“ผมเป็นชาวประมงอยู่กับทะเลมาตั้งแต่เกิด พ่อเป็นชาวประมง ตอนเด็กๆ เราเห็นเขาออกเรือหาปลาทุกวัน พออยู่ ป.5 ก็ตามพ่อไปออกทะเลหาปลากับเขาด้วย จนจบ ป.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อแล้วครับ ออกมาเป็นชาวประมงเต็มตัวเหมือนพ่อ” ประโยคเริ่มต้นง่ายๆ ที่ จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แนะนำตัวเอง ก่อนที่บทสนทนาเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตชาวประมงและจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาจะดำเนินต่อไป
จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ หรือ “บุช” เป็นชาวเลแต่กำเนิด มีพ่อเป็นชาวประมง และเติบโตมากับการออกเรือหาปลาตั้งแต่เด็กๆ เขาเริ่มตามพ่อออกเรือไปหาปลาตั้งแต่ตอนอยู่ ป.5 อายุเพียง 11 ปี และหลังจากจบ ป.6 จิรศักดิ์ตัดสินใจไม่เรียนต่อ แต่เลือกที่จะออกมาเป็นชาวประมงเต็มตัว ซึมซับวิถีแห่งการประมงพื้นบ้านจากพ่อและพี่ชายเรื่อยมา
ณ เวลานั้น หรือราวๆ 30 ปีก่อน ทะเลอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังคงอุดมสมบูรณ์ ออกเรือไปเพียงแค่ 5 นาทีก็สามารถจับปลาได้แล้ว อีกทั้งยังไม่มีพ่อค้าคนกลาง เมื่อจับปลามาได้ แม่จะเป็นคนหาบปลาไปขายที่ตลาดในตอนตี 5 ของทุกวัน ถ้าขายไม่หมดก็ไปแลกเป็นผัก หรือแลกของจากพี่น้องทางภาคเกษตรกลับมาแทน
จนกระทั่งปี 2535-2536 จุดเปลี่ยนในชีวิตได้เกิดขึ้น เริ่มมีเรือจากพื้นที่อื่นเข้ามาทำประมงในพื้นที่ของอ่าวคั่นกระได โดยการใช้อวนลากปลาหลังเขียว ซึ่งแต่ละคืนได้ปลาหลายพันกิโลกรัมสร้างรายได้จำนวนมาก ทำให้จิรศักดิ์และชาวประมงคนอื่นในอ่าวคั่นกระไดอยากจับปลาได้ปริมาณมากๆ แบบนั้นบ้าง
“เมื่อก่อนทะเลอ่าวคั่นกระไดมีปลาเยอะมาก เห็นเขาจับได้เยอะ เราก็อยากจับปลาได้เยอะๆ แบบเขาบ้าง เห็นเขาใช้อวนตาถี่จับ เราก็ใช้บ้าง เอาปริมาณเข้าว่า ปลาเล็กปลาน้อยจับหมด จนวันหนึ่งทะเลหน้าบ้านเราปลามันหมด ไม่มีปลาให้จับ เราก็ออกเรือไปจับปลาที่อื่น ทำให้ปลาบ้านเขาร่อยหรอไปเรื่อยๆ จนเขาเรียกพวกผมว่า กองปราบปลา ไปที่ไหน ปลาหายที่นั่น” จิรศักดิ์เล่าถึงเรื่องราวในอดีตและที่มาฉายา “กองปราบปลา” ที่ชาวบ้านมอบให้กับเขาเมื่อสิบกว่าปีก่อน
จากที่เคยทำประมงพื้นบ้านมีเรือเพียงไม่กี่ลำ ก็เกิดการเพิ่มจำนวนเรือและเปลี่ยนมาทำอวนปลาหลังเขียว ปลาที่จับได้มีจำนวนมากมายมหาศาลจนเรือไม่พอใส่ ขณะนั้นปลาหลังเขียวขายได้กิโลกรัมละ 4 บาท อวนหนึ่งปากราคา 2,750 บาท คืนหนึ่งจับได้ 2,000 – 3,000 กิโลกรัม สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับชาวประมง ทำไปได้สักระยะหนึ่ง จิรศักดิ์เริ่มลดขนาดอวนที่ใช้จับปลา จาก 2.9 เซนติเมตร เหลือ 2.5 เซนติเมตร จนเหลือเพียง 2 เซนติเมตร ชนิดที่แม้กระทั่งลูกปลาก็เล็ดลอดออกไปได้ยาก
ผ่านไป 3 ปี ปลาของอ่าวคั่นกระไดเริ่มหมด เขาจึงอพยพไปหาปลาที่อื่นทั้งแถวบ้านกรูด บางสะพานใหญ่ บางสะพานน้อย จนไปถึงชุมพร โดยใช้วิธีการจับแบบเดิม จนคนในพื้นที่เห็นว่าไปจับลูกปลาในทะเลหน้าบ้านเขาจึงถูกห้าม ถึงขนาดที่ชาวบ้านไม่ยอมให้เช่าบ้าน ไม่ขายของให้ ไม่มีใครต้อนรับ เพราะไปทำลายทรัพยากรทางทะเลของเขา แต่จิรศักดิ์ยอมรับตามตรงว่า ณ ตอนนั้นเขายังคิดไม่ได้ และไม่สนใจเรื่องผลกระทบมากนัก จนกระทั่งชาวบ้านนำเจ้าหน้าที่ประมงมาจะดำเนินคดี
สุดท้ายในปี 2551 เขาจึงยอมกลับมายังอ่าวคั่นกระไดอีกครั้ง ในสภาวะที่ไม่มีปลาให้จับ หนี้สินพะรุงพะรัง ชาวประมงในกลุ่มบางคนต้องขายเรือของตัวเองแล้วไปเป็นลูกน้องในเรือใหญ่ บางคนเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมงหันไปรับจ้างทำงานในโรงงานสับปะรด หรือกลายเป็นคนงานในเหมืองแทน แต่ด้วยความที่โตมากับทะเล จิรศักดิ์ยังคงออกเรือหาปลาอยู่แม้ว่าจะได้ปลาเพียงน้อยนิดก็ตาม
กระทั่งได้พบกับเจ้าหน้าที่ของสมาคมรักษ์ทะเลไทยที่เข้ามาทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่อ่าวคั่นกระได ทำให้จิรศักดิ์และชาวประมงอ่าวคั่นกระไดเริ่มตระหนักว่า เพราะการกอบโกยจากทะเลจนไม่เหลือลูกปลาให้เติบโตขยายพันธุ์คือสาเหตุหลักที่ทำให้ปลาหมดไปจากทะเล จึงนำไปสู่การรวมกลุ่มชาวบ้านในนาม “ประมงเรือเล็กอ่าวคั่นกระได” เพื่อหาทางออกนี้ร่วมกัน
ด้วยความช่วยเหลือจากสมาคมรักษ์ทะเลไทย จิรศักดิ์และชาวประมงอ่าวคั่นกระไดจึงได้เริ่มแผนการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เริ่มจากสร้าง “ซั้งกอ” โดยใช้ทางมะพร้าว ไม้ไผ่ และเชือกผูกกับลูกปูนไปปักไว้ในทะเลเพื่อเป็นบ้านให้ปลาอยู่ และสร้าง “ธนาคารปูลอยน้ำ” เป็นที่ให้ปูได้ขยายพันธุ์ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนปลาที่เคยหายไปก็เริ่มกลับคืนสู่ทะเลอ่าวคั่นกระไดอีกครั้ง พร้อมกันนั้นชาวประมงได้ร่วมกันวางกฎกติกาของชุมชนร่วมกัน ได้แก่ เลิกใช้อวนตาถี่จับปลา, ห้ามอวนทุกชนิดวางล้อมซั้งกอ, ห้ามใช้อวนปูที่ต่ำกว่า 4 นิ้ว และห้ามทิ้งขยะลงทะเล
ชาวประมงอ่าวคั่นกระไดหันกลับมาทำการประมงพื้นบ้านและเลิกใช้อวนตาถี่ บางคนนำอวนตาถี่ไปขายเพราะยังจำเป็นต้องนำเงินมาใช้หนี้และซื้อเครื่องมือต่างๆ ในขณะที่บางคนเลือกที่จะปล่อยให้มันผุพังลงไป เพื่อไม่ให้มีใครนำไปใช้จับลูกปลาขึ้นมาอีก
