พิษการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต้นตอใหญ่มาจากตลาดค้ากุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลดาวกระจายเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าที่เดินทางมารับอาหารทะเลสดไปขายปลีกในหลายจังหวัด จนเกิดกระแสหวาดผวาอย่างหนัก ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกเดินตลาดสดแห่เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตอกย้ำมาตรฐานความปลอดภัย ไร้เชื้อ แถมมีโปรโมชั่นแรงๆ แข่งขันกันมากขึ้น
ล่าสุด เครือข่ายสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งเปิดเผยสถานการณ์กุ้งของไทย ระบุว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2563 โดยรวมอยู่ที่ 270,000 ตัน ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 290,000 ตัน เป็นผลจากปัญหาเรื่องโรคระบาดและความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อตลาดและราคาตกต่ำ
ขณะเดียวกัน การส่งออกกุ้งช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2563 มีปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ส่งออกปริมาณ 135,249 ตัน มูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ที่ร้อยละ 9 และร้อยละ 11 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูป แต่ไม่รวมกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มีมูลค่า 115,912.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09% แต่หากนับตัวเลขเฉพาะกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ไม่รวมกุ้งกระป๋อง มีมูลค่าส่งออก 27,347.09 ล้านบาท ลดลง 11.37%
ที่สำคัญ ผลกระทบจากการไม่กล้ารับประทานอาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ทำให้ราคาอาหารทะเลลดลงอย่างหนัก เช่น กุ้งขาวไซส์มาตรฐาน ปกติราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 250 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงเหลือไม่ถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม และผู้ค้าหลายรายไม่สามารถปล่อยขายตามตลาดสด ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก
ทว่า ความไม่มั่นใจต่อการบริโภคอาหารทะเลตามตลาดสดกลับเปิดโอกาสให้บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ใหญ่สามารถสร้างยอดขายเติบโตสูงขึ้นมาก เนื่องจากกลุ่มลูกค้ายังมีความต้องการบริโภคอาหารทะเลในในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่และส่วนใหญ่เลือกทำอาหารภายในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนมากกว่าการไปรับประทานตามร้านอาหารนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ การเร่งตอกย้ำจุดขายเรื่องมาตรฐานสินค้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่มีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศทั้งเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ท็อปส์ และแฟมิลี่มาร์ท ออกมายืนยันกระบวนการตั้งแต่แหล่งผลิตที่ปลอดภัย การขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค ผ่านศูนย์กระจายสินค้าที่ผ่านมาตรฐานรับรองความปลอดภัยในอาหารระดับสากล หรือ FSSC 22000 เวอร์ชั่น 5 โดยเลือกแหล่งวัตถุดิบอาหารทะเลสดจากพื้นที่ปลอดภัยที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมประมง ส่งตรงจากฟาร์มถึงคลังสินค้าผ่านกระบวนการตรวจสอบฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ก่อโรคในวัตถุดิบด้วยระบบโอโซน หรือคลอรีน ตามมาตรฐานกรมประมง ควบคุมสุขลักษณะในกระบวนการผลิต
มีการส่งสินค้าตามหลักมาตรฐานอาหาร (Good Manufacturing Practice : GMP) และปฏิบัติตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อย่างเคร่งครัด
ก่อนหน้านี้ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ยังลุยปรับโฉมเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์และท็อปส์ เพื่อรองรับพฤติกรรม New Normal และสร้างฟู้ดสโตร์ที่มีจุดขายโดดเด่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ unique shop-in-shop โดยเผยโฉมเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ สาขา เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เป็นแห่งแรก ลักษณะห้องครัวขนาดใหญ่ของเชฟระดับโลก เน้นความหลากหลาย เช่น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ท้องถิ่นจากโครงการหลวง กลุ่มเกษตรกรบ้านน้ำดุกและซำสูงที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร
มีโซนอาหารทะเล ISHMONGER รูปแบบเดียวกับตลาดปลาบิลลิ่งส์เกตในลอนดอน โซนเนื้อสัตว์ JAMES THE BUTCHER โซน THE BAKER เลือกใช้แป้งบาวาเรียไม่ขัดสีจากโรงสีไอเชอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปและมีเบเกอรี่มากกว่า 260 รายการ และมีโซนอาหารพร้อมรับประทาน CENTRAL EATERY ปรุงสดใหม่ทั้งวันและมีพนักงานให้บริการถึงโต๊ะ รวมทั้งสตรีทฟูด ร้านค้าชื่อดัง เช่น บุญตงเกียรติข้าวมันไก่สิงคโปร์ เฮงหอยทอดชาวเจริญนคร คุณเชิญมังสวิรัติ
นอกจากนี้ เพิ่มโซน HEALTHIFUL ร้านจำหน่ายสินค้าและอาหารเพื่อสุขภาพครบวงจร ภายใต้สโลแกน Nature’s Delights for a Healthy Life หลังเปิดสาขาแรกที่ท็อปส์ มาร์เก็ต แจ้งวัฒนะ และปัจจุบันเปิดแล้ว 13 สาขา แบ่งเป็น Shop in shop ในซูเปอร์มาร์เก็ต 12 สาขา และสาขาสแตนด์อะโลนอีก 1 สาขา ซึ่งล่าสุด HEALTHIFUL ได้รับการคัดเลือกจากสถาบัน IGD (Institute Grocery Distribution) ประเทศอังกฤษ ให้เป็น 1 ใน 50 ร้านสุขภาพที่ดีที่สุดระดับโลก ประจำปี 2563
สเตฟาน คูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กล่าวว่า การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกคนต้องปฏิวัติตัวเอง เกิดเทรนด์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ เน้นการดูแลสุขภาพเป็นอันดับแรกเพื่อให้ห่างไกลจากโรค และอาหารคือปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าสินค้าต้องมีมาตรฐานและปลอดภัย
ด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ปัจจุบันมีร้านซีพีเฟรชมาร์ท จำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน พร้อมปรุง วัตถุดิบต่างๆ และร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งล่าสุดเพิ่มหมวดสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ปลา และกุ้ง เป็นอีกตู้แช่หนึ่งในร้านโฉมใหม่ เพื่อรองรับวิถีชีวิต New Normal ที่ต้องการความหลากหลายครบวงจรและสะดวกรวดเร็ว
ทั้งนี้ หากรวมจำนวนสาขาซีพีเฟรชมาร์ท ซึ่ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตั้งเป้าหมายขยาย 2,000-3,000 สาขาภายใน 2-3 ปี และเพิ่มเป็น 4,000 สาขาภายใน 6-7 ปี หรือเฉลี่ยเพิ่มสาขาใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 200 สาขา จากปัจจุบันเปิดให้บริการประมาณ 400 กว่าสาขา เพื่อรุกทุกชุมชน ทั้งตลาดสด หมู่บ้าน และถนนสายหลักๆ บวกกับเป้าหมายของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่เดินหน้าปูพรมร้านเซเว่นอีเลฟเว่นให้ครบ 13,000 สาขา ภายในปี 2564 ย่อมหมายถึงโอกาสการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากที่สุด
ที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ปรากฏว่า มีลูกค้าแห่เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในร้านซีพีเฟรชมาร์ทเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งซีพีเอฟเองได้เร่งชูจุดขายเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและนำเสนอสินค้าในราคาโปรโมชั่น ทั้งลดทั้งแถม
เช่น การนำเสนอ “กุ้ง ซีพีแปซิฟิก” ไซส์ XL ราคากิโลกรัมละ 199 บาท โดยระบุว่า เป็นกุ้งที่จับจากปากบ่อส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทันทีภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง ระบบ CPF Combine Model แนวทาง “3 สะอาด” ประกอบด้วย พื้นบ่อสะอาด น้ำสะอาด และลูกกุ้งสะอาด ช่วยให้กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้ดี มีอัตราการเติบโตดี และใช้โปรไบโอติก ลดความเสี่ยงการเกิดโรคของกุ้ง โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะระหว่างการเลี้ยง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า กระแสการบริโภคของโลกได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่การบริโภคเพื่อสุขภาพชัดเจนมากขึ้น ความปลอดภัยและการเข้าถึงอาหารกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด ผู้คนมองหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ถูกหลักอนามัย ปลอดเชื้อ ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน และง่ายในการปรุง สะดวกรับประทาน คุ้มราคาที่จ่าย รวมถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนสู่วิถี Food delivery, Cooking at Home และพฤติกรรมการซื้อสินค้าถูกเร่งเข้าสู่ Online Streaming และ e-commerce อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นแนวคิด “FOOD FOR TOMORROW” ตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในมิติที่หลากหลาย ซึ่งบริษัทได้นำเสนอแนวคิดในงาน Thaifex-Anuga World of Food Asia 2020 ที่ผ่านมา
ซีพีเอฟจึงพยายามปรับโฉมสาขา เพิ่มรายการสินค้า เพิ่มสินค้ากลุ่มชาบู หรือ “สถานีชาบู” เช่น เนื้อหมูสไลด์ เนื้อหมูเบคอน ไก่หมัก กลุ่มอาหารทะเล เช่น กุ้ง ปลา กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมการเลือกทำอาหารรับประทานเองภายในบ้านมากขึ้น ไม่ต่างจากการไปตลาดสดแถวบ้าน สามารถใช้บริการเดลิเวอรี่ และแถมโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ
ดังนั้น หากเปรียบเทียบธุรกิจค้าปลีกในแต่ละเซกเมนต์แล้ว ต้องถือว่า กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตและมินิซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นดาวรุ่งที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2564 และสามารถฝ่าวิกฤตโควิดได้อย่างแข็งแกร่งด้วย