นับเป็นอีกหนึ่งปีที่คนไทยต้องเผชิญกับฝันร้ายในความเป็นจริง ที่ไม่ใช่เพียงแค่โรคระบาดอย่างไวรัสโควิดที่ดูจะพัฒนาเชื้อและกลายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดสายพันธุ์โอมิครอนกลายเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่หลายประเทศต้องเฝ้าระวัง เมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าอาการเบื้องต้นจะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา ทั้งนี้ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่อาจเป็นปลายทางของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทว่า คนไทยยังต้องพบกับฝันร้ายที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปีก่อน นั่นคือราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยในปีเสือมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
นอกเหนือไปจากอัตราค่าไฟฟ้าที่เตรียมปรับเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยจะเป็นการปรับแบบขั้นบันได ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีประจำงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2565 อยู่ที่ 16.71 สตางค์ เป็นผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หลังจากที่ตรึงราคาค่าเอฟทีมานานกว่า 2 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีการเรียกร้องจากผู้ประกอบการรถบรรทุกให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร แต่ยังไม่เป็นผล
ราคาขายปลีกน้ำมันต่อลิตรที่ปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อราคาต้นทุนสินค้าไปโดยปริยาย นั่นไม่ใช่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น หากแต่ผู้บริโภคย่อมต้องได้รับผลกระทบเพราะเป็นผู้ที่อยู่ปลายน้ำ เมื่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นแม้จะยังไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน
กระทั่งล่าสุด การปรับราคาของเนื้อหมูที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 160-200 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันหมูเนื้อแดงราคาอยู่ที่ 200-250 บาทต่อกิโลกรัม
สาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อหมูในปัจจุบันสูงขึ้นมีด้วยกันหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการของผู้บริโภค บริโภคเนื้อหมูลดลง ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลงอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้เกษตรกรลดปริมาณการนำเข้าหมู รวมไปถึงต้นทุนในการบริหารจัดการฟาร์มทั้งระบบสูงขึ้น
อีกทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรยังประสบกับปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน ทั้งการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนการเลี้ยงที่สูงถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 67-68 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ บางข้อมูลยังพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อหมูในปัจจุบันสูงขึ้นคือ การระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส หรือโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร และโรคอหิวาต์ในสุกร ผลคือ ทำให้ปริมาณหมูขุนลดลงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการแบบคู่ขนานทั้งด้านวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในสุกร และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่เกษตรกร ซึ่งขั้นตอนความช่วยเหลือที่จะเกิดขึ้น น่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะ ถึงจะทำให้สถานการณ์ราคาหมูแพงกลับสู่ภาวะปกติ
หลายฝ่ายวิเคราะห์เรื่องราคาหมูแพงในเวลานี้ว่า คนไทยอาจจะประสบกับภาวะหมูแพงไปถึงช่วงตรุษจีน
ปัจจุบันเจ้าของกิจการแผงหมูปรับตัวด้วยการขายแบบออนไลน์ โดยจะรับออเดอร์ล่วงหน้า 2 วัน และลดปริมาณเนื้อหมูสำหรับขายหน้าร้านลง เมื่อเห็นว่าทิศทางของราคาเนื้อหมูสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมู หันไปบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นทดแทนได้
ค่าครองชีพของคนไทยในเวลานี้ค่อยๆ ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยต่อวันอยู่ที่ 313-336 บาท ความไม่สมดุลจากการสวนทางของรายได้และรายจ่ายที่กำลังเกิดขึ้นแน่นอนว่าสิ่งที่จะกระทบตามมาดั่งระลอกคลื่นคือ หนี้ครัวเรือนที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต
ข้อมูลล่าสุดของตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ระดับ 14.35 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นประมาณ 4.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การเติบโตของเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนดังกล่าว นอกจากจะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เติบโต 5.1 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 2/2564 แล้ว ระดับหนี้สินของครัวเรือนที่ขยับขึ้นนั้นยังใกล้เคียงกับการพิ่มขึ้นของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งภาพดังกล่าวส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงไตรมาส 3/2564 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 89.3 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับไตรมาส 2/2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ลักษณะการก่อหนี้ของครัวเรือนในไตรมาส 3/2564 มีส่วนที่แตกต่างไปจากช่วงไตรมาสก่อนๆ ตรงที่มีสัญญาณของการก่อหนี้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องและหรือรองรับรายจ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น สอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการในฝั่งนอนแบงก์
หากพิจารณาในรายละเอียดของหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3/2564 พบว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 6.71 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผลมาจากการขยับขึ้นของ 1. หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 2. หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และ 3. หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ ตามลำดับ โดยภาพดังกล่าวสะท้อนลักษณะและวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ในไตรมาสที่ 3/2564 ที่มีความแตกต่างไปจากช่วงไตรมาส 1/2564 และไตรมาสที่ 2/2564 ซึ่งช่วงเวลานั้น สาเหตุอันดับที่สองของหนี้สินในภาคครัวเรือนที่ขยับขึ้นจะเป็นการก่อหนี้ไปเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพมากกว่าการเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งน่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไปมากกว่า
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการก่อหนี้เพิ่มเติม เนื่องจากสถานะการทำงานและรายได้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แม้ในปี 2565 จะยังคงเห็นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเติบโตต่อเนื่อง แต่น่าจะเป็นอัตราการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจมากขึ้น ภายใต้สมมุติฐานที่ความเสี่ยงจากโควิดจะถูกจำกัดวงไว้ได้อย่างทันท่วงที และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถประคองทิศทางการฟื้นตัวได้ ดังนั้นจึงยังคงตัวเลขประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2565 ที่กรอบ 90-92 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี โดยสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ในปี 2564 ที่ 90.5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทั้งโครงการคนละครึ่ง หรือยิ่งใช้ยิ่งได้ และแม้ว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณว่า โครงการที่จะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนอย่างโครงการคนละครึ่งเฟส 4 จะมีแน่นอน และจะเริ่มใช้ประมาณเดือนมีนาคม แต่นั่นอาจช้าเกินไปสำหรับประชาชนที่กำลังเดือดร้อน เมื่อสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบันเริ่มรุมเร้าทุกทิศทาง
เริ่มต้นเดือนแรกในปีเสือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นปีเสือที่ดุเอาเรื่อง เมื่อรัฐบาลมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้และรับมือให้ทัน เพราะไม่ใช่แค่ค่าครองชีพของประชาชนเท่านั้นที่กลายเป็นปัญหาที่เร่งเร้าอยู่ทุกขณะ แต่สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทำให้โควิดในไทยกำลังเข้าสู่ระลอกที่ 5 เสียแล้ว