วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ขึ้นภาษีรถใช้น้ำมัน รัฐดิ้นหารายได้ ดันยานยนต์ไฟฟ้า

ขึ้นภาษีรถใช้น้ำมัน รัฐดิ้นหารายได้ ดันยานยนต์ไฟฟ้า

วิกฤตน้ำมันส่อรุนแรงขึ้นอีกทันที เมื่อรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนและหากความขัดแย้งบานปลายยืดเยื้อ สถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่งทะยานทะลุถึง 120-150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเจอปัญหาน้ำมันแพงและสินค้าพุ่งสูง

ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1 บาท และพยุงราคาดีเซลขายปลีก 2 บาท จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 และเร่งหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน เช่น การเสนอแนวคิดลดส่วนผสมเอทานอลจากอี85 และอี20 ลงเหลือเกรดเดียวคือ อี10 เพื่อให้ราคาเบนซินถูกลงกว่าเดิม แต่ยังต้องหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะจะต้องมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและประท้วงอีก

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รีบเปิดเกมใหม่บีบผู้คนหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการใช้น้ำมัน เนื่องจากหากดูตัวเลขของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซลรวม 12-13 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 6,960,000 คัน รถบรรทุก 6,600,000 คัน รถแทรกเตอร์ 600,000 คัน และรถที่ใช้ในการเกษตรอีก 100,000 คัน

ส่วนรถที่ใช้น้ำมันเบนซินมีจำนวน 28 ล้านคัน แบ่งเป็นรถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล 21,700,000 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 6,700,000 คัน และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 156,000 คัน ซึ่งทั้งหมดยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นและทางการต้องใช้งบประมาณอุดหนุนจำนวนมหาศาล ในกรณีสถานการณ์น้ำมันแพง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งระบบ มีสาระสำคัญ คือ

1. การปรับลดเกณฑ์การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น

2. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภทรถไฮบริด (HEV) และรถชาร์จไฟฟ้าร่วมกับน้ำมัน (PHEV) ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (BEV)

3. ทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภทรถใช้น้ำมัน (ICE), HEV และ PHEV โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 ปี 2571 และ ปี 2573 ตามลำดับ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตรา 8% เหลืออัตรา 2%

4. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป

5. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) รวมทั้งปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ แบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 และปี 2573 ตามลำดับเช่นกัน

การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตดังกล่าวเป็นเกมต่อเนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ไฟเขียวมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า 4 กรณี ได้แก่ กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% (เฉพาะปี 2565-66) ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ได้เงินอุดหนุน 7 หมื่นบาท สำหรับแบตเตอรี่ 10-30 กิโลวัตต์ชั่วโมง และเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท สำหรับแบตเตอรี่มากกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง

กรณีรถยนต์นั่งฯ ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป และมีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท จะได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% (เฉพาะปี 2565-66) ลดสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% แต่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน

กรณีรถกระบะ ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% และให้เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท เฉพาะรถกระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น

สุดท้าย กรณีรถจักรยานยนต์ ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1.5 แสนบาท ภาษีสรรพสามิต 1% เงินอุดหนุน 1.8 หมื่นบาท กรณีซีบียู (นำเข้าทั้งคัน) เฉพาะปี 2565-66 และกรณีซีเคดี (ผลิตในประเทศ) เฉพาะปี 2565-68

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่มีเป้าหมายสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทยอยปรับภาษี ใครทำไม่ได้ก็ให้เวลา ใครทำได้จะได้ปรับลดภาษี จะเกิดการลงทุนการจ้างงาน ทั้งโรงงานใหม่ โรงงานเก่า ทั้งที่อยู่ในบีโอไอและนอกบีโอไอ เมื่อดีมานด์เกิดขึ้นจะเป็นดีมานด์ใหม่ทดแทนดีมานด์เก่า ฉะนั้น รายได้จะกลับมาในรูปภาษีเงินได้นิติบุคคล

สรุปง่ายๆ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่จะทำให้รถยนต์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่ต้องปรับตัว โดยเฉพาะการลดการปล่อย CO2 ลง เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวจะเสียภาษีแพงขึ้น ลูกค้าจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งกรมสรรพสามิตยกตัวอย่างรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ปัจจุบันราคาขายประมาณ 1.7 ล้านบาทต่อคัน มีการปล่อย CO2 ที่ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร ปัจจุบันเสียภาษี 30% อัตราใหม่หลังปรับเทคโนโลยีลดการปล่อย CO2 จะเสียภาษี 29% และถ้าไม่มีการปรับลดการปล่อย CO2 ลงจนถึงปี 2571 จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 31%

ปี 2573 จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น 33% หรือภาษีจะปรับขึ้นรอบละ 2% ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่ 1.7 ล้านบาท จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 300,000 บาทต่อรอบภาษี

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้มีแรงกระตุ้นจากมาตรการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ทั้งระบบ โดยเฉพาะตลาดอีวีจะเติบโต 2 เท่า อยู่ที่ 4,000-5,000 คัน เนื่องจากมีรถอีวีรุ่นใหม่นำเข้าในราคาถูกลงที่คันละประมาณ 300,000-600,000 บาท เทียบปี 2564 อยู่ที่ 1,800-1,900 คัน เทียบกับปี 2563 มีประมาณ 1,200 คัน และเทียบกับในอดีตมีเพียงหลัก 100 คัน ราคาสูง 2-5 ล้านบาท

ที่สำคัญ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ใหม่ช่วงเดือนมกราคมอยู่ที่ 628 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 74.44% ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้าสะสม ณ วันที่ 31 ม.ค. 2565 อยู่ที่ 12,005 คัน เพิ่มสูงขึ้นถึง 100.58%

ทั้งหมดทั้งมวล หากกระบวนการเป็นไปตามคาด รัฐบาลจะได้ทั้งการลดจำนวนรถที่ใช้น้ำมัน ลดภาพรวมการใช้น้ำมัน ลดความจำเป็นต้องใช้งบประมาณอุดหนุน แถมมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีรถใช้น้ำมัน และผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า ลดการปล่อย CO2 ให้เป็นศูนย์ตามเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วย.

ใส่ความเห็น