วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > อีด่าง อีแดง กระอ่วม 78 ปีก่อนปลดล็อก

อีด่าง อีแดง กระอ่วม 78 ปีก่อนปลดล็อก

“กระท่อม” เป็นไม้ยืนต้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) จัดอยู่ในตระกูล รูเบียซีอี (Rubiaceae) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย มลายู จนถึงเกาะนิวกินี จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10 -15 เมตร ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร (ซม.) ยาว 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.

ปัจจุบันแหล่งที่พบและกลายเป็นแหล่งผลิตส่งกระจายขายไปทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยมี 3 พันธุ์หลัก คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามพื้นที่ปลูก เช่น ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม และมีอีกหลายชื่ออย่างในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) หรือคีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือเบียก (Biak) ลาวเรียก ไนทุม (Neithum) อินโดจีน เรียก โคดาม (Kodam)

สมัยโบราณกระท่อมเป็นพืชที่ใช้เป็นตัวยาในตำรับยาพื้นบ้านหรือหมอโบราณ แก้ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้นอนหลับและระงับประสาท

แต่มีอาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ นอนไม่หลับ ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทำให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน หรือเรียกว่า เมากระท่อม บางรายเสพเพียง 3 ใบ ทำให้เมาได้ ในรายที่เสพใบกระท่อมมากๆ และเป็นเวลานาน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีบริเวณผิวหนัง ผิวคล้ำเข้มขึ้น บางรายมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

ปี 2486 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ห้ามปลูกและครอบครอง รวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ และมีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น รัฐจึงออกกฎหมายควบคุมเพื่อเก็บภาษี
ต่อมาทางการออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดประเภท 5 ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-150,000 บาท ครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จนกระทั่งวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษให้มีผลบังคับใช้ 90 วันนับแต่วันประกาศ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 สิงหาคม 2564

นับจากวันนั้น ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน ซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย

Related Story

1. ถึงคิว “กระท่อม” โกอินเตอร์ ปั่นราคาเจาะตลาดส่งออก

ใส่ความเห็น