ตลาดร้านขายยากลับมาเติบโตมากกว่าเท่าตัว เมื่อผู้คนแห่ซื้อตุนยาและอาหารเสริมป้องกันไวรัสทุกรูปแบบ ชนิดที่ดรักสโตร์หลายร้านต้องเร่งปรับกลยุทธ์รอบใหญ่ เพื่อช่วงชิงการขาย รวมถึงเตรียมพร้อมเป็นจุดกระจายชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) ตามแผนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีก 8.5 ล้านชุด ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น บอร์ด สปสช. ยังมีมติเร่งจัดหายาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติมและมีแนวคิดจะดึงเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศร่วมเป็นจุดส่งต่อยาในบางส่วน เพื่อแก้ปัญหาจำนวนหน่วยบริการสาธารณสุขไม่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยโควิดจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงยาและมองสถานการณ์การแพร่ระบาดยังรุนแรงต่อเนื่องอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2564 โดยวางแผน “ก๊อกสอง” ขอให้ร้านขายยามาช่วยทำ Home Isolation เช่น ให้คำปรึกษา ติดตามอาการ เพราะผู้ป่วยโควิดหลายรายไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก สามารถดูแลตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม หากมองกระแสธุรกิจร้านขายยาเริ่มกลับมาคึกคักมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอย่างหนัก หลายร้านเข้าร่วมโครงการของรัฐ ทั้งเราชนะ คนละครึ่ง ม.33 เรารักกัน ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายอย่างดี
ขณะที่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยปลดล็อกการจำหน่ายชุดตรวจ ATK มีเครือข่ายร้านขายยาขนาดใหญ่เร่งสั่งซื้อสินค้ารองรับความต้องการ แม้ราคาสูงมากเกือบ 400 บาทต่อชุด เช่น เครือข่ายร้านยากรุงเทพที่มีสาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 100 แห่ง ทั้งสาขาที่บริษัทลงทุนเองและสาขาแฟรนไชส์ โดยถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่เปิดจำหน่ายชุดตรวจ ATK ราคาจำหน่ายชุดละ 380 บาท และจัดโปรโมชั่นสมัครสมาชิกรับราคาพิเศษทันทีเหลือ 320 บาท ซึ่งช่วยเพิ่มยอดสมาชิกหลายเท่าตัว
หลังจากนั้นมีอีกหลายรายค่อยๆ ทยอยเปิดจำหน่ายตามมา เช่น P&F Smooth Life ของกลุ่มสยามเฮลท์ กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากระดับพรีเมียม “เดนทิสเต้” และผลิตภัณฑ์เวชสำอาง “สมูทอี” ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส ในเครือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปิดให้ลูกค้าสั่งจองผ่านช่องทางออนไลน์และขายหน้าร้านในราคาชุดละ 295 บาท
ขณะเดียวกัน ร้านขายยายังถือเป็นกิจการพื้นฐานที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ได้รับการยกเว้นให้เปิดบริการได้ในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ซึ่งช่วยให้ชั่วโมงการขายไม่ได้ถูกลดลง
หากย้อนดูข้อมูลการสำรวจของศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ประเทศไทยมีช่องทางการจำหน่ายยา 2 ช่องทางหลัก คือ 1.ช่องทางจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล หรือระบบสวัสดิการสาธารณสุขของรัฐที่ครอบคลุมข้าราชการและผู้ขอรับสวัสดิการส่วนใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการจำหน่าย 80% ของตลาดยาทั้งหมดที่มีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐสัดส่วน 60% และโรงพยาบาลเอกชนสัดส่วน 20%
2. การจำหน่ายยาผ่านร้านขายยา (Over-The-Counter: OTC) มีสัดส่วนมูลค่าการจำหน่ายยา (OTC drug) ประมาณ 19-20% ของมูลค่าตลาดยารวม
ทว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดทำให้สัดส่วนตลาดดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากหลายโรงพยาบาลต้องรับเคสผู้ป่วยโควิดจำนวนมากและเกิดเหตุบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจนต้องหยุดให้บริการผู้ป่วยทั่วไป ทำให้คนไทยต้องหันมาซื้อยาจากร้านขายยามากขึ้น
ด้านจำนวนร้านขายยาประเภทต่างๆ ทั่วประเทศไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 20,516 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ 25% และต่างจังหวัด 75% แบ่งเป็นร้านขายยาเดี่ยว (Stand-alone) ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายกลางและเล็ก (SME) มีสัดส่วนกว่า 80% ของจำนวนร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งหมด และร้านขายยาของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสาขา (Chain store) เช่น ร้านบู๊ทส์ ร้านขายยาฟาสซิโน ร้านขายยา Save Drug (เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ) ร้านยากรุงเทพ โดยมีการลงทุนทั้งในรูปแบบการลงทุนเองและการขยายธุรกิจในรูปของแฟรนไชส์
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) เช่น ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าสะดวกซื้อ และกลุ่มร้านค้าเฉพาะในหมวดสินค้าสุขภาพ แตกไลน์ธุรกิจเพิ่มโซนจำหน่ายสินค้าในกลุ่มยาและเวชภัณฑ์ ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง เช่น ร้านเอ็กซ์ต้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านเพียวในบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ร้านยาในห้างโลตัส
ร้านขายยาในกลุ่มโมเดิร์นเทรดเหล่านี้เน้นการจัดร้านทันสมัย สินค้าหลากหลายกลุ่มและเสริมจุดแข็งด้านบริการ โดยเฉพาะการเปิดช่องทางปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ เช่น ร้านบู๊ทส์เปิดตัวบริการ Talk to Pharmacist ให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพจากเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ แบบ O2O (Online to Offline)
ปัจจุบันบู๊ทส์มีสาขาทั่วประเทศ 240 แห่ง มีเภสัชกร 288 คน พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ และตอบปัญหาแบบส่วนตัว ทั้งเรื่องโควิด-19 โรคประจำตัว สุขภาพผิวพรรณและการดูแลสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งเภสัชกรจากบู๊ทส์ผ่านการอบรมความรู้ด้านสุขภาพและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ COVID-19 จากดับเบิ้ลยูบีเอเครือข่ายระดับโลก และบู๊ทส์ ประเทศไทย เป็นประจำทุกสัปดาห์
ขณะเดียวกัน ความต้องการเวชภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อยังหนุนให้บรรดาบริษัทผู้นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ทำรายได้เติบโตสูงมาก
สุนทรี จรรโลงบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ TM ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ กล่าวว่า บริษัทและพันธมิตรทางธุรกิจ ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการจำหน่ายชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเองแบบเร่งด่วน (Rapid Antigen Test) ยี่ห้อ Humasis จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งล่าสุดมียอดคำสั่งซื้อมากกว่า 70 ล้านบาท และความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังได้ใบอนุญาตการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้โรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 1,000 แห่ง
สำหรับเทคโนเมดิคัลถือเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโควิดรายใหญ่ มีทั้งเจลล้างมือ PURELL หน้ากาก Life 3D Surgical Mask ชุด PPE ผลิตภัณฑ์ Ara Dry Shampoo เช็ดทำความสะอาดผิวกาย แผ่นเช็ดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ V-Wipes ผลิตภัณฑ์ Aircraft Odor Eliminator สเปรย์ปรับอากาศฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 99.99% ผลิตภัณฑ์ Fresh & Clean 3 in 1 สเปรย์ปรับอากาศ ฆ่าเชื้อโรค และขจัดกลิ่น แบรนด์ Callington
ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ Netbiokem DSAM+ Hospital Grade Disinfectant น้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย Covid-19 เครื่องฟอกอากาศ M-One กำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และฝุ่นพิษ PM 2.5 รวมถึงเครื่องผลิตออกซิเจน
ล่าสุด บริษัทปรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลังจะเพิ่มการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเตรียมเปิดตัวอุปกรณ์ควบคุมการไหลของออกซิเจน (Oxygen High Flow) และเครื่องผลิตออกซิเจนความเข้มข้นสูง (Oxygen Concentrator) เพราะมีความต้องการมากในการดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19
ด้านเครือสหพัฒน์ ล่าสุดประกาศตั้งกลุ่มธุรกิจใหม่ SAHAGROUP Health Care & Wellness จัดกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ สินค้าอุปโภค เครื่องสำอาง อาหาร และยา อาทิ หน้ากากอนามัยแอนตี้ไวรัสและแบคทีเรีย หมอนบรรเทาอาการปวด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม ชุด PPE ชุดพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เสื้อผ้าฉลากเบอร์ 5 ชุดนอนแอนตี้ไวรัส ชุดสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผ้าเช็ดตัวต้านแบคทีเรีย ชุดพยาบาลและชุดกาวน์แพทย์ที่ช่วยป้องกันไวรัส ผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน น้ำแร่ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ
เบื้องต้น กลุ่มจัดทำเฟซบุ๊ก SAHAGROUP Healthcare & Wellness เพื่อติดต่อสื่อสารกับลูกค้า จัดกิจกรรมการตลาด และเครือสหพัฒน์ยังมีดรักสโตร์ ซูรูฮะ จำหน่ายสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์โควิดทุบธุรกิจล้มตายไปมาก แต่สำหรับกิจการร้านขายยาและร้านสุขภาพถือเป็นโอกาสสร้างยอดขายครั้งใหญ่ ภายใต้กลยุทธ์สำคัญ การรักษาจุดขายด้านคุณภาพและบริการ ไม่ใช่พวกแก๊งต้มตุ๋นหลอกขายฟ้าทะลายโจรปลอม เครื่องวัดออกซิเจนปลอม กอบโกยเงินบนความทุกข์ยากและสุขภาพชาวบ้าน ซึ่งไม่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง