วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สงครามปั๊มน้ำมัน ปูพรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

สงครามปั๊มน้ำมัน ปูพรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กลายเป็นโจทย์ใหญ่ทางการตลาดสำคัญของกลุ่มธุรกิจน้ำมัน โดยเฉพาะยุทธการแข่งขันติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมทำเลหลักๆ ทั่วประเทศไทย ภายใต้โมเดลสถานีบริการน้ำมันที่มีบริการครบวงจรมากที่สุด

สำหรับค่าย ปตท. เบอร์ 1 ในวงการ ตามแผนเบื้องต้นนั้นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ มองเห็นแนวโน้มและเริ่มไทม์ไลน์ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือ EV Station PluZ ตั้งแต่ปี 2561 จนปัจจุบันปูพรมผุดสถานีชาร์จไฟฟ้ารวมแล้ว 100 จุด กระจายทั่วประเทศบริเวณหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ และตั้งเป้าหมายขยายครบ 300 แห่ง ภายในปี 2565 ทั้งในและนอกสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั้งรูปแบบ Normal Charge และ Quick Charge ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน

ในจำนวน 100 จุด ซึ่งใช้งบลงทุนประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น โดยมี 4 แห่งที่โออาร์ลงนามสัญญากับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ขอใช้พื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า “EV Station PluZ” ในเขตพื้นที่พาณิชย์ครอบคลุมทั้งสยามสแควร์และสามย่าน ได้แก่ อาคารสยามสเปซ อาคารวิทยกิตติ์ (ศูนย์หนังสือจุฬาฯ) อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และลานจอดรถ CU Sport Zone (จุฬาฯ ซอย 10-12)

ล่าสุด โออาร์ยังลงนามสัญญาขอใช้พื้นที่โรงแรมแห่งหนึ่งบริเวณพื้นที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง รวมถึงการเปิดให้บริการในสถานีเอ็นจีวี ปตท. อีก 10 แห่ง

ทั้งนี้ บริการ EV Station PluZ ของโออาร์ จะให้ผู้ใช้บริการดาวน์โหลดและลงทะเบียนการใช้งานแอปพลิเคชัน EV Station PluZ เพื่อค้นหาจุดสถานีและจองบริการ โดยลูกค้าสามารถใช้บริการด้วยตัวเอง นำหัวชาร์จที่ต้องการชาร์จเสียบกับรถ จากนั้นเริ่มใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน EV Station PluZ และสแกนคิวอาร์โค้ดบนหัวชาร์จที่ต้องการใช้งาน ตรวจสอบหัวชาร์จและและรูปแบบการชำระเงิน

กด “Start Charging” เพื่อเริ่มการชาร์จ และกด “Stop Charging” เพื่อหยุดการชาร์จ พร้อมตรวจสอบสรุปรายการชาร์จและค่าบริการ ถอดหัวชาร์จจากรถยนต์และนำเก็บเข้าที่เครื่องชาร์จ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั่วไปจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถอีวีได้ ยกเว้น 3 การไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งโออาร์ใช้วิธีให้สมาชิกบัตรบลูการ์ดมาเสียบที่เครื่องเพื่อใช้งานอัตโนมัติ จนกว่าจะมีการประกาศสามารถเก็บเงินค่าบริการได้

ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ เร่งลุยธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและพลังงานสะอาดผ่าน บริษัท อรุณ พลัส จำกัด บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ทั้งการพัฒนาภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและการขยายเครือข่ายสถานีเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในพื้นที่ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน รองรับรถยนต์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV : Plug-in Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ ที่มีหัวชาร์จแบบ Type 2 โดยสามารถจองและควบคุมการใช้งานผ่าน on-ion Mobile Application ทั้งระบบ Android และ iOS

ที่ผ่านมา ปตท. เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วหลายแห่ง เช่น ในศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) และ True Digital Park สุขุมวิท 101 โดยมีแผนขยายสถานีอัดประจุอีกกว่า 1,000 เครื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศภายในปี 2565 รวมทั้งมีบริการติดตั้ง PTT EV Charger ในที่พักอาศัย

ในส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้น บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ผนึกกำลังกับบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด กลุ่มบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) จัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) ตามแผนความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดย HORIZON PLUS ก่อตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย คาดแล้วเสร็จและผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 กำลังการผลิตปีแรก 50,000 คันต่อปีและจะขยายถึง 150,000 คันต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อรองรับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

ด้านคู่แข่งอย่างสถานีบริการน้ำมัน PT ของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT เพื่อให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยล่าสุดปูพรมไปได้มากกว่า 2,076 สถานี ส่วนใหญ่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันพีทีและบางส่วนอยู่ในปั๊มแอลพีจี พีที ซึ่งเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบควิกชาร์จทั้งหมด ใช้เวลาชาร์จไฟแบ่งเป็นรถยุโรปแรงดันที่ 45-50 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 20 นาที ส่วนรถเอเชียจะรับแรงดันได้น้อย ใช้เวลา 45 นาที

ก่อนหน้านี้ ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท ปิโตรเลียมไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ PTC ในเครือพีทีจี เปิดตัวโครงการโมเดลใหม่ “PT Max Park” เนื้อที่ 9 ไร่ ริมถนนบรมราชชนนีฝั่งขาเข้า อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยแบ่งพื้นที่บริการ 2 ส่วนคือ สถานีบริการน้ำมันและคอมมูนิตี้มอลล์ ด้วยงบลงทุนรวมค่าที่ดินราว 200 ล้านบาท ซึ่งเฟสแรกจะเปิดบริการเต็มรูปแบบประมาณเดือนพฤษภาคม 2565

ในโซนสถานีบริการน้ำมันมีจุดให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในสถานีบริการ เพื่อทำให้ “PT Max Park Salaya” เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน

ส่วนโซนคอมมูนิตี้ มอลล์ มีร้านค้าในเครือบริษัทพีทีจี เช่น ร้านสะดวกซื้อ max mart ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านกาแฟระดับพรีเมียม COFFEE WORLD ร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มพีที max Gas ศูนย์บริการรถยนต์แบบครบวงจรมาตรฐานญี่ปุ่น AUTOBACS ร้านจำหน่ายยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ NEXX Pharma และร้านค้าพันธมิตรอย่างแมคโดนัลด์ ร้านข้าวขาหมูมีดี ศูนย์บริการคาร์แคร์ โปลิ-เคม และร้านซักผ้าหยอดเหรียญ Otteri Wash and Dry

ขณะที่ค่ายบางจากจับมือกับบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดจุด MG Super Charge สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว (EV Quick Charging Station) ในปั๊มน้ำมันบางจาก เพื่อเสริมกำลังติดตั้งจนครบตามเป้าหมาย 100 สาขาในปี 2564 และมีแผนขยายอีก 100 สถานีในปี 2565 รวมเป็น 200 สถานี ครอบคลุมทุกๆ ระยะทาง 100 กิโลเมตรทั่วประเทศไทย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2030 (2573) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โดยวางแผนติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมันบางจากอย่างต่อเนื่อง และขยายเป้าหมายโครงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า “Winnonie” (วิน-โน-หนี้) ซึ่งเป็นโครงการสตาร์ตอัปภายในกลุ่มบางจากฯ นำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาให้วินมอเตอร์ไซค์เช่า ลดภาระดอกเบี้ยทบต้นจากการผ่อนรถและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง

เพราะจากการศึกษาการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้น้ำมันถึง 10 เท่า และสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ที่ตู้แลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ในปั๊มน้ำมันบางจาก

ดังนั้น แม้มุมหนึ่งเกมการตลาดสงครามอีวีจะแข่งขันรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชิงรายได้และกลุ่มลูกค้า แต่อีกด้านหนึ่งถือเป็นการผลักดันสังคมสีเขียวขยายตัวกว้างขวางมากขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น