วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ภาคเอกชน-ประชาชนเชื่อมั่นบวก เข็นจีดีพีไทยขึ้นภูเขา

ภาคเอกชน-ประชาชนเชื่อมั่นบวก เข็นจีดีพีไทยขึ้นภูเขา

นโยบายเปิดประเทศ และการปลดล็อกมาตรการต่างๆ ที่เคยนำมาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายรอคอย ทั้งภาคเอกชนและประชาชน จากมุมมองที่ว่านโยบายและมาตรการที่รัฐบาลพึงใช้ในยามนี้น่าจะเป็นการสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้เป็นอย่างดี

เมื่อดูจากจำนวนเที่ยวบินที่เกิดขึ้นในวันที่เปิดประเทศ (1 พ.ย. 2564) พบว่ามีสายการบินแจ้งทำการบินประมาณ 260 เที่ยวบิน และเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 91 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารเดินทางมาที่สนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 20,083 คน ซึ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 6,613 คน

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังคาดการณ์ว่าตลอดเดือนพฤศจิกายนน่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 12,133 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 6,501 เที่ยวบิน สำหรับผู้โดยสารคาดว่าจะมีมากกว่า 7 แสนคน ผู้โดยสารระหว่างประเทศอาจจะมีประมาณ 2.7 แสนคน

แม้ว่าการเดินทางของประชาชน กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชนหลังประกาศใช้นโยบายดังกล่าว เสมือนเป็นการคลายความอัดอั้นของคนไทยจำนวนหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของผู้บริโภค และผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเกิดจากความความเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ แน่นอนว่าส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจทุกระดับในท้ายที่สุด

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.5-1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.0-1.0% เนื่องจากนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชน ช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564

โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 37.8, 40.3 และ 53.5 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 41.4 เป็น 43.9

นอกจากนี้ ยังได้เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 19.9 เนื่องจากภาคเอกชนมองว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การปรับเวลาเคอร์ฟิวและการมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับการส่งออกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนดีขึ้น โดยมองว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.2

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หลังจากที่ทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดและการเดินทางข้ามจังหวัด การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศทำให้คนไทยเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

จากผลสำรวจความต้องการท่องเที่ยวในประเทศ สะท้อนว่า กว่า 73.7% ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ต้องการเดินทางท่องเที่ยวมากถึงมากที่สุด ซึ่งหากทางการสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และไม่กลับมาระบาดอีกระลอกอย่างรุนแแรงจนส่งผลกระทบต่อการเดินทาง น่าจะเป็นปัจจัยหนุนที่ดีสำหรับทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงฤดูการท่องเที่ยวที่จะถึงนี้

แต่การฟื้นตัวน่าจะยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังไม่น่าจะกลับมาพลิกฟื้นเป็นบวกเนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์โควิดในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งยังเสี่ยงสูง ขณะที่ในหลายจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด โดยนักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือกรณีที่นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ได้รับวัคซีนครบอาจจะต้องตรวจ ATK

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงฤดูการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอาจจะมีจำนวน 29.1 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 14.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ดีขึ้นจากค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 3.8 ล้านคน-ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม ถึงตุลาคม 2564 และส่งผลทำให้ทั้งปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 66.71 ล้านคน-ครั้ง หดตัวประมาณ 26.3% จากปี 2563 นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยทั้งปี 2564 นี้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 296,895 ล้านบาท หดตัวประมาณ 38.2% จากปี 2563 ขณะที่ทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2565 หากไม่มีการระบาดหนักอีกจนทำให้ทางการต้องใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2564 คาดว่าการท่องเที่ยวในประเทศน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 109-155 ล้านคน-ครั้ง

นอกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคเอกชนที่ดูจะมีกระแสบวกขึ้นมาหลังการเปิดประเทศ กิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติในห้วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเร่งให้เกิดแรงส่งต่อจีดีพีในไตรมาสสุดท้าย แน่นอนว่า อีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและยังคงตัวเลขบวกเสมอคือ ภาคการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อีกประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การเข้าร่วม CPTPP ของไทย และแน่นอนว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนที่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมอีกครั้งน่าจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการประเมินว่า หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจน จากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวมปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นที่ของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหว ที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากล ไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทย ที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

หลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในห้วงยามนี้ ทั้งการท่องเที่ยวที่พอจะมองเห็นสัญญาณบางอย่างในทางที่สดใสขึ้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์อันหดหู่ก่อนหน้า รวมไปถึงความเชื่อมั่นทั้งภาคประชาชนและเอกชนที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ยังคงเติบโตได้เป็นอย่างดี ปัจจัยเหล่านี้อาจจะเป็นมูลเหตุให้ภาครัฐคาดหวังว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้มีการตั้งเป้าหมายที่สูงมากในปีหน้า โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพี ที่หลายฝ่ายตั้งเป้าว่าจะมีโอกาสขยายตัวได้สูงถึง 6-8%

ทว่า เมื่อพิจารณาตัวเลขจีดีพีที่ติดลบ 6% ในช่วงปี 2562 ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสอย่างรุนแรงผนวกกับการถดถอยทางเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ตัวเลขที่ภาครัฐคาดหวังว่าศักราชหน้าจีดีพีไทยจะเติบโตได้สูงถึง 6-8% นั้น จะต้องใช้แรงเข็นเพิ่มอีกเท่าไร เมื่อโอกาสและความเป็นไปได้ดูยังห่างไกลพอสมควร

แต่หากตัวเลขจีดีพีปีหน้าไม่ใกล้เคียงกับเป้าประมาณการที่ตั้งไว้ นั่นอาจจะหมายถึงประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น