เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อุตสาหกรรมส่งออกของไทยในปัจจุบันเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ต้องยอมรับว่าตัวเลขการส่งออกของไทยค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ นับจากการทยอยเปิดประเทศของประเทศคู่ค้าสำคัญ
กระนั้นสินค้าส่งออก 10 อันดับในช่วงครึ่งปีแรก กลับไม่ใช่ “ข้าว” แต่เป็นสินค้าในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม, ปศุสัตว์, ประมง) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าแร่และเชื้อเพลิง
ตัวเลขการส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน 2564) ที่ถูกเปิดเผยจากกรมศุลกากร พบว่า มีการส่งออกข้าวปริมาณ 2,167,591 ตัน มูลค่า 41,507 ล้านบาท หรือ 1,369.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณส่งออกลดลง 25.8% และมูลค่าลดลง 33.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 2,922,749 ตัน มูลค่า 62,041 ล้านบาท หรือ 1,980.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เรียกได้ว่า เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากของผู้ค้าข้าวเพื่อการส่งออก เมื่อต้องพบเจอกับปัญหาและอุปสรรครอบด้าน ทั้งคู่แข่งที่มากขึ้น อัตราค่าเงินบาทที่ส่งผลต่อราคาข้าว และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
หากจะย้อนไปในปี 2563 การส่งออกข้าวไทยพบว่ามีปริมาณรวม 5.72 ล้านตัน ซึ่งลดลง 24.54% แน่นอนว่าปัญหาและอุปสรรคยังคงเป็นเรื่องเดิมที่ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะตั้งเป้าการส่งออกข้าวไทยปีนี้ไว้ที่ 6 ล้านตัน กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564 มีปริมาณรวม 5,388,209 ตัน มูลค่า 95,234.4 ล้านบาท (3,015.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 2.56% แต่มูลค่าส่งออกลดลง 10.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 5,253,923 ตัน มูลค่า 106,785.8 ล้านบาท (3,422.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกข้าวล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า เป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเอาไว้นั้น ไทยอาจสามารถทำได้ตามเป้า
ทว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ อนาคตของข้าวเพื่อการส่งออกของไทยที่อาจเจอปัญหารุมเร้าหลายด้าน ทั้งสภาพภูมิอากาศที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเวลานี้ กับปรากฏการณ์ลานีญา เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนและจะกระทบต่อภาคการเกษตรอาจไม่ได้ปริมาณผลผลิตตามที่ต้องการ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบังคับใช้กฎหมายก๊าซเรือนกระจกของอียูและประเทศตะวันตก ภายใน 3-5 ปี เพราะการทำนาโดยวิธีการปล่อยน้ำขังมีการปล่อยก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศสูงมาก และนั่นถือว่ารุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า โดยข้อกำหนดของสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคต จำเป็นที่จะต้องเป็นสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดการทำลายชั้นบรรยากาศโลก และผู้ส่งออกต้องอธิบายขั้นตอนการผลิตในรูปแบบของคาร์บอนเป็นศูนย์ต่อประเทศผู้นำเข้าอย่างชัดเจน แน่นอนว่าไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกอย่างจริงจังในเร็ววัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีคาร์บอนที่อาจจะกระทบต้นทุนของข้าวในอนาคต
นอกจากนี้ ประเด็นคู่แข่งของผู้ส่งออกไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถละเลยได้ ไทยมีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง อินเดีย เวียดนาม และปากีสถาน ที่กำลังเร่งพัฒนาข้าวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดสำคัญของไทย เพราะดูจากสถิติของปี 2563 อินเดียสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ที่ 14 ล้านตัน เวียดนาม อันดับ 2 ที่ 6.3 ล้านตัน และอันดับ 3 คือ ไทย 5.72 ล้านตัน ปากีสถาน อันดับ 4 ที่ 4 ล้านตัน แต่จากปัจจัยที่รุมเร้ามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 4 ตามหลังปากีสถาน ที่เบียดขึ้นมาอยู่ที่ 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาข้าวไทย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้ว ข้าวไทยมีราคาที่สูงกว่า แม้จะมีคุณภาพดีกว่าก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ราคาข้าวไทยในปี 2565 น่าจะให้ภาพการเติบโตที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย จากปัจจัยหนุนสำคัญที่คาดว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ผนวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยหนุนการส่งออกข้าวไทยให้ดีขึ้นได้ในภาวะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตในเกณฑ์ดี
ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศน่าจะมีรองรับมากขึ้นตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ราคามีโอกาสขยับขึ้นได้ แต่คงอยู่ในกรอบแคบๆ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่รุนแรงและสถานการณ์โควิด-19 จากเชื้อกลายพันธุ์ (Omicron) ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ราคาข้าวเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในปี 2565 อาจอยู่ที่ราว 8,900-9,400 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 1.6 ถึงขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบเวลาเดียวกันกับปีก่อน นับเป็นราคาที่กระเตื้องขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 แต่คงเป็นการเติบโตบนฐานที่ต่ำ จึงนับว่ายังเป็นระดับราคาที่ต่ำและให้ภาพราคาที่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากปี 2564 มากนัก (ราคาข้าวเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีในช่วงปี 2559-2563 อยู่ที่ 10,259 ต่อตัน)
โดยปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคากระเตื้องขึ้นได้น่าจะมาจากปัจจัยด้านอุปทานที่คาดว่าปัญหา Supply Disruption จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกน่าจะคลี่คลายมากขึ้นในช่วงหลังกลางปี 2565 ซึ่งสมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ หรือ BSAA คาดว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูง อาจมีความเป็นไปได้ที่ยังคงต้องเผชิญปัญหานี้ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2565 โดยเฉพาะเส้นทางหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่อาจจะเผชิญปัญหาความล่าช้าจากปกติที่ใช้เวลา 6 เดือน อาจขยายเป็น 1-2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าตั้งแต่หลังกลางปี 2565 ปัญหาดังกล่าวน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้
ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยหนุนให้การส่งออกข้าวไทยอาจทำได้ดีขึ้นท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่น่าจะมีรองรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และอุปสงค์จากต่างประเทศตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหารและข้าวเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค อันทำให้ภาพของราคาข้าวไทยน่าจะสามารถเติบโตกระเตื้องขึ้นได้ในภาวะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตข้าวที่อยู่ในระดับสูง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยตามวงรอบของปรากฏการณ์ลานีญา และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นเฉพาะหน้าของภาครัฐที่จูงใจให้เกษตรกรยังคงมีการปลูกข้าวต่อไป
ปัจจุบันไทยมียุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2563-2567 ที่มีเป้าหมายในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยมีพันธกิจที่สำคัญ 4 ด้าน คือ ด้านการตลาดต่างประเทศ ด้านการตลาดภายในประเทศ ด้านการผลิตที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การตอบสนองความต้องการของตลาดเป็นหลัก และด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว
แต่คงต้องดูกันต่อไปว่า ปัจจัยแวดล้อม ปัญหารุมเร้าที่จะส่งผลต่ออนาคตข้าวไทยทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งพัฒนาและปรับปรุงอย่างไร เพราะเพียงแค่ตำแหน่งข้าวที่ดีที่สุดในโลกจากงานประกวดข้าวโลกประจำปี 2564 ไม่อาจการันตีได้ว่า อนาคตข้าวไทยจะสวยงาม