จากที่แทบจะต้องละทิ้งอาชีพประมง ทะเลอ่าวคั่นกระไดกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ชาวประมงสามารถกลับมาหาปลาเพื่อยังชีพได้ดังเดิม จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2554 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากกลุ่ม “ประมงเรือเล็กอ่าวคั่นกระได” มาเป็น “สมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได” โดยยึดหลักการทำประมงแบบยั่งยืนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมทั้งสร้างช่องทางจำหน่ายอาหารทะเลจากการทำประมงพื้นบ้านโดยเฉพาะในชื่อ “ร้านคนจับปลา” เน้นอาหารทะเลที่สด สะอาด และปลอดภัย
จากที่ในอดีตเคยจับปลาแบบเน้นปริมาณ จนสร้างผลกระทบให้กับทั้งสิ่งแวดล้อมและชาวประมงคนอื่นไปทั่ว จนถูกต่อต้านจากชาวบ้านและได้รับการขนานนามว่าเป็น “กองปราบปลา” เพราะไปถึงไหนทั้งปลาใหญ่และปลาเล็กล้วนหายเรียบ ซึ่งฉายาดังกล่าวคงไม่ได้สร้างความภูมิใจให้กับเขาเท่าใดนัก แต่มาวันนี้จิรศักดิ์กลับกลายเป็นผู้ที่เคลื่อนไหวและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นอันดับต้นๆ ชนิดที่หลายคนเรียกเขาว่า “คนบ้าอนุรักษ์”
“ถ้าเห็นว่าใครเข้ามาหากินแบบผิดวิธี ใช้อวนตาถี่ หรือเข้ามาจับลูกปู ใช้ปั่นไฟดักปลาเราก็ไปห้ามไปเตือนเขา ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน ถ้าผมรู้ก็ไปถึงที่ เพราะการปั่นไฟมันทำให้ลูกปลามันขึ้นมาด้วยเขาก็จับไปหมด มีคนมาวางอวนรอบซั้งกอผมก็กระโดดลงน้ำเอามีดไปกรีดอวนไม่ให้เขาเอาปลาขึ้นเรือได้ เกิดกรณีพิพาทกันตลอด มีถึงขั้นชักปืนขู่จะยิงก็มี บางคนก็เลิกคุยกันไปหลายปีเพราะเราไปห้ามเขานี่แหละ จนมาไม่กี่ปีนี้เอง คู่กรณีที่เคยมีเรื่องกันเขาก็ให้การยอมรับในสิ่งที่เราทำ เลยหันมาคุยกันอีกครั้ง จากฉายากองปราบปลา จนเดี๋ยวนี้เขาเรียกพวกผมว่าเป็นพวกบ้าอนุรักษ์ไปแล้วครับ” จิรศักดิ์เล่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต
ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา เขายังคงยึดหลักในการทำประมงแบบยั่งยืนพร้อมทั้งทำงานด้านอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย รวมถึงการให้ความรู้ในการรักษาทรัพยากรทางทะเลกับชุมชนต่างๆ แน่นอนว่าการสร้างความตระหนักรู้เป็นเรื่องยาก อีกทั้งความขัดแย้งกับผู้ที่เห็นไม่ตรงกันยังคงดำเนินต่อไป แต่จิรศักดิ์ยังคงเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าบทเรียนที่ผ่านมาคือตัวตอกย้ำที่สำคัญ