วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > “แมลงกินได้” แหล่งโปรตีนชั้นยอด เทรนด์อาหารแห่งอนาคต

“แมลงกินได้” แหล่งโปรตีนชั้นยอด เทรนด์อาหารแห่งอนาคต

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานความปลอดภัยอาหารสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ออกแถลงการณ์ขึ้นทะเบียนให้ “ตั๊กแตน” เป็นอาหารชนิดใหม่ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์

นั่นทำให้ตั๊กแตนกลายเป็นอาหารของชาวโลกอย่างเป็นทางการ ต่อจากหนอนนกแบบแห้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีจิ้งหรีดทองแดงลายหรือจิ้งหรีดขาวรอต่อคิวขึ้นทะเบียนเป็นรายต่อไป

ในรายงานของอีซีระบุไว้ด้วยว่าการจำหน่ายตั๊กแตนในตลาดของสหภาพยุโรปนั้นจะเป็นในรูปแบบของอาหารแห้ง อาหารแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว หรือเครื่องปรุงรสแบบผง โดยผลิตภัณฑ์ทุกประเภทต้องนำขาและปีกของตั๊กแตนออกให้หมดเสียก่อน

การบริโภคแมลงไม่ใช่เรื่องใหม่ของไทย เราคุ้นชินกับการบริโภคแมลงนานาชนิดมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีด หนอนรถด่วน แมงดา หรือดักแด้ไหม ทั้งในฐานะอาหารพื้นถิ่นตามแต่ละภาค หรือในยุคที่ตั๊กแตนปาทังก้าทอดร้อนๆ เหยาะซอส โรยพริกไทยเป็นของกินเล่นแสนเพลิน จนกระทั่งปัจจุบันที่แมลงทอดหรือแมลงอบกรอบถูกบรรจุถุงวางขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าต่างๆ มากมาย

แต่สำหรับโลกตะวันตกการบริโภคแมลงเริ่มเป็นที่นิยมช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในฐานะเป็นแหล่งโปรตีนของอาหารแห่งอนาคต

องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ระบุว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวนมากถึง 9.7 พันล้านคน และอาหารที่จะเลี้ยงประชากรโลกทั้งหมด ณ เวลานั้นจะต้องเพิ่มขึ้นทวีคูณ ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมีการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก ทำฟาร์มปศุสัตว์ หรือเพิ่มพื้นที่การทำประมง เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร ในขณะที่จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นทำให้พื้นที่กลับถูกนำมาใช้เป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่าในอนาคตโลกจะไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของมนุษย์ การแสวงหาแหล่งอาหารทดแทนเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง

ซึ่งนั่นทำให้ “แมลงกินได้” หรือ Edible Bug กลายมาเป็นอาหารทางเลือกที่สำคัญ และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพาะเลี้ยงง่าย ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไป ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาหารแห่งอนาคต” เลยทีเดียว โดยในปี 2556 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ประกาศให้ “แมลง” เป็นแหล่งโปรตีนสำรองสำหรับมนุษย์

แมลงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีนที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าเนื้อสัตว์อย่างหมู ไก่ ปลา หรือวัวเลย อีกทั้งยังมีไขมัน วิตามิน ไฟเบอร์ และแร่ธาตุต่างๆ ทั้ง แคลเซียม เหล็ก และสังกะสี ซึ่งสารอาหารในแมลงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุ และอาหารที่แมลงนั้นๆ กินด้วย

บนโลกใบนี้มีแมลงเกือบล้านชนิด และมีแมลงที่สามารถรับประทานได้ประมาณ 2,000 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเขตร้อนชื้นที่มีสภาพอากาศที่เหมาะกับการเพาะพันธุ์ของแมลง ส่วนแมลงที่คนไทยรู้จักและนิยมนำมารับประทาน ได้แก่ แมลงกินูน แมลงดานา (หรือที่มักเรียกกันว่าแมงดา) แมลงกุดจี่ มดแดง ตัวอ่อนของต่อและผึ้ง จิ้งโกร่ง จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงตับเต่า ต่อหลุม ดักแด้ไหม แมลงมัน หนอนไม้ไผ่ เป็นต้น

