วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ไอเคคร๊าฟพลิกวิกฤตสู่โอกาส สร้างนวัตกรรมเส้นใยฆ่าเชื้อไวรัส

ไอเคคร๊าฟพลิกวิกฤตสู่โอกาส สร้างนวัตกรรมเส้นใยฆ่าเชื้อไวรัส

หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อในระยะต้นได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเปอร์เซ็นต์การปกป้องจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม

โดยเฉพาะหน้ากากผ้า ที่ทางการแพทย์มักจะแนะนำว่า ผู้ใช้หน้ากากผ้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ควบคู่ไปกับหน้ากากอนามัยด้วย

วิกฤตของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นโอกาสครั้งสำคัญให้แก่บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสิ่งทอคุณภาพสูง

ดร.กฤษณา สุขบุญญสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด กล่าวว่า “เราประสบความสำเร็จและมีประสบการณ์มาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ในธุรกิจพรมทอมือและผลิตภัณฑ์สิ่งทอของบริษัทแม่ อย่างบริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท อินเตอร์ไกร ที่มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย และมีทีมวิจัยของตัวเอง ทำให้เกิดความชำนาญในตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอ เพื่อสร้างสรรค์สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คือวิสัยทัศน์ของเรา”

และในช่วงโควิด บริษัทแม่อย่าง คาร์เปท เมกเกอร์ ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากผู้ประกอบการธุรกิจรายอื่นๆ ช่วงเวลานั้นผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจผ้าส่วนใหญ่จะหันมาตัดเย็บหน้ากากผ้า ทั้งเพื่อแจกจ่ายให้แก่บุคลากรภายในองค์กร ลูกค้า หรือประชาชนทั่วไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพที่มาจากการซื้อหน้ากากอนามัยเป็นประจำ ทว่า สิ่งที่คาร์เปท เมกเกอร์ทำแตกต่างออกไป คือ การหยิบเอานวัตกรรมใส่เข้าไปในเนื้อผ้า โดยมีเป้าประสงค์ที่จะทำให้เส้นใยผ้ามีความสามารถในการฆ่าเชื้อไวรัสได้ด้วย

จุดประสงค์ดังกล่าวข้างต้นจึงกลายเป็นต้นกำเนิด บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด และกลายเป็นธุรกิจด้านนวัตกรรมสิ่งทอมาตรฐานสากล ด้วยการผสมผสานสิ่งทอเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย อย่าง MONSILK อีกทั้งยังมีการอัปไซคลิ่ง (Upcycling) ขยะจากขวดพลาสติก PET ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษ และคืนสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ QVIRA (คิวไวร่า) จึงกลายเป็นนวัตกรรมเส้นใยอัจฉริยะที่ถูกถักทอรวมเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับผ้า ช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

 

ดร.กฤษณา สุขบุญญสถิตย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เส้นใยผ้าอัจฉริยะ QVIRA เป็นเทคโนโลยี Zinc Nano Tech โดยการผสมนาโนสังกะสีเข้าไปในระดับเส้นใยผ้าซึ่งมีไอออนประจุบวกที่สามารถทำลายเปลือกหนามโปรตีนหุ้มเซลล์ไวรัส ที่มีไอออนประจุลบ ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนประจุไอออน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ไวรัสอ่อนแอลง ทำให้ไวรัสไร้สมรรถภาพและไม่สามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ไม่ได้เพียงการเคลือบสารไว้บนผิวของเนื้อผ้า แต่เป็นการถักทอคุณสมบัติพิเศษที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสเข้าไปในเส้นใยแล้วทอออกมาเป็นเนื้อผ้า

นอกจากนี้ ไอเคคร๊าฟท์ ยังส่งผลิตภัณฑ์ของตัวเองไปพิสูจน์ว่าเส้นใยที่ถักทอออกมาและผสาน Zing Nano เทคโนโลยีเข้าไปนั้นสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้จริงหรือไม่ ภายใต้มาตรฐาน ISO 18184 ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำระดับโลกถึง 3 สถาบัน Nelson Labs ในสหรัฐอเมริกา, สถาบัน SGS ในฮ่องกง, สถาบัน MSL ในอังกฤษ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้แม้ผ่านการซักทำความสะอาดกว่า 150 ครั้ง

