วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > แฟรนไชส์ไก่ห้าดาว ยิ้มร่า เราชนะ-คนละครึ่ง ยอดพุ่ง 70%

แฟรนไชส์ไก่ห้าดาว ยิ้มร่า เราชนะ-คนละครึ่ง ยอดพุ่ง 70%

หลายธุรกิจเจอพิษโควิดกระหน่ำอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่า ธุรกิจห้าดาว หรือ Five Star ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ยังสามารถเติบโตสวนกระแส โดยเฉพาะบรรดาแฟรนไชส์ไก่ย่างไก่ทอดที่ลงทะเบียนเข้าโครงการกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐบาล ตั้งแต่มาตรการเราชนะ ม33 เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 1 ยาวถึงเฟส 3 บางสาขาสับไก่แทบไม่ทัน ยอดขายพุ่งพรวดมากกว่า 50-70%

ขณะเดียวกันต้องถือว่า แฟรนไชส์ห้าดาวสามารถรองรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจขนาดย่อมได้อย่างดีในสถานการณ์ที่ทุกคนมีงบจำกัด เนื่องจากใช้เงินทุนก้อนแรกไม่สูงมาก ผู้ลงทุนได้ร้าน อุปกรณ์พร้อมขาย และวัตถุดิบที่สามารถเปิดขาย 1-2 วันทันที ไม่มีการเก็บรายเดือน ไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้ ที่สำคัญ จุดแข็งในแง่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ “ซีพี” สินค้าหลากหลาย และทุ่มงบการตลาดอัดโปรโมชั่นดึงดูดกลุ่มลูกค้าผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

เจ้าของซุ้มห้าดาวย่านรามอินทรารายหนึ่งกล่าวกับ “ผู้จัดการ 360” ว่า เธอตกลงซื้อแฟรนไชส์ไก่ย่างห้าดาวเมื่อ 15 ปีก่อน สามารถสร้างรายได้และขยายฐานลูกค้าขาประจำอย่างเหนียวแน่น ยอดขายไม่ได้ลดลง เนื่องจากมีหมู่บ้านตลอดแนวถนน ขณะที่ซุ้มห้าดาวยังมีจำนวนไม่มาก และแต่ละสาขาอยู่ห่างจากกัน
ยิ่งช่วงรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งซุ้มของเธอตัดสินใจลงทะเบียนเข้าโครงการด้วย เพราะกลุ่มลูกค้าเรียกร้องมาก แถมขู่ด้วย ถ้าไม่เข้าโครงการของรัฐบาลจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์

“ตั้งแต่เข้าโครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม33 เรารักกัน ลูกค้าซื้อในปริมาณมากขึ้นและถี่ขึ้น เรียกว่า ยอดสูงกว่าช่วงปกติ 50% วันเสาร์-อาทิตย์ ขายได้มากกว่าเดิมถึง 70% เพราะลูกค้าเหมือนได้เงินฟรีๆ จากรัฐบาลและบริษัทแม่แฟรนไชส์ห้าดาวจัดโปรโมชั่นตลอดเวลา มีโฆษณาช่วยกระตุ้นลูกค้า โดยเราไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม”

เธอเล่าว่า สินค้าทุกรายการมียอดขายดีขึ้น ยิ่งสินค้าโปรโมชั่นขายหมดทุกวัน หรืออาจเหลือน้อยมาก อย่างช่วงนี้มีโปรโมชั่นไก่ทอดชิ้นละ 20 บาท จากปกติชิ้นละ 29 ไก่จ๊อ ไม้ละ 20 บาท จากปกติ 25 บาท ไก่สวรรค์ 25 บาท จากปกติ 35 บาท ชิกเก้นริบ ชุดละ 25 บาท จาก 45 บาท ไก่ย่างทรงเครื่อง ตัวละ 99 บาท จาก 135 บาท ไก่ต้มน้ำปลา ตัวละ 119 บาท จากปกติ 139 บาท และเป็ดพะโล้ ตัวละ 219 บาท จากปกติ 235 บาท

นอกจากนั้น ยังจัดรายการอาหารชุด เช่น ชุดข้าวไก่ย่าง ข้าวไก่ทอด ข้าวไก่คาราเกะ พร้อมบริการส่งดีลิเวอรี่ด้วยตัวเอง โดยตกลงกับลูกค้าจ่ายค่าจ้างวินมอเตอร์ไซค์ เพื่อส่งสินค้าถึงหน้าประตูบ้าน รวมถึงบริการแอปดีลิเวอรี่อย่างไลน์แมนและแกร็บ

