วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ประชาชนขาดสภาพคล่อง

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ประชาชนขาดสภาพคล่อง

บ่อยครั้งที่ “ผู้จัดการ 360 องศา” นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมเกินคำว่าถดถอยไปมาก

ปี พ.ศ. 2564 ล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ทว่าสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ทุเลา ขณะที่รัฐบาลไทยต้องประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง และกลับไปใช้มาตรการที่เคยนำมาใช้เมื่อช่วงเดือนเมษายนของปีก่อน หลายฝ่ายคาดหวังว่า “เจ็บแต่จบ” ครั้งนี้จะเป็นของจริงเสียที

ภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงพิจารณาได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปีก่อนหน้า รวมไปถึงความสามารถในการจับจ่ายของภาคประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับ “หนี้ครัวเรือนไทย” ดูจะทำสถิติสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่แล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนของปี 2563 โดยไตรมาส 1 หนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 80.1% ต่อจีดีพี ในเวลานั้น สำนักข่าวส่วนใหญ่พาดหัวไปในลักษณะเดียวกันว่า หนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นประวัติการณ์

แต่ใครจะรู้ว่าสถิติในครั้งนั้นจะถูกทำลายลงในไตรมาสต่อมา ด้วยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไตรมาส 2/2563 พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี ไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 86.8% ต่อจีดีพี และไตรมาส 4/2563 แตะ 89.3% ต่อจีดีพี

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยยังยืดยาวตั้งแต่ปีก่อนหน้ากระทั่งปีปัจจุบัน โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท แตะระดับ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะรายได้ภาคครัวเรือนที่เผชิญภาวะวิกฤตโควิดมีการฟื้นตัวได้ช้า ข้อมูลจากเครื่องชี้วัดสะท้อนว่า ครัวเรือนยังคงมีความต้องการสินเชื่อสูง เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในภาวะวิกฤต บางส่วนอาจต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ปัญหาหนี้มีมากขึ้นในระยะข้างหน้า

อีไอซีมองว่าไทยมีแนวโน้มประสบภาวะ Debt Overhang หรือการมีหนี้สูงในภาคครัวเรือน จนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ประวัติการณ์ของตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น เป็นการขยายตัวที่ 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจาก 2 ผู้ให้กู้หลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions หรือ SFIs) ที่รับฝากเงิน ที่เติบโตขึ้น 4.9% และ 5.5% ตามลำดับ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตจาก SFIs ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือบริษัทบัตรเครดิต-ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล มีการเติบโตแบบชะลอตัวลง ส่วนหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมจากโรงรับจำนำยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

มูลเหตุที่ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนมีการขยายตัวมาตลอดแม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

ปัจจัยที่หนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยทั้งในรูปแบบการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยลดภาระการชำระหนี้ในระยะสั้น และช่วยป้องกันการเกิดหนี้เสียในวงกว้าง อย่างไรก็ดี การชำระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ

ปัจจัยที่สอง วิกฤตโควิดได้ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ นำไปสู่การลดลงของสภาพคล่องของคนจำนวนมาก จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปของภาคครัวเรือน ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2020 และมีอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 5.9% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.8% แม้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้-เงินด่วน ยังแสดงถึงการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการค้นหากลุ่มคำดังกล่าวซึ่งปรากฏผลการค้นหาทั้งจากผู้ให้กู้ประเภทธนาคารพาณิชย์และแหล่งเงินทุนอื่นๆ นอกระบบ เพิ่มขึ้นถึง 79.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในปี 2563 โดยปริมาณการค้นหาทำจุดสูงที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์เป็นครั้งแรก และปริมาณการค้นหาคำเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงมีปริมาณการค้นหาที่เพิ่มขึ้น 16.4%

ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับการเติบโตที่เกิดขึ้นของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนว่าครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสินเชื่ออาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาวังวนของกับดักหนี้ได้ในอนาคต

ปัจจัยที่สาม ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคาออกโปรโมชันจูงใจเป็นจำนวนมาก เพื่อลดอุปทานคงค้าง ประกอบกับมาตรการ LTV มีการผ่อนคลายลงเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในหมวดที่อยู่อาศัยที่เติบโตได้ค่อนข้างดีที่ 5.9% ณ สิ้นปี 2563 และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 6.8%

การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90.5% ต่อจีดีพี นั่นเพราะจีดีพีเองก็หดตัวที่ -7.3% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า

ด้านสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน จากข้อมูลของ Bank of International Settlement (BIS) ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดและในช่วงวิกฤต สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยสัดส่วน ณ สิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 อีกประมาณ 12.0% ต่อจีดีพี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงเป็นอันดับ 7 จากทั้งหมด 43 ประเทศ ทั้งนี้เป็นผลมาจากจีดีพีที่ลดลงมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยยังคงสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยนั้น ยังถือว่าสูงเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งที่สูงกว่าอีกด้วย สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของการพึ่งพาสินเชื่อในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยในช่วงที่ผ่านมา

อีไอซีมองว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ในช่วง 88-90% ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจากในไตรมาสที่ 1 ตามการทยอยฟื้นตัวของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภายในปี 2564 อาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากผลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด มีความรุนแรงและต่อเนื่องจนทั้งทำให้จีดีพีลดต่ำลงกว่าที่คาด (ประมาณการของ อีไอซี ในกรณีฐาน Real จีดีพีปี 2564 จะเติบโตที่ 1.9%) ขณะที่หนี้ยังสามารถขยายตัวได้ด้วยอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปัจจุบัน

การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องสะท้อนว่าภาคครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ Debt Overhang คือ ภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในด้านต่างๆ ของภาคครัวเรือน เช่น การลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือการลงทุนในด้านการศึกษา

นอกจากนี้ ภาวะ Debt Overhang จะยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้อีกด้วย ทั้งนี้ จากงานศึกษาของ BIS พบว่าหากสัดส่วนของการเป็นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงกว่าระดับ 80% จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งสำหรับสัดส่วนของไทยนั้นสูงเลยจุดนั้นมาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563 ในระยะต่อไปครัวเรือนจึงจำเป็นต้องมีการซ่อมแซมงบดุลของตนเอง ด้วยการปรับลดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มรายได้ เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ปรับลดลง

ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินว่าสถานการณ์หนี้ของภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นจริงอาจแย่กว่าที่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีบ่งชี้ จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือน (จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ที่มีแนวโน้มสูงกว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี สาเหตุมาจากการที่รายได้ภาคครัวเรือนโตช้ากว่าจีดีพีโดยเฉลี่ย และในช่วงโควิดแนวโน้มดังกล่าวนี้ก็น่าจะยังมีต่อเนื่อง จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรง สะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ลดลงถึง 8.8% ขณะที่ nominal จีดีพี ลดลงเพียง -2.1% ในช่วงเดียวกัน

นอกจากนี้ แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการส่งออกโดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานไม่มากนักเมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคบริการ อีกทั้งรายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก ด้วยเหตุนี้ การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ภาคครัวเรือนทั้งในรูปแบบของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้โดยการปรับและเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจภาคครัวเรือนยังคงมีความเปราะบางสูง

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาออกมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าเม็ดเงินที่ประชาชนได้รับอาจไม่เพียงพอที่จะประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ จนกระทั่งวิกฤตผ่านพ้น แม้ว่าวัคซีนอาจเป็นกุญแจสำคัญสำหรับสถานการณ์นี้ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งหนึ่งในฐานะประชาชนยังคงต้องรักษาไว้ คือ “วินัย” ที่จะเอาชนะโควิดได้อย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น