โควิด-19 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไทยหากนับเป็นมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่าสิบล้านล้านบาท โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ตัวแปรสำคัญที่ฉุดให้สถานการณ์โดยรวมทรุดหนักลง และนำมาสู่การล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้มรวม 29 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 77 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศ
ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นกับทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่สภาพัฒน์เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกของปี 2564 ว่ามีมูลค่าหนี้สูงถึง 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของไตรมาสแรกปี 2563 หากคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีแล้วพุ่งสูงถึง 90.5 เปอร์เซ็นต์
เมื่อภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบความสามารถในการจับจ่ายลดน้อยลง ด้านค้าปลีกสาหัสไม่แพ้กัน เมื่อดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 16.4 เป็นการลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ติดลบ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการลดลงของยอดขายสาขาเดิมเดือนกรกฎาคมปีนี้ การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมเกิดจากทั้งยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ และความถี่ในการจับจ่ายลดลงพร้อมกันทั้งคู่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 270,000 ล้านบาท และมีกิจการกว่า 100,000 ร้านค้าเตรียมปิดกิจการ แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่าล้านคน เป็นภาพสะท้อนว่าการฟื้นตัวให้กลับสู่สภาพเดิมอาจต้องใช้เวลา
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจสปา นวดแผนไทย สถานบันเทิง และธุรกิจโรงแรม ที่มีการปิดกิจการถาวรมากที่สุด โดยเฉพาะการระบาดในระลอก 3 ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวมีการเปิดบริการเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมีการปิดกิจการชั่วคราว 35 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 22 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ปิดกิจการถาวรถึง 4 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 1 เปอร์เซ็นต์
นอกจากวัคซีนจะเป็นความหวังในการเริ่มต้นใหม่แล้ว มาตรการผ่อนคลายที่เพิ่งประกาศใช้จากภาครัฐดูจะเป็นตัวกระตุ้นและน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจได้ดีในยามนี้ คล้ายกับการปลุกสัญญาณชีพที่เกือบจะหยุดเดินไปแล้วให้กลับมาโลดแล่นได้อีกครั้ง
หลายกิจการกิจกรรมที่ได้รับการเห็นชอบจาก ศบค. ให้กลับมาเปิดดำเนินกิจการน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากค่อยขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี ภาคธุรกิจต่างตอบรับและสร้างความพร้อม โดยเฉพาะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับการเข้าใช้บริการของผู้บริโภค
เช่น โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ที่ออกมาตรการของตัวเองด้วยการให้พนักงานที่จะกลับเข้ามาทำงานได้รับวัคซีน 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมตั้งจุดตรวจคัดกรองก่อนให้บริการลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ พนักงานทุกคนต้องผ่านการตรวจ ATK ก่อนเริ่มงาน และมีการตรวจเป็นประจำทุกสัปดาห์ ด้านความสะอาด มีการทำความสะอาดพื้นที่สัมผัสด้วยแอลกอฮอล์ทุกพื้นที่ มีการฆ่าเชื้อโรคด้วยเครื่อง UVC และอบโอโซนในโรงภาพยนตร์ทั้งก่อนและหลังให้บริการ การเว้นระยะห่างภายในโรงภาพยนตร์ด้วยการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง ระหว่างแถวจัดที่นั่งแบบสลับฟันปลา และใช้วิธีการจ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสด
ขณะที่คำสั่งผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้เปิดกิจการกิจกรรมได้ เป็นความหวังใหม่ของบรรดาผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ แม้จะยังไม่มีใครตอบได้ว่าหลังจากกลับมาดำเนินธุรกิจตามเดิมได้แล้ว รายได้ที่จะเข้ามาในอนาคตจะสามารถชดเชยกับเม็ดเงินที่สูญไปได้หรือไม่ หรือต้องใช้ระยะเวลาอีกนานเท่าไรกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ
วิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างบาดแผลให้แก่เศรษฐกิจไทย สถานการณ์ในปัจจุบันยังคงหนักหน่วง ภัยจากธรรมชาติดูจะเข้ามากระหน่ำซ้ำเติมให้ชอกช้ำมากขึ้น อุทกภัยที่หลายคนกำลังเป็นกังวลว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 เมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่
ผลจากพายุเตี้ยนหมู่ ที่เข้ามาถล่มไทยตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำป่า น้ำหลาก เข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ว่ามีจังหวัดเกิดอุทกภัยทั้งสิ้น 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี) แม้จะมีบางจังหวัดที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายไปแล้ว และยังเหลืออีก 18 จังหวัดที่ยังต้องเผชิญชะตากรรม
แม้จะยังไม่มีการประเมินตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นในเวลานี้อย่างเป็นทางการก็ตาม ทว่า หลายคนยังอกสั่นขวัญแขวนจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ โดยธนาคารโลกเคยประเมินว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น นับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย ที่คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้วนั่นคือ อุทกภัยที่เกิดขึ้นปีนี้เป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติ ผลจากพายุที่ทำให้เกิดฝนตกติดต่อกันกินเวลาหลายวันจนปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นและไม่สามารถระบายออกไปสู่ช่องทางตามธรรมชาติได้ทันเวลา
ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 เกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ตามเขื่อนผิดพลาด ในเวลานั้นไม่มีพายุมาเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมเหมือนกับปีนี้
ทั้งวิกฤตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุทกภัย คงจะกลายเป็นงานช้างที่ภาครัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ ทั้งมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยในส่วนนี้จะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังฯ ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือการพักชำระหนี้ที่แม้จะมีการให้ความช่วยเหลือไปแล้วก่อนหน้านี้ ทว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนไป ผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากวิกฤตโควิดที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ยังถูกภัยธรรมชาติเข้าซ้ำเติม เรียกได้ว่า นี่เป็นวิกฤตในวิกฤตที่ไม่มีใครอยากเจอ