เธอย้ำด้วยว่า แฟรนไชส์ห้าดาวดีกว่าแฟรนไชส์อื่นตรงที่ไม่มีเงื่อนไขเก็บส่วนแบ่งหรือค่าสิทธิ์ยิบย่อย แค่ลงทุนก้อนแรกครั้งเดียว บริษัทมาลงทุนจัดซุ้ม สอนวิธีปรุงวัตถุดิบ จัดสินค้า บริหารต้นทุน มีเพียงเงื่อนไข 2 ข้อ คือ สั่งวัตถุดิบทุกอย่างกับบริษัทและห้ามจำหน่ายสินค้าแบรนด์อื่นเท่านั้น

ทั้งนี้ หากย้อนเส้นทางของธุรกิจห้าดาวเริ่มต้นเมื่อปี 2528 จากสินค้าตัวแรก คือ ไก่ย่างห้าดาว และจุดขายแรกบริเวณปากซอยลาดพร้าว 80 ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางการขายสินค้าอาหารพร้อมรับประทานถึงมือผู้บริโภคอย่างชัดเจนครั้งแรก มีการผลิตภาพยนตร์โฆษณาเรื่องแรก กระทั่งปี 2543 จึงประเดิมขยายธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์และสามารถปูพรมซุ้มไก่ย่างห้าดาวได้อย่างรวดเร็ว

ปี 2549 กลุ่มธุรกิจพัฒนาสินค้าหลากหลายมากขึ้น โดยเปิดตัว “ไก่ทอดห้าดาว” หลังศึกษาวิจัยความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า เมนูไก่ทอดเป็นรายการอาหารที่ผู้บริโภคอยากให้ห้าดาวจำหน่าย และเมื่อแบรนด์ห้าดาวเติบโตและติดตลาด บริษัทจึงเดินหน้าขยายไลน์ธุรกิจ ทั้งแฟรนไชส์ข้าวมันไก่ บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง เรดดี้มีล-ไส้กรอก รวมถึงสร้างโมเดลใหม่ๆ เพิ่มธุรกิจเครื่องดื่มอย่าง “สตาร์คอฟฟี่” และเปิดตัวแฟรนไชส์อาหารตามสั่ง “ร้านกระทะเหล็ก” เป็นร้านแบบ Restaurant

นายสุนทร จักษุกรรฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจ FIVE STAR & STAR coffee เครือซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัททยอยปรับภาพลักษณ์และรีเฟรชแบรนด์ใหม่สำหรับธุรกิจห้าดาวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปรับชื่อแบรนด์จากไก่ย่างห้าดาว เป็น Five Star เพื่อขยายธุรกิจหลายอย่าง ไม่จำกัดอยู่แค่ไก่ย่างที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมมานานกว่า 35 ปีแล้วเท่านั้น รวมทั้งต้องการสร้างความทันสมัยและความชัดเจนในการสร้างแบรนด์ด้วย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งกลุ่มครอบครัวและคนรุ่นใหม่

ปัจจุบัน บริษัทปรับโมเดลการขายแฟรนไชส์รูปแบบซุ้มสวยงามมากขึ้น เน้น 2 รูปแบบหลัก คือ 1. คีออสพรีเมียม พื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตร มีทั้งย่างกับทอด ได้ซุ้ม อุปกรณ์การขาย วัตถุดิบ และเข้าคอร์สอบรมก่อนเปิดขาย ทั้งหมดใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 บาท

2. Five Star Stand Alone ขนาดใหญ่กว่าซุ้ม พื้นที่ 9-15 ตารางเมตร มีห้องกระจกพร้อมที่นั่งรับประทานที่เรียกว่า Five Star Glass House พร้อมตกแต่ง ลักษณะให้ยืมเนื่องจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องลงทุนเอง รูปแบบนี้ใช้เงินลงทุนรวม 80,000 บาท

นอกจากนั้น ขยายรูปแบบร้านอาหารที่มีร้านกาแฟสตาร์คอฟฟี่ หรือร้านอาหารตามสั่ง “กระทะเหล็ก” รวมอยู่ด้วย เพื่อเพิ่มความหลากหลาย มีเมนูสตรีตฟูดทั้งเนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อไก่ กุ้ง เช่น เมนูผัดกะเพรา ผัดคะน้า สปาเกตตี ข้าวผัด และผัดฉ่า ขนาดพื้นที่ประมาณ 20-25 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 200,000 -450,000 และร้านขนาดใหญ่ พื้นที่ 50-100 ตารางเมตร ลงทุน 450,000- 600,000 บาท โดยแฟรนไชส์ร้านกาแฟสตาร์คอฟฟี่ เสียค่าแรกเข้า 5,000 บาทครั้งเดียว ไม่มีค่ามาร์เก็ตติ้งฟี ไม่มีค่ารอยัลตี้ฟี

นายสุนทรกล่าวว่า หากดูภาพรวมธุรกิจห้าดาวหรือในชื่อไฟว์สตาร์ทั้งหมดมี 5 กลุ่มหลัก รวมแล้วในไทยมีประมาณ 5,000 กว่าจุดขาย แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับต่างจังหวัดในสัดส่วนใกล้เคียงกัน 50:50% ประกอบด้วย ร้านไฟว์สตาร์ (Five Star) คือ ไก่ย่างไก่ทอดดั้งเดิม ร้านข้าวมันไก่ห้าดาว ร้านเป็ดย่างเจ้าสัว ร้านกระทะเหล็ก และร้านสตาร์คอฟฟี่ (Star Coffee) ซึ่งจะเน้นขยายไปพร้อมๆ กันตามทำเลและกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะร้านกาแฟ ขณะนี้มีมากกว่า 100 สาขา และมีธุรกิจไฟว์สตาร์ที่เป็นทั้งร้านกาแฟกับร้านไก่อยู่ติดกันมากกว่า 10 สาขาแล้ว

เหนือสิ่งอื่นใด กลยุทธ์ของ Five Star พุ่งเป้าเจาะตลาดแมส ปูพรมทุกชุมชน ทั้งหมดไม่ใช่แค่รองรับกลุ่มคนที่กำลังมองหาอาชีพสร้างรายได้ใหม่ แต่ยังหมายถึงการสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าอย่างแข็งแกร่งด้วย

ช่องทางการจำหน่ายและเครือข่ายร้านอาหาร “ซีพีเอฟ”

๐ ห้างค้าปลีกค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ
๐ กลุ่ม HoReCa โรงแรม ร้านอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยง
๐ รับจ้างผลิต
๐ ตลาดดั้งเดิม ร้านค้ารายย่อย
๐ ร้านอาหารและจุดจำหน่ายอาหาร
๐ ช่องทางร้านอาหารของบริษัท
– ธุรกิจห้าดาว รูปแบบแฟรนไชส์ ผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไก่ย่าง ไก่ทอด ข้าวมันไก่ บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง เรดดี้มีลและไส้กรอก มากกว่า 5,000 แห่ง และมีสาขาในประเทศเวียดนาม อินเดีย กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์
– เชสเตอร์ ธุรกิจร้านอาหารจานด่วน ทั้งที่บริษัทดำเนินการเองและแฟรนไชส์ ล่าสุดเปิดแล้ว 186 สาขา
– ซีพีเฟรชมาร์ท จำหน่ายและกระจายสินค้าให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อย เน้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการประกอบอาหาร อาหารสด อาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน และอาหารแห้ง ล่าสุดเปิดแล้ว 331 สาขา และร้านซีพีเฟรช ช็อป 1 สาขา
– ศูนย์อาหาร ซีพีฟู้ดเวิลด์ ภายในพื้นที่สถานพยาบาล สถานศึกษา อาคารสำนักงาน ประกอบด้วยร้านอาหารของกลุ่มบริษัทและร้านอาหารของคู่ค้าภายนอก เน้นความหลากหลาย ล่าสุดเปิดให้บริการ 23 สาขา
– ตู้เย็นชุมชน ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ซีพี ทั้งอาหารสด อาหารแช่เย็นแช่แข็ง เช่น หมู ไก่ เป็ด ไข่ กุ้ง ปลา ไส้กรอก อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน
– ร้าน Pork shop
– ร้านตะหลิว จำหน่ายอาหารตามสั่งสไตล์สตรีทฟูด
– เป็ดย่างเจ้าสัว
– ร้านกาแฟสตาร์คอฟฟี่
– Dak Galbi ร้านอาหารเกาหลีแบบผัดร้อน
– Wok Station ร้านอาหารตามสั่งสไตล์สตรีทฟูด
– ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ CP-HaiLai Harbour ซึ่งซีพีเอฟร่วมทุนกับไห่หลายกรุ๊ป ประเทศไต้หวัน
– ร้านอาหารานด่วน Chickita เน้นผลิตภัณฑ์ไก่ย่างที่มีความสด มีสาขาอยู่ในประเทศเวียดนาม
– ร้านอาหารจีน Wan Chai มีสาขาอยู่ในประเทศเวียดนาม

ใส่ความเห็น