ไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ห้ำหั่นกันระหว่างสองมหาอำนาจจากสองซีกโลกอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่อุบัติขึ้นนับตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี 2560
ผลพวงจากความพยายามที่จะดำเนินตามนโยบายที่นายทรัมป์หาเสียงไว้ นั่นคือ อเมริกันเฟิร์ส ส่งผลให้การค้ากับต่างประเทศต้องชะงัก แน่นอนว่าประเทศที่กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในครั้งนั้นคือ จีน เมื่อจีนกอบโกยเงินจำนวนมหาศาลกลับประเทศจากการส่งสินค้าจำนวนมากมาขายยังสหรัฐฯ
สหรัฐฯ เก็บภาษีเพิ่มจากสินค้านำเข้าจากจีน 25% ในระยะแรกเริ่มที่เครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมพลังงาน ต่อมาพิจารณาเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าประเภทเหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถไฟ และ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าเกษตร สิ่งทอ อุปกรณ์ก่อสร้าง ชิ้นส่วนรถยนต์
เรียกว่าหมัดแลกหมัด เมื่อจีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 25% จากสินค้าที่มาจากสหรัฐฯ จำนวน 545 ราย เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตร รถยนต์ ผลิตภัณฑ์จากทะเล รวมมูลค่ากว่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สงครามการค้าระหว่างสองประเทศนี้ไม่มีใครยอมใคร และยังคงยืดเยื้อยาวนาน แม้จะมีความพยายามที่จะพูดคุยตกลงกันเพื่อพักการทำสงครามการค้าลงชั่วคราว แต่แน่นอนว่าผลกระทบได้เกิดขึ้นไปแล้วต่อประเทศคู่ค้าที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังสองประเทศนี้
ในเวลานั้นรัฐบาลไทย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการค้าระหว่างประเทศ พยายามมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นระหว่างสงคราม ทั้งการเล็งที่จะจูงใจนักลงทุนในกรณีที่นักลงทุนเตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ เพื่อหลีกหนีฐานภาษีสินค้านำเข้าที่ค่อยๆ เพิ่มเพดานสูงขึ้น และมองหาฐานการผลิตใหม่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ในขณะที่ไทยกำลังเริ่มต้นการเจรจาโดยเฉพาะกับนักลงทุนชาวจีนที่เตรียมจะยึดหัวหาดและลงเม็ดเงินสร้างฐานการผลิตในไทย ทว่า การเปลี่ยนผ่านขั้วการเมืองทำให้หลายเรื่องที่กำลังถูกต่อยอดและน่าจะสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก
กระทั่งสงครามไวรัสเริ่มอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินจีนในช่วงปลายปี 2562 และเริ่มแพร่ระบาดไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก สงครามที่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้คน ชีวิต ทรัพย์สิน ประชากรโลกเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และล้มตายเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขบางประเทศใกล้เคียงคำว่า “ล่มสลาย”
ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน จีนสามารถเอาชนะไวรัสโควิด-19 ได้ แน่นอนว่า ไม่ได้มีเพียงวัคซีนเท่านั้นที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกครั้งนี้ แต่เป็นการเรียนรู้ ปฏิบัติ เพื่อมีเป้าหมายเดียว นั่นคือการเปิดประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
หลายฝ่ายพยายามถอดบทเรียนจากประเทศจีน ว่าเพราะเหตุใด จีนถึงใช้ระยะเวลาเพียงไม่นานในการเอาชนะเชื้อไวรัสนี้ได้ จนถึงปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในจีนทั้งสิ้นไม่ถึงหนึ่งแสนราย และยอดติดเชื้อรายวันในขณะนี้อยู่ที่หลักสิบเท่านั้น
ความรวดเร็วในการบริหารจัดการ การใช้ยาแรง ความเด็ดขาดของการปกครอง การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะข้อมูลจาก big data ให้เป็นประโยชน์ ศรัทธาและพลังบวก ไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และแน่นอนว่า สื่อในจีนมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