แนวความคิดของ ดร.กฤษณา ที่จะรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมแยกออกจากตัวเราไม่ได้ ทำให้เกิดแนวทางที่นอกเหนือไปจากการนำขวดพลาสติก PET หมุนเวียนกลับมาสร้างเป็นผ้าทอแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้การดำเนินงานในครั้งนี้ เมื่อหมดอายุการใช้งาน บริษัทมีแนวความคิดที่จะหาจุดทิ้งที่เหมาะสม เพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทนำกลับมาหลอมรวมใหม่ด้วยกรรมวิธีขั้นตอนที่เหมาะสมและนำไปใช้งานซ้ำอีกครั้ง เช่น การผสมในฉนวนกันความร้อน หรือผสมในพื้นคอนกรีต

ด้านการตลาด ไอเคคร๊าฟท์ มีกลยุทธ์หลักด้วยกัน 3 ด้าน คือ People, Planet, Customer ขณะที่กลุ่มเป้าหมายหลักยังคงมุ่งเน้นไปที่ตลาดแบบ B2B คือ เน้นในกลุ่มธุรกิจโรงแรม การบริการ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์เป็นหลัก

ดูเหมือนว่ากลุ่มเป้าหมายของไอเคคร๊าฟท์จะยังไม่ใช่ B2C ซึ่ง ดร.กฤษณาให้เหตุผลว่า เรายังใหม่กับ B2C และยังไม่ชำนาญพอในการทำการตลาดแบบ E-commerce การทำสิ่งที่เราไม่ถนัดยังเป็นเรื่องยาก โดยที่ผ่านมามีบริษัทชั้นนำของไทยมาร่วมเป็นพันธมิตรกับเราเพื่อนำเส้นใยอัจฉริยะ QVIRA มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบุคลากรภายในแล้ว เช่น MQDC ที่ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์จาก QVIRA นวัตกรรมเส้นใยยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เพื่อใช้ในสำนักงานขายและโครงการที่อยู่อาศัยทุกโครงการ รวมถึงสถาบันการเงินอย่าง SCB และเซ็นทรัล ก็ได้ตกลงความร่วมมือกับเราที่จะใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี QVIRA เพื่อผลิตหน้ากากผ้าให้กับบุคลากรของบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีบุคลากรที่เป็น Frontline ที่ต้องประสานงานและให้บริการกับลูกค้าค่อนข้างมาก

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดโควิดจะยังคงเป็นอันตราย และกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของทั้งประเทศโดยรวม กำลังซื้อของประชาชนเริ่มชะลอตัวลง แน่นอนว่าหลายองค์กรเริ่มมีการตัดงบที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไปเพื่อประคองสถานภาพทางเศรษฐกิจภายในให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง ทว่า เป้าหมายของไอเคคร๊าฟท์ดูจะน่าสนใจขึ้นมาไม่น้อย เมื่อ ดร.กฤษณา ประกาศว่า เป้าหมายของธุรกิจในครั้งนี้คือรายได้ 100 ล้านบาท ภายในปี 2565

ในแง่มุมหนึ่ง หากพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศโดยรวม อาจมองว่าค่อนข้างยากลำบาก เมื่อมีทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่าในราคาที่อาจจะจ่ายน้อยกว่า ทว่า การการันตีถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า เป้าหมายเพียง 100 ล้านบาทภายในปี 2565 อาจไม่ไกลเกินเอื้อม

ซึ่ง ดร.กฤษณาทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “เราคาดหวังว่าเส้นใย QVIRA ของเราจะสามารถช่วยให้การใช้ชีวิตของคนไทยมีความปลอดภัยห่างไกลจากเชื้อไวรัสที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และคาดหวังว่าจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคด้วยการปกป้องจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและไรฝุ่นต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และรักษาสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน และเราได้ขยายช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคด้วยการผลิตสินค้าจากเส้นใยผ้า QVIRA ภายใต้แบรนด์ GoodsMaker ซึ่งเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้า ถุงมือ ผ้าเช็ดอเนกประสงค์”

การตัดสินใจไม่ทำการตลาดแบบ B2C อาจเป็นการตัดโอกาสทางการค้าในบางแง่มุม ทว่า ก็อาจจะดีกว่าสำหรับ ไอเคคร๊าฟท์ เมื่อมองว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ถนัด และมุ่งเป้าทำการตลาดอย่างจริงจังแบบ B2B ที่อาจวัดผลได้มากกว่า และเห็นถึงประสิทธิภาพที่สูงกว่า.

ใส่ความเห็น