วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ข้อตกลง RCEP โอกาสใหม่ของไทย?

ข้อตกลง RCEP โอกาสใหม่ของไทย?

การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เมื่อช่วงสัปดาห์ผ่านมา กลายเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าครั้งสำคัญของ ASEAN ในการแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนครอบคลุมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้กรอบ ASEAN+3 และ ASEAN+6 หลังจากที่แต่ละฝ่ายดำเนินความพยายามผลักดันมานานเกือบ 1 ทศวรรษ

กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมในความตกลง RCEP นอกจากจะประกอบด้วยประเทศในกลุ่ม ASEAN รวม 10 ประเทศแล้ว ยังประกอบด้วย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมเป็น 15 ประเทศ ซึ่งทำให้ RCEP เป็นเขตการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย RCEP มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 27,530 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น ร้อยละ 27.7 ของเศรษฐกิจโลก และเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากมีประชากรรวมกว่า 3,549 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.3 ของจำนวนประชากรโลก และยังมีมูลค่าการค้ารวม 11,545 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29.4 ของมูลค่าการค้าโลกอีกด้วย

ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ซึ่งประกอบด้วย 20 บท เป็นความตกลงที่ครอบคลุม มีคุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจาก FTA ของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้าตลอดจนประเด็นใหม่ๆ ว่าด้วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งจากกรณีของ RCEP ก็คือความตกลงดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น 3 ใน 4 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชีย ได้ลงนามในความตกลงการค้าเสรีร่วมกัน ขาดเพียงอินเดียที่ได้ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ เพราะนอกจากจะมีการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีน ยังมีความกังวลว่าจะเผชิญปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีน ทั้งในกลุ่ม เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไหลทะลักเข้าประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์นมจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะทำให้อินเดียขาดดุลการค้ามากยิ่งขึ้นโดยสมาชิก RCEP ยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจา RCEP ตั้งแต่ปี 2555

การลงนามในความตกลง RCEP ในห้วงเวลาปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทั้งโลกต่างเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ จากผลของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันทางการค้าที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และสำทับด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะชักงัน และส่งผลกระทบรุนแรงในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ความตกลง RCEP จึงดำเนินไปท่ามกลางความคาดหวังว่าความร่วมมือครั้งใหม่นี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของอาเซียนในห้วงเวลาจากนี้ ด้วยการเชื่อมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าสู่เศรษฐกิจโลกอีกทางหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจของ RCEP ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain) ครอบคลุมในทุกมิติ ดูจะเป็นกรณีที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในรัฐไทย ประเมินว่าไทยน่าจะได้ประโยชน์ และเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เพราะไทยเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญทางการค้าและการลงทุนของไทยเมื่อเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Economic Corridor : EEC) ที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อเศรษฐกิจ (New S-curve) จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น จึงเชื่อว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้สามารถก้าวข้ามจากประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้

ทัศนะว่าด้วยความได้เปรียบของไทยในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงไปยังส่วนอื่นๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับจีนทางด้านเหนือ การเชื่อมโยงไปอินโดนีเซียทางใต้ เชื่อมต่อเวียดนามทางด้านตะวันออก สู่เมียนมา ทางด้านตะวันตก และเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศอาเซียนเพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่เป็นประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดูจะเป็นแนวความคิดที่ครอบมิติมุมมองของกลไกรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยเลย และทำให้การประเมินผลดีและโอกาสจาก RCEP ดำเนินไปในลักษณะที่เชื่อมั่นและเปี่ยมด้วยความหวัง ไม่ต่างจากความเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Economic Corridor : EEC) จะเป็นจักรกลในการนำพาเศรษฐกิจไทยให้กระเตื้องขึ้นในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้

ประโยชน์ประการหนึ่งของ RCEP อาจอยู่ที่การเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP จากเดิมที่เป็นแบบทวิภาคี ซึ่งจะทำการลดกำแพงภาษีระหว่างกันจะเอื้อประโยชน์ต่อโอกาสทางการค้าทั้งจากสินค้าและบริการของไทย รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การเกิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่อย่าง RCEP ย่อมมิได้นำมาซึ่งโอกาสแต่โดยลำพัง หากยังมีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งด้านฝีมือแรงงานและสินค้าราคาถูกที่พร้อมจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ตลาด ทั้งในช่องทางการค้าปกติและจากการค้า E-Commerce ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกรไทยไม่น้อยเลย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งจากผลของความตกลง RCEP อยู่ที่ผลกระทบต่อภาคการเงินของไทย ซึ่งจะต้องเปิดเป็นตลาดเสรีมากขึ้น ซึ่งนอกจากส่งผลให้เกิดการแข่งขันในภาคบริการที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นแล้ว กรณีดังกล่าวอาจทำให้ภาคการเงินไทยถูกกดดัน และติดตามมาด้วยการลดระดับการป้องกันจากกฎหมายลง ซึ่งอาจจะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะทำให้บริการทางการเงินถูกเคลื่อนย้ายตามแรงงานและทุน

สิ่งที่กลไกภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องตระหนักจากผลพวงของการลงนามในความตกลง RCEP ที่เกิดขึ้นนี้ก็คือการเร่งปรับตัวทั้งในระดับยุทธศาสตร์และแผนงาน ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงโอกาสและประโยชน์จากความตกลงนี้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันรองรับความท้าทาย และผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาคต่างเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทาย ที่ไม่ได้เกิดจากการระบาดของ COVID-19 เท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการค้าขายในระดับโลกที่ลดลง การลงนามในความตกลง RCEP จึงเป็นการส่งข้อความว่าอาเซียนจะมีบทบาทนำ สนับสนุนระบบการค้าที่หลากหลาย สร้างเครือข่ายการค้ารูปแบบใหม่ในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการค้าให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งในบทบาทนำนี้ด้วยหรือไม่ และอย่างไร

ใส่ความเห็น