ต้องยอมรับว่า ทุกอย่างที่จีนใช้ในการบริหารประเทศช่วงวิกฤตโควิดนั้น ไทยยังห่างชั้นโดยสิ้นเชิง เมื่อคำว่ากรอบของคำว่า “ประชาธิปไตย” ครอบเอาไว้อย่างแน่นหนา ทำให้ความเด็ดขาดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และการขอความร่วมมือจากภาคประชาชนก็ไร้ผล ประกอบกับการเมืองไทยถูกผูกโยงไว้กับความขัดแย้งและการแข่งขันแย่งชิงกันอย่างไม่อาจหลีกหนีได้ ในขณะที่สื่อเอง แบ่งแยกและมีความชัดเจนจากการเลือกข้างอย่างแท้จริง นั่นคงไม่ต้องพูดถึงการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร
ซึ่งประเด็นหลังเห็นได้ชัดในเรื่องของวัคซีน ที่ปัจจุบันยังคงถกเถียงกันถึงเรื่องประสิทธิภาพ ความสามารถในการจัดซื้อ สาเหตุของการขาดแคลนวัคซีนในเวลานี้ หรือกรณีการไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ของไทย
ขณะที่ประเทศจีน ที่เอาชนะโควิดได้ ด้วยการฉีดวัคซีนเพียงสองยี่ห้อเท่านั้น คือ ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม นั่นเพราะความเข้าใจอันเป็นเอกฉันท์ที่ว่า “วัคซีนไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด” แต่เป็น “การสร้างวินัย” ต่างหาก
โดยก่อนหน้า ภาครัฐพยายามอธิบายถึงสาเหตุของการไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ไว้แล้วในหลายช่องทาง ซึ่งมีรายละเอียดที่ค่อนข้างชัดเจนดังนี้
COVAX ย่อมาจาก Covid-19 Vaccine Global Access Facility ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ริเริ่มจากกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อเตรียมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (Global Alliance for Vaccine and Immunization: Gavi) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation: WHO) จัดตั้งขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2563 ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักไปทั่วโลก
เป้าประสงค์ของ COVAX คือการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของชาติต่างๆ ทั่วโลก ให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ปัจจุบันมี 190 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ และในจำนวนนี้มี 92 ประเทศเป็นพัฒนาน้อยที่สุด ที่จะได้รับวัคซีนฟรีเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของประชากร โดย WHO ตั้งเป้าจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,000 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้
แน่นอนว่า สื่อจำนวนหนึ่งมุ่งเป้าไปที่ประเด็นของการไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ของไทย รวมไปถึงพยายามจะชี้ให้เห็นถึงข้อเสียเปรียบที่จะเกิดกับไทย หลังพลาดจนตกขบวน โดยไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผลที่ถูกต้อง ว่าเพราะอะไรรัฐบาลไทยจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ในครั้งนี้
เว็บไซต์ Prime Minister’s Delivery Unit ได้เผยแพร่ข้อมูลอีกด้านว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงสาธารณสุข ได้เคยออกมาชี้แจงต่อสังคมไปหลายครั้ง โดย นพ. โอกาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ. นคร เปรมศรี ผอ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งต่างก็ยืนยันว่า ประเทศไทยมีแผนเข้าร่วมจัดการวัคซีนจาก COVAX มาตั้งแต่ต้น ถึงขั้นส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ และมีการตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย ฯลฯ เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการทำข้อตกลงเข้าร่วมโครงการ
แต่สุดท้ายเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของไทยต่างเห็นพ้องตรงกันว่า โครงการนี้มีเงื่อนไขหลายข้อที่ทั้งเสี่ยงและไม่คุ้มค่าต่อการเข้าร่วม ซึ่งเงื่อนไขที่ทำให้ไทยไม่เข้าร่วม COVAX ประกอบด้วย
1. COVAX จะมอบวัคซีนให้ฟรีเฉพาะประเทศยากจนเท่านั้น โดยที่ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง จึงไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรี ซึ่งในอาเซียนมีประเทศที่รับวัคซีนฟรี ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา
2. หากไทยเข้าร่วมโครงการ COVAX ไทยจะต้องนำเงินไปลงขันในการจัดหาวัคซีนทั้งที่ในเวลานั้น COVAX ยังไม่ทราบเลยว่า จะคัดเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใด เพราะผู้ผลิตทุกรายต่างอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น และไม่มีข้อมูลยืนยันได้ว่า วัคซีนที่ผลิตออกมาจะมีประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด
3. หากไทยสั่งจองซื้อวัคซีน จะต้องจ่ายราคาตามที่ผู้ผลิตเสนอ ไม่สามารถต่อรองราคาได้ และจะต้องยอมรับทุกเงื่อนไข รวมทั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าขนส่ง ค่าขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศ และภาษี
4. หากไทยสั่งจองซื้อวัคซีนจาก COVAX จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการดำเนินการให้ COVAX ด้วย โดยคิดเพิ่มจากค่าวัคซีน หากจองแบบไม่เลือกผู้ผลิต ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 1.6 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อโดส หากจองแบบเลือกผู้ผลิตต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 3.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีอิสระในการเลือกผู้ผลิต เพราะ SHO จะเป็นผู้คัดกรองรายชื่อผู้ผลิตมาให้ประเทศสมาชิกเลือก โดยขณะนี้ COVAX ได้ทำความตกลงไว้กับผู้ผลิตเพียง 4 รายเท่านั้น ได้แก่ แอสตราเซเนกา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ชาโนฟี/จีเอสเค และไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค
ในเวลานั้น แม้ CEPI จะได้ลงทุนการวิจัยวัคซีนไปกับ 10 บริษัท แต่ก็มีบริษัทที่ผลิตสำเร็จแล้วเพียง 3 บริษัทได้แก่ แอสตราเซเนกา โมเดิร์นนา และโนวาแวค นอกนั้นมีทั้งบริษัทที่เลิกล้มการทดลองไปแล้ว 1 บริษัท และอยู่ระหว่างทดลองอีก 6 บริษัท แม้แต่วัคซีน Spudnic จากรัสเซีย และซิโนแวคและซิโนฟาร์มของจีนก็ไม่ได้เข้าร่วมใน COVAX ด้วย
5. ไทยจะไม่ได้รับเงินคืน หากยกเลิกสัญญาสั่งซื้อ แม้ว่าการยกเลิกสัญญานั้นเกิดจากการพัฒนาวัคซีนไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นการเข้าร่วมโครงการ COVAX จึงไม่ต่างจากการแทงหวย ที่ผู้เล่นไม่สามารถเจรจาต่อรองอะไรกับเจ้ามือได้เลย และ COVAX ก็ทำหน้าที่ประหนึ่งพ่อค้าคนกลางเท่านั้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญของไทยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจึงพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ต่างเห็นพ้องว่าไม่สมควรที่จะนำงบประมาณจากภาษีประชาชนไปเสี่ยง โดยคำนึงถึงปัจจัยบวกที่ว่า รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
คำกล่าวที่ว่า ไทยตกขบวน COVAX จึงไม่ถูกต้องนัก เพราะไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วมขบวนตั้งแต่แรก เมื่อเห็นข้อเสียเปรียบในหลายมิติ ในขณะที่การเลือกซื้อวัคซีนด้วยตัวเองมีความยืดหยุ่นมากกว่า รวมถึงความสามารถด้านการต่อรองราคา นอกจากนี้ การเปิดรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งจำนวนการส่งออกที่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข หรือความสามารถในการผลิตต่อล็อต ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปภายใต้กรอบเวลาของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือเข้าใจง่ายๆ คือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่รวดเร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้วัคซีนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดก็เป็นที่ต้องการของตลาดโลกแทบทั้งสิ้น
นับแต่สงครามการค้าเริ่มส่งผลกับไทยในช่วงปี 2561 จนกระทั่งสงครามไวรัสที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในทุกระดับ และสงครามข้อมูลที่ส่งผลทางอ้อมต่อการบริหาร อาจถึงเวลาที่คนไทยควรเรียนรู้และตกผลึกความคิด พร้อมกับจัดระเบียบทางความคิด ว่านี่อาจถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือกับภาครัฐอย่างจริงจังเมื่อมีการขอความร่วมมือหรือออกคำสั่งประกาศใดๆ ก็ตาม
เพราะสิ่งที่ควรพึงรู้ไว้ ณ เวลานี้ คือมีความเป็นไปได้ว่าเราจะประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไปอีกเป็น 10 ปี จากบทเรียนของประเทศจีนคงเห็นได้ชัดแล้วว่า การให้ความร่วมมือกับภาครัฐ การรู้เท่าทันโรคระบาด และพึงปฏิบัติตามกรอบอันเหมาะสมที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลานี้ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถประกาศชัยชนะเหนือเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน