ธุรกิจแฟรนไชส์ไปรษณีย์เอกชนเปิดศึกแข่งขันร้อนแรง เร่งปูพรมสาขาไม่ต่างกับสงครามร้านสะดวกซื้อจนขึ้นแท่นติดชาร์ตกิจการที่มีผู้คนแห่ซื้อลงทุนมากสุด โดยเฉพาะกลุ่มท็อปทรีที่เข้ามาผสมโรงรุกตลาด ทั้งไปรษณีย์ไทย เคอรี่ เอ็กซ์เพรส และน้องใหม่มาแรง “แฟลชเอ็กซ์เพรส” ที่มีทุนใหญ่กลุ่ม ปตท. ร่วมถือหุ้น และประกาศจะรุกตลาดระลอกใหญ่หลังระดมเม็ดเงินก้อนโตจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ยิ่งไปกว่านั้น ภาพรวมตลาดขนส่งพัสดุยังมีผู้เล่นอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น J&T Express (เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส) Best Express (เบสท์ เอ็กซ์เพรส) Lex Express (Lazada LeL Express) Ninja Van (นินจาแวน) DHL (ดีเอชแอล) SCG Express (เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส) FedEx Bee Express (บี เอ็กซ์เพรส) UPS (UPS Parcel Delivery Service) Nim Express (นิ่ม เอ็กซ์เพรส)
Speed D (สปีด-ดี) ของเซเว่นอีเลฟเว่น Alpha Fast (อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป) Giztix (บริษัท จิซทิกซ์ จำกัด) และ CJ Express (CJ Logistics THAILAND)
กลุ่มไปรษณีย์เอกชนเหล่านี้พยายามผุดสาขาครอบคลุมพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังยืดเยื้อและพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กลายเป็นช่องทางที่เติบโตสูงมาก เฉลี่ย 26-27% ต่อปี ส่งแรงผลักดันต่อธุรกิจขนส่งพัสดุพุ่งทะลุมากกว่า 35% จากมูลค่าเม็ดเงินเกือบปี 2563 อยู่ที่ 66,000 ล้านบาท ซึ่งแฟรนไชส์ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ พร้อมๆ กับปรับรูปแบบเพิ่มบริการหลากหลาย ทั้งขนส่งพัสดุ รับชำระค่าสาธารณูปโภค ฝากโอนเงิน ต่อภาษี ต่อประกัน เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการและเพิ่มสัดส่วนรายได้
หากสำรวจข้อมูลจากศูนย์ธุรกิจแฟรนไชส์ www.ThaiSMEsCenter.com ระบุว่า แฟรนไชส์ยอดนิยมที่มีผู้สนใจซื้อลงทุนมากสุด คือธุรกิจไปรษณีย์เอกชน รองลงมาได้แก่ ธุรกิจคาร์แคร์ ธุรกิจซักอบรีด แฟรนไชส์นายหน้าออนไลน์ โปรโมตเว็บ เช่น โปรโมตเว็บจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมถึงคอร์สเรียนต่างๆ และแฟรนไชส์บริการให้คำปรึกษาและรับทำวีซ่า
ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มไปรษณีย์เอกชนและร้านสารพัดบริการ พบว่า ทั้งไปรษณีย์ไทย เคอรี่ และแฟลชเอ็กซ์เพรส ต่างเร่งสร้างเครือข่าย ทั้งผุดสาขาที่ลงทุนเองและขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ทั้งแบรนด์ของตัวเองและจับมือกับกลุ่มแฟรนไชส์ที่เปิดดำเนินกิจการอยู่แล้ว
อย่างแบรนด์ “ควิก เซอร์วิส” เป็นกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2549 กระทั่งปี 2559 จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปลายปี 2563
ตามแผนเบื้องต้น ควิกเซอร์วิสตั้งเป้าหมายภายในปี 2565 จะขยายสาขาครบ 1,000 แห่ง จากปัจจุบันเปิดให้บริการมากกว่า 450 แห่ง โดยงัดกลยุทธ์เปิดรับแฟรนไชส์ทั่วประเทศ 1 ชุมชน 1 สาขา รองรับผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ 5 บริการหลัก คือ บริการจัดส่งเดลิเวอรี่ บริการแพ็กสินค้า จำหน่ายอุปกรณ์ห่อหุ้ม เป็นจุด Drop off พักสินค้าและบริการรับพัสดุถึงบ้าน
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังร่วมกับธนาคารออมสินสนับสนุนแฟรนไชส์ไปรษณีย์เอกชน แบรนด์ “ซุปเปอร์เอส” มีสาขาเกือบ 500 แห่งทั่วประเทศ
ส่วนสาขาภายใต้แบรนด์ “ไปรษณีย์ไทย” ทั้งที่ทำการไปรษณีย์ เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ จุดบริการ EMS point และแฟรนไชส์ร้านไปรษณีย์ มีทั้งสิ้น 10,282 แห่ง