ส่วนวิธีการนำมาบริโภคแบบไทยเราก็เช่น ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก แกง ยำ หรือเอาตำใส่น้ำพริก ทีนี้เราลองมาดูกันว่าถ้าวัดที่น้ำหนัก 100 กรัม แมลงตัวจิ๋วแต่ละชนิดมีสารอาหารอะไรกันบ้าง

จิ้งโกร่ง ให้พลังงาน 188 กิโลแคลอรี โปรตีน 17.5 กรัม ไขมัน 12 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.4 กรัม

จิ้งหรีด ให้พลังงาน 133 กิโลแคลอรี โปรตีน 18.6 กรัม ไขมัน 6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม

ดักแด้ไหม ให้พลังงาน 152 กิโลแคลอรี โปรตีน 14.7 กรัม ไขมัน 8.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.7 กรัม

ตั๊กแตนปาทังก้า ให้พลังงาน 157 กิโลแคลอรี โปรตีน 27.6 กรัม ไขมัน 4.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1.2 กรัม

แมลงกินูน ให้พลังงาน 98 กิโลแคลอรี โปรตีน 18.1 กรัม ไขมัน 1.8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม

แมงป่อง ให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี โปรตีน 24.5 กรัม ไขมัน 2.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.8 กรัม

หนอนไม้ไผ่ ให้พลังงาน 231 กิโลแคลอรี โปรตีน 9.2 กรัม ไขมัน 20.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.5 กรัม

ไม่เพียงมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงสวนทางกับขนาดตัวอย่างที่เรียกว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” เพียงเท่านั้น แต่การเพาะเลี้ยงแมลงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่าง ไก่ หมู วัว อีกด้วย เพราะการทำปศุสัตว์ต้องใช้พื้นที่ ตลอดจนทรัพยากรทั้งอาหารและน้ำในการเลี้ยงมาก และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการเลี้ยงแมลงอีกหลายเท่าตัว

แม้ว่าในปัจจุบันความนิยมบริโภคแมลงยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่และในบางวัฒนธรรม แต่การเติบโตของตลาดแมลงกินได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุดองค์กรวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) ได้เปิดตัวแผนส่งเสริมการเติบโตเชิงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมแมลงกินได้ พร้อมคาดการณ์ว่า ในปี 2023 ตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1,400 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยมียุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำตลาดแถบตะวันตก อีกทั้งยังระบุไว้ด้วยว่า ปัจจุบันมีประชากรกว่า 2,000 ล้านคน จาก 130 ประเทศทั่วโลกที่บริโภคแมลง

ในขณะที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกแมลงอันดับต้นๆ ของโลก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตแมลง หรือ “ฮับแมลงโลก” เพื่อรับกับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) ที่เกิดขึ้น

ข้อได้เปรียบของไทยคือการมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์แมลงหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาบริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่คนไทยและประเทศในแถบเอเชียนิยมนำมาบริโภค อีกทั้งยังเริ่มเป็นที่นิยมของชาวยุโรปเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อส่งออกมากขึ้น เพราะเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และน้ำในการเลี้ยงน้อย ต้นทุนไม่สูง และเหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองไทย โดยตัวเลขในปี 2561 ระบุว่า ไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดกว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตประมาณ 700 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น ทั้งในรูปแบบของจิ้งหรีดแช่แข็ง แปรรูป และบดเป็นผงสำหรับผสมอาหาร นับเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจได้เป็นอย่างดี นอกจากจิ้งหรีดแล้ว ไทยยังมีศักยภาพและความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้อีกหลายชนิด ทั้งตั๊กแตน หนอนไหม หรือแมลงดานา

ซึ่งนับเป็นความโชคดีของไทยที่อุดมไปด้วยแมลงกินได้หลากหลายชนิด เพราะเป็นทั้งแหล่งอาหารที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และยังเป็นช่องทางที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต

เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่สะดวกใจที่จะรับประทานแมลง แต่ลองเปิดใจดูสักครั้ง ไม่แน่ว่าการเดินเข้าร้านสะดวกซื้อครั้งต่อไป ของกินเล่นที่หยิบติดมือออกมาอาจจะเป็นแมลงทอดกรอบสักถุงก็ได้

ใส่ความเห็น