วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > AWC เจ้าสัวเจริญมองไกล ตั้งกองทุนหมื่นล้านซื้อโรงแรม

AWC เจ้าสัวเจริญมองไกล ตั้งกองทุนหมื่นล้านซื้อโรงแรม

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมาก เพราะจากสถิติการท่องเที่ยวของไทยในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท และประมาณ 63 เปอร์เซ็นต์เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ 1.9 ล้านล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ

รายได้ที่หดหายไปส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมและแรงงานในภาคการบริการอย่างมาก ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมบางรายประกาศปิดกิจการชั่วคราวไปจนถึงขั้นประกาศขายกิจการ ข้อมูลจากสมาคมโรงแรมไทยพบว่า ธุรกิจโรงแรมเลิกจ้างพนักงานไปแล้วประมาณ 1 ล้านคน พร้อมทั้งวอนขอให้รัฐช่วยเหลือด้วยการออกมาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ค่าจ้างงาน ค่าสาธารณูปโภค

เมื่อยังไม่มีวัคซีนออกมาและยังไม่มีใครตอบได้ว่า การแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แม้ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ และคนไทยสามารถเดินทางท่องเที่ยวกันได้แล้วก็ตาม ทว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของคนไทยยังคงเงียบเหงา อันเป็นผลมาจากการระมัดระวังในการใช้จ่าย เพราะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะเปราะบาง กำลังซื้ออ่อนแอ

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว อย่างโครงการ “เที่ยวด้วยกัน” แต่สัดส่วนที่เกิดขึ้นยังมีจำนวนไม่มาก ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่สายป่านไม่ยาวพอจำเป็นต้องตัดสินใจขายกิจการทิ้งเพื่อความอยู่รอด

กระทั่งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกลุ่มทุน บริษัท จำกัด (มหาชน) หรือ AWC มองการณ์ไกลด้วยการจัดตั้งกองทุนที่มีวงเงินสูงถึงหมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมซื้อโรงแรมที่มีผู้เสนอขาย

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเจ้าของโรงแรมจำนวนหนึ่งเสนอขายโครงการโรมแรมและคอมเมอร์เชียล หากนับเฉพาะจำนวนโรงแรมที่เสนอขายให้ AWC มีมากกว่า 100 โครงการ มูลค่าตั้งแต่หลักร้อยล้านถึงหมื่นล้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุนไทย มีทั้งแบบที่บริหารเองและจ้างเชนมาบริหาร เป็นโรงแรมในระดับ 3-5 ดาว ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี

หลายคนอาจมองว่า AWC ฉวยโอกาสท่ามกลางวิกฤตหรือไม่ แต่ผู้บริหาร AWC มองว่าสถานการณ์นี้ทำให้บริษัทสามารถซื้อโรงแรมเข้ามาเติมในพอร์ตเพิ่ม และนำมาปรับปรุงสร้างมูลค่าแก่นักลงทุนของ AWC อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบให้อยู่รอดในภาวะวิกฤต

โดย AWC มีแผนที่จะดึงนักลงทุนต่างชาติ เช่น Private Fund จากเอเชีย ยุโรป มาเข้าร่วม ซึ่งเตรียมจัดตั้งกองทุนในลักษณะ Opportunity Fund เพื่อเข้าซื้อกิจการโรงแรม โดยจะมี AWC เข้ามาบริหาร และคาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564

แม้จะมีโรงแรมเสนอขายกว่า 100 โครงการ แต่มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ตรงกับความต้องการของ AWC พิจารณาจากโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ของเมืองที่มีศักยภาพ แต่ไม่ได้จำกัดว่ากี่ดาว มุ่งเน้นไปที่โลเคชันกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งคือนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว และกลุ่มจัดประชุมสัมมนา

นอกจากนี้ วัลลภายังเปิดเผยแผนงาน 5 ปี (พ.ศ. 2563-2567) ว่า AWC ยังคงงบลงทุนเดิมที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการโรงแรมใหม่ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา 12 แห่ง

เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนของ AWC จะเห็นได้ว่า เป็นการเตรียมพร้อมหากสถานการณ์โควