ปตท. เดินหน้าดันแผนเสนอขายหุ้นไอพีโอ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมนี้ และคาดจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ท่ามกลางปัจจัยลบพิษโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่โผล่ขึ้นทุกวัน
ว่ากันว่า ตามแผน OR จะเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น โดยมีกูรูประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท คำนวณราคาหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อหุ้น และน่าจะสามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ได้หลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ต้องยอมรับว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะบริษัทแม่และ OR พยายามดึงเวลา เพื่อประเมินสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอันตรายตลอดปี 2563 หลังจากยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ร่างหนังสือชี้ชวน) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 และ ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขอเสนอขาย IPO จำนวน 3,000 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562
จนกระทั่งตัดสินใจลุยตลาดหุ้นวัวดุเสนอขายหุ้น เพราะจะครบกำหนดการเสนอขายตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
บรรดาโบรกเกอร์ต่างคาดหมายว่า OR จะเริ่มโรดโชว์การขายหุ้นไอพีโอในวันที่ 20 มกราคมนี้ จากนั้นเปิดให้นักลงทุนและนักลงทุนที่ได้สิทธิจากหุ้นแม่ PTT จองซื้อทั้งช่องทางผ่านโบรกฯ และธนาคาร ในวันที่ 25-28 มกราคม
สำหรับการนำ OR เข้าระดมทุนครั้งนี้ เป้าหมายเพื่อขยายธุรกิจ โดยวางกรอบเงินลงทุนช่วง 5 ปี (ปี 2564-68) ประมาณ 70,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจน้ำมัน สัดส่วน 35% ธุรกิจนอนออยล์ 20% ธุรกิจต่างประเทศ 20% และงบลงทุนสำหรับธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการ (M&A) สัดส่วน 25%
การลงทุนหลักๆ ได้แก่ การขยายสถานีบริการน้ำมันครบ 2,500 แห่ง หรือขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 100 แห่ง และขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน ครบ 5,000 แห่ง จากปัจจุบันตามข้อมูลล่าสุด (ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563) OR มีเครือข่ายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมัน รวม 2,297 แห่ง ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน 3,440 สาขา ร้านสะดวกซื้อ 2,046 แห่ง
ส่วนช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 319,308.41 ล้านบาท มาจากธุรกิจน้ำมัน 291,764.65 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.38% ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ 11,690.81 ล้านบาท สัดส่วน 3.66% ธุรกิจต่างประเทศ 15,845.98 ล้านบาท สัดส่วน 4.96% ที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 ถือเป็นช่วงเวลาลำบากของทุกธุรกิจ เนื่องจากผลกระทบจากพิษโควิด-19 ทำให้แผนการขยายธุรกิจต่างๆ ชะลอตัว
ทว่า นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยืนยันว่า บริษัทยังคงขยายแผนลงทุนตามแผน และพร้อมให้ความร่วมมือกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ขอให้พิจารณาเร่งการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้าวางแผนขยายร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อีก 2,000 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ
ขณะที่การลงทุนสร้างคลังสินค้าของธุรกิจค้าปลีก แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การก่อสร้างล่าช้าในการสั่งเครื่องจักรจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้ล่าช้ามาก ทุกอย่างยังสามารถเดินหน้าได้ตามแผน
ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดตามหนังสือชี้ชวนเสนอขายหลักทรัพย์ของ OR ระบุว่า ปตท. วางบทบาทให้ OR เป็นบริษัทแกนนำ (Flagship) ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะการรุกขยายธุรกิจค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องอาศัยความคล่องตัวสูง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ ปตท. ต้องการแยกธุรกิจค้าปลีกออกจากบริษัทแม่
ที่สำคัญ ธุรกิจค้าปลีกของ OR ไม่ใช่มีเพียงร้านคาเฟ่อเมซอนและร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ แต่มีการขยายเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อเสริมจุดแข็งให้สถานีบริการน้ำมัน PTT Station และขยายฐานรายได้จากการปูพรมสาขานอกสถานีบริการน้ำมัน
OR จึงพยายามปลุกปั้นแบรนด์ร้านอาหารและซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์แบรนด์ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเซกเมนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไก่ทอด “เท็กซัส ชิคเก้น” แบรนด์ร้านฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ และแบรนด์ที่บริษัทเป็นเจ้าของ ได้แก่ ร้านชา เพิร์ลลี่ ที และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ซึ่งมีสาขามากกว่า 1,960 ร้าน รวมถึงการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊มน้ำมัน นอกจากนี้ เร่งดึงพันธมิตรร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เช่น แบล็คแคนยอน เชสเตอร์กริลล์ เอสแอนด์พี เดอะพิซซ่า ร้านเจ้าสัว ร้านฟาสต์ฟู้ดเอแอนด์ดับบลิว เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี แมคโดนัลด์ จนถือเป็นสถานีบริการน้ำมันที่มีความหลากหลายมากกว่าคู่แข่งค่ายอื่นๆ
เบื้องต้น ตามแผนในหนังสือชี้ชวนกำหนดเป้าหมายจะปูพรมเพิ่มร้านคาเฟ่อเมซอน 418 แห่งต่อปี ร้านอาหารเท็กซัส ชิคเก้น 20 แห่งต่อปี ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ 19 แห่งต่อปี และมีแผนซื้อแบรนด์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) และการจัดตั้งบริษัทร่วมค้า (Joint Venture)
อย่างล่าสุด บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) บริษัทย่อยที่ OR เป็นเจ้าของทั้งหมด ได้ลงนามซื้อหุ้น บริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมกาแฟครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเมล็ดกาแฟ จัดจำหน่าย บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์สำหรับร้านกาแฟและเครื่องมือสำหรับบาริสต้า รวมถึงดำเนินธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ “Pacamara” ซึ่งถือเป็นการต่อยอดธุรกิจกาแฟครบวงจร และขยายฐานตลาดกาแฟกลุ่ม Specialty Coffee ที่กำลังได้รับความนิยมมาก
ขณะเดียวกัน บริษัทเร่งลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าสำหรับธุรกิจคาเฟ่อเมซอน การก่อสร้างโรงงานผงผสมเครื่องดื่ม เพื่อควบคุมรสชาติและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในร้านคาเฟ่อเมซอน
การก่อสร้างโรงงานเบเกอรี่ส่วนกลาง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และควบคุมมาตรฐานคุณภาพ และการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด เพื่อผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดภายใต้แบรนด์ OR ผลิตเพื่อจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และรับจ้างผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอกด้วย
ทั้งหมดถือเป็นเกมรุกครั้งใหญ่ หลังจากคู่แข่งต่างไล่กวดแบบจี้ติด โดยเฉพาะบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ประกาศอัดเงินลงทุนปีนี้ 4,000-5,000 ล้านบาท ผุดสถานีบริการน้ำมันเพิ่ม 150-200 แห่ง และอัดฉีดธุรกิจนอนออยล์ 2 แบรนด์หลัก คือ ร้านกาแฟพันธุ์ไทย และร้านสะดวกซื้อแม็กซ์มาร์ท เน้นการสร้างแบรนด์ให้คนรู้จักมากขึ้นผ่านบัตรสมาชิกแม็กซ์การ์ด 18 ล้านราย ซึ่งถ้าดูตัวเมื่อสิ้นปี 2563 พีทีจีมีสถานีบริการน้ำมัน PT มากกว่า 2,100 แห่ง และตั้งเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 17% เป็นอันดับ 2 รองจาก OR
ด้านบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งงบลงทุนกลุ่มธุรกิจการตลาด 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมันใหม่ 100 แห่ง จากสิ้นปี 2563 มีสถานีรวม 1,240 แห่ง และขยายกลุ่มนอนออยล์ เช่น ร้านกาแฟอินทนิล ซึ่งปีนี้จะเปิดสาขาในต่างประเทศ เช่น ลาว อีก 3-5 แห่ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และพฤติกรรมผู้บริโภค
ส่วนอีกค่ายที่กำลังเร่งเติบโต คือ ซัสโก้ ปีนี้ชูภาพลักษณ์ใหม่การเป็นสถานีบริการครบวงจรภายใต้สโลแกน “Fuel Your Day เติมพลังให้วันของคุณ” โดยเตรียมเปิดร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 เพิ่มอีก 10 แห่ง เพิ่มร้านกาแฟสตาร์บัคส์และดิโอโร่ เพิ่มพันธมิตรร้านอาหาร ร้านฟาสต์ฟูด เช่น เคเอฟซี ซับเวย์ และร้านอาหารประเภทข้าวแกงอีกหลายแห่ง
นายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนปีนี้ 550 ล้านบาท เพื่อขยายปั๊มน้ำมัน 20 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 242 แห่ง เน้นทำเลกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ใกล้ชุมชน เพราะมีความต้องการใช้น้ำมันสูง และกลุ่มนอนออยล์มีพันธมิตรรายใหญ่ เช่น สตาร์บัคส์ ซึ่งเปิดแล้ว 1 สาขา ในสถานีบริการน้ำมันซัสโก้ สาขาราชพฤกษ์ ปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา และร้านอาหารฟาสต์ฟูด KFC DRIVE-THRU มี 1 สาขา โดยเตรียมเปิดเพิ่มอีก 4-5 สาขา
แต่ทั้งหมดทั้งมวล เบอร์ 1 อย่าง OR คงต้องรีบงัดกลยุทธ์เร่งสปีดทิ้งห่างคู่แข่งมากขึ้นแน่