วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > จากจีดีพีติดลบ สู่หนทางฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

จากจีดีพีติดลบ สู่หนทางฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

งวดเข้ามาทุกทีกับช่วงเวลาที่เหลือของศักราชนี้ หลายคนเฝ้ารออย่างมีความหวังว่าปีแห่งความทุกข์ยากนี้จะผ่านพ้นไปเสียที ทั้งสถานการณ์อันเลวร้ายของภาวะโรคระบาด สภาพความถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือความแร้นแค้นที่ดูจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การฝากความหวังไว้กับศักราชใหม่ดูจะไม่ผิดนัก เมื่อสถานการณ์ในหลายด้านเริ่มคลี่คลาย และพอจะมองเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อรายวันลดลงจนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้เกือบปกติ ซึ่งเรื่องดีนี้ส่งผลต่อความมั่นใจทั้งของประชาชนในฐานะผู้บริโภค และผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม

กระนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพลิกตัวเลขติดลบของจีดีพีไทยในไตรมาส 3/2564 ให้กลับมาบวกในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงรายได้จากต่างประเทศมากกว่าในประเทศเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงข่าวเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ว่ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ -2.6

การปรับลดลงของจีดีพีในไตรมาสปัจจุบันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงก่อนหน้า การระมัดระวังในการจับจ่ายของประชาชน หรือการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ลดลง เป็นปัจจัยหลัก เช่น การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 14.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 13.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

หรือการลงทุนในภาพรวม ลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อน ตามการลงทุนภาครัฐที่ลดลงร้อยละ 6.0 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อน

ทว่า อุตสาหกรรมที่ดูจะเติบโตสวนทาง นั่นคือการส่งออกของไทยขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 36.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
สภาพัฒน์มองแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 ในช่วงที่เหลือว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.5 ต่อจีดีพีเทียบกับการเกินดุลร้อยละ 4.0 ต่อจีดีพีในปี 2563

นอกจากนี้ ยังมองไปถึงศักราชหน้าว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงและความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน 2. การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ 3. การขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีของการส่งออกสินค้า 4. การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐและ 5. ฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ

ความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต สภาพัฒน์มองว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 7 ประการดังต่อไปนี้ 1. การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด ที่ครอบคลุมการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค

2. การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยมีการเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวและการประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และการดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

4. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งความสร้างเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจรวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ (vi) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ (vii) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

6. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ 7. การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่เป็นกังวลไม่แพ้กัน คือหนี้ครัวเรือนและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลการว่างงานล่าสุดพบว่า เพิ่มขึ้นตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 ขณะที่พบว่า ผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.63 รองลงมาเป็น ปวส. ร้อยละ 3.16 ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปคือ 1. การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2. ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 3. ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4. การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานาน และการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน 5. การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง

ด้านหนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2564 มีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ดูเหมือนเวลานี้ แม้รัฐบาลคล้ายจะมีชัยชนะเหนือโรคระบาดด้วยการกระจายวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนในประเทศ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันได้เป็นอย่างดี ทว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามที่จะนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

คงต้องบอกว่าการก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตนี้ไม่ง่าย และกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มสูบเพื่อให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมพลิกขึ้นมาเป็นบวกในทันทีก็คงไม่ง่าย แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา

ใส่ความเห็น