึ่งมาตรการที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมองว่า หากยกเลิกไปด้วยน่าจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยิ่งมีแรงส่งให้มีโอกาสมากขึ้น

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอต่อ ศบค. ให้พิจารณายกเลิก Thailand Pass โดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยจะเปลี่ยนมาใช้วัคซีนพาสปอร์ต พร้อมกับให้นักท่องเที่ยวกรอกข้อมูลการได้รับวัคซีนลงในใบ ตม. 6 แทน เพื่อสร้างความสะดวกให้กับการเดินทางมากขึ้น

ทั้งนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับอนุมัติหรือไม่ เพราะใกล้ห้วงเวลาที่รัฐบาลเตรียมจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งข้อเสนอข้างต้นน่าจะเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

หากรัฐบาลไทยต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้ไทยมาโดยตลอด เพราะนั่นหมายถึงการจ้างงานในภาคบริการที่เคยเป็นสุญญากาศในช่วงเวลาหนึ่งกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง ปัญหาด้านรายได้ และหนี้ครัวเรือนในภาคประชาชนจะค่อยคลี่คลายลง ข้อเสนอจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีทิศทางที่ดีขึ้น กระนั้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศยังคงน่ากังวล เพราะภาวะสงครามอีกซีกโลกส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่สร้างอิทธิพลต่อค่าครองชีพของครัวเรือน งานนี้ไม่ง่ายเลยจริงๆ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม.

ใส่ความเห็น