นายกาหลง ทรัพย์สอาด รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวว่า ปี 2564 ธุรกิจการขนส่งจะยังแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง การแข่งขันด้านราคา คุณภาพการบริการ ซึ่งไปรษณีย์ไทยพยายามปรับตัวด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่ง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะสร้างประสบการณ์และผลประโยชน์ทางตรงให้ผู้ใช้บริการ เช่น ติดตั้งตู้รับฝากอัตโนมัติ เพื่อลดเวลารอคอยใช้บริการในที่ทำการไปรษณีย์ เช่นไปรษณีย์จตุจักร ไปรษณีย์ภาษีเจริญ ไปรษณีย์บางขุนเทียน
ติดตั้งตู้ไปรษณีย์ชาญฉลาดที่แจ้งเตือนไปรษณีย์ในพื้นที่ไปรับได้ทันทีที่มีคนหย่อนจดหมาย เพิ่มจำนวนเครื่องคัดแยกอัตโนมัติ เพื่อคัดแยกรองรับสิ่งของอีคอมเมิร์ซไปปลายทาง ใช้รถขนส่งควบคุมอุณหภูมิเพื่อคงคุณภาพของสินค้าจากเกษตรกรสู่ปลายทาง ใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อนำจ่ายสิ่งของ ตลอดจนแผนในการพัฒนา Account Credit Email ยืนยันเอกสารสำคัญต่างๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ มี LINE OA สามารถติดตามสถานะสิ่งของ ค้นหาไปรษณีย์ใกล้บ้าน สร้างใบจ่าหน้า หรือเรียกใช้บริการรับฝากนอกสถานที่ (Pick-up service)
“ปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยมีปริมาณการขนส่งพัสดุ จดหมายและไปรษณียภัณฑ์ประเภทต่างๆ รวมกว่า 2,400 ล้านชิ้น ยังถือว่าอยู่ในระดับน่าพอใจ และส่วนแบ่งตลาดที่มีจำนวนผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นด้วย เราพยายามเพิ่มบริการรองรับทุกความต้องการ”
ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาระบบขนส่งผ่านรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิได้ถึง -18 องศาเซลเซียส เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าประเภทอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และของสด เพื่อคงคุณภาพตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งศูนย์กระจายสินค้าของไปรษณีย์ไทย 15 จุด เริ่มใช้รถควบคุมอุณหภูมิแล้ว เช่น ที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย สามารถขนส่งสินค้าหลากหลายมากขึ้น เช่น แหนมเนืองและหมูยอของ จ.อุดรธานี ไก่ย่างเขาสวนกวางของ จ.ขอนแก่น พุทรานมสดของ จ.กาฬสินธุ์ ส้มเขียวหวาน จ.แพร่ ส้มสายน้ำผึ้งของ จ.เชียงใหม่ และอาหารทะเล เช่น ปลากะพงขาว กุ้ง เนื้อ จากแพลตฟอร์ม ohlalashopping
อย่างไรก็ตาม แม้ ปณท ยังยึดกุมส่วนแบ่งก้อนใหญ่มากกว่า 50% แต่การแข่งขันที่หนักหน่วงทำให้การเติบโตชะลอตัว โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 49% กลุ่มจดหมาย แสตมป์ ไปรษณีย์ 31% ธุรกิจระหว่างประเทศ 13% และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อีก 7% ซึ่งธุรกิจกลุ่มจดหมาย แสตมป์ ไปรษณีย์ มีอัตราเติบโตลดลงทุกปีทำให้ต้องเร่งรุกขยายบริการขนส่งและโลจิสติกส์ตามเทรนด์ชอปปิ้งออนไลน์ เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายรายได้แตะ 60,000 ล้านบาท ภายในปี 2565
ด้านเคอรี่มีจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีศูนย์คัดแยกพัสดุหลัก 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200 แห่ง และรถจัดส่งพัสดุภายใต้การบริหารของบริษัทกว่า 25,000 คัน
แน่นอนว่า ศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตของกิจการรับส่งพัสดุยังดึงดูดผู้เล่นระดับกลางที่อาศัยประสบการณ์ในฐานะผู้ให้บริการด้านการขนส่งดั้งเดิม ชูจุดขายการใช้เงินลงทุนไม่สูงมากและเน้นความเป็นร้านสารพัดบริการ เช่น แบรนด์ซีพลัส เอ็กซ์เพรส ใช้เงินลงทุนเปิดร้านเริ่มต้นเพียง 29,999 บาท ปัจจุบันมีสาขา 381 แห่ง
ร้านชิปป์สไมล์ เซอร์วิส เจ้านี้มีรูปแบบการลงทุนทั้ง Full set ราคา 229,000 บาท แบบ Standard Set ราคา 159,000 บาท และแบบตัวแทนรับพัสดุ Drop off ลงทุน 29,999 บาท ปัจจุบันมีสาขารวม 901 แห่ง
แต่ทั้งหมดยังไม่นับรวมแฟรนไชส์รับส่งพัสดุรายย่อยและแบรนด์ใหม่ๆ ที่เตรียมแจ้งเกิดอีกจำนวนมาก ซึ่ง “ไปรษณีย์ไทย” ในฐานะเบอร์ 1 คงต้องรีบฉกฉวยจังหวะจากวิกฤตโควิด เพื่อโกยส่วนแบ่งและหาโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้ได้