คงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนคือตัวดับฝันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง แม้ว่าก่อนหน้าหลายภาคส่วนจะทำเพียงแค่จับตา และคาดการณ์สถานการณ์ไปในทางบวกว่า โอมิครอนจะไม่กระทบภาคการท่องเที่ยวของไทยเท่าใดนัก
แต่หลังจากเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่เป็นต้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น และมีหลายคลัสเตอร์ในหลายจังหวัด กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขต้องประกาศแจ้งการเตือนภัยด้านสาธารณสุขจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ซึ่งมาตรการมีตั้งแต่การปิดสถานที่เสี่ยง ทำงานจากที่บ้าน 50-80 เปอร์เซ็นต์ ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และรัฐบาลยกเลิกมาตรการเข้าประเทศแบบ Test&Go และปิดการลงทะเบียน Thailand Pass ชั่วคราว ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
ไม่ใช่เพียงในประเทศไทยเท่านั้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดสูงสุด ในขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกที่เกิดการระบาดอย่างหนักก็เช่นเดียวกัน เช่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น ผลคือนักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกการเดินทางเพราะมีการระบาดจากประเทศต้นทาง เป็นเหตุให้โรงแรมและที่พักต่างๆ ถูกแจ้งยกเลิกการจอง หรือเลื่อนกำหนดเวลาการเข้าพัก ตั้งแต่ 25-50 เปอร์เซ็นต์
นอกจากสถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มปรากฏชัดว่าอาจไม่เป็นไปตามเป้าแล้ว การท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยก็ดูจะห่างไกลกับคำว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า โครงการทัวร์เที่ยวไทยภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายนนี้ โครงการดังกล่าวมีคนใช้สิทธิเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์น้อยมาก เพราะหลังจากเปิดดำเนินการโครงการไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงขณะนี้มีผู้ใช้สิทธิเพียง 27,000-28,000 สิทธิเท่านั้น จาก 1 ล้านสิทธิ ซึ่งแตกต่างกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กระทรวงฯ กำลังหารือกับสภาพัฒน์ เพื่อขอคืนสิทธิในโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” จำนวน 80,000 สิทธิ หรือกรอบงบประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยยังคงเหลือไว้ให้ดำเนินโครงการต่อจำนวน 200,000 สิทธิ และหากจำนวน 200,000 สิทธิที่เหลือ ภาคเอกชนท่องเที่ยวสามารถดำเนินการได้และจำนวนสิทธิหมดก่อน 30 เมษายนปีนี้ การท่องเที่ยวจะรีบดำเนินการของบประมาณก้อนใหม่มาทำโครงการในลักษณะเดียวกันเพิ่ม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงนี้คงต้องชะลอออกไปก่อน เพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงในประเทศไทยแต่ต้องให้สถานการณ์ของต่างประเทศคลี่คลายด้วยเช่นกัน นักท่องเที่ยวจึงจะเดินทางอีกครั้ง
ในช่วงนี้กระทรวงฯ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านอื่นๆ ในรูปแบบวิถีใหม่ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลเพื่อประเมินเป้าหมายของภาคการท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวตั้งเป้าหมายภายในปี 2565 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยประมาณ 8-15 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางจำนวน 160 ล้านคน-ครั้ง และน่าจะมีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.3-1.8 ล้านล้านบาท และหากสามารถเปิดด่านค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 15 ล้านคน หากสามารถเปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเริ่มกลับมาเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หรือหากไม่สามารถเปิดด่านค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ปี 2565 ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 6-7 ล้านคน
ขณะที่ภาคเอกชนมองว่ามาตรการที่ ศบค. ประกาศใช้โดยเฉพาะกรณี Test&Go นั้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เห็นว่า การจะกลับมาเปิดระบบรับนักท่องเที่ยวประเภท Test&Go อีกครั้ง ควรเป็นไปภายใต้เงื่อนไขเสริม เช่น การปรับปรุงแอปพลิเคชันหมอชนะให้ติดตามนักท่องเที่ยวได้ทุกวัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้งก่อนหมดไฮซีซันเดือนพฤษภาคม
ล่าสุด นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงหลังการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรในรูปแบบ Test&Go โดยเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
ภายใต้เงื่อนไข 1. อนุญาตให้เข้ามาได้ทุกประเทศในทุกช่องทาง 2. ปรับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง โดยมีหลักฐานการจองโรงแรมที่พักในวันแรก และในวันที่ 5 โดยเป็นโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ SHA++ AQ OQ หรือ AHQ และมีหลักฐานชำระเงินการตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้ง
3. จัดระบบการตรวจสอบและกำกับการเข้าพักและตรวจหาเชื้อให้ครบ 2 ครั้ง โดยต้องอยู่รอในที่พักหรือสถานที่ที่กำหนด จนกว่าจะได้รับผลการตรวจ 4. กำหนดระบบประกันให้ชัดเจน กรณีประกันไม่ครอบคลุม ผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของ Hospital Hospitel/Hotel Isolation และกรณี HRC เอง 5. กรณีเกิดการระบาดมากขึ้น หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลง พิจารณาการรับผู้เดินทางแล้วปรับมาใช้ระบบพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (Sandbox)
นอกจากนี้ ศบค. ยังมีมติให้ขยาย Sandbox ในจังหวัดชลบุรี อ. บางละมุง เมืองพัทยา อ. ศรีราชา อ. เกาะสีชัง อ. สัตหีบ เฉพาะ ต. นาจอมเทียน ต. บางเสร่ และจังหวัดตราด เกาะช้าง โดยเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังกลุ่มพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ในช่วง 7 วัน ต้องพำนักในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศจะอยู่ในภาวะที่เรียกว่าทรงตัว กระนั้นยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาขับเคลื่อนเช่นดังเดิมได้ในเร็ววัน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศยังเป็นตัวเลขที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย
แต่มติล่าสุดของ ศบค. น่าจะช่วยให้ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวรู้สึกอุ่นใจขึ้นไม่น้อย เพราะมาตรการนี้จะเป็นตัวปลดล็อกให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ในช่วงซัมเมอร์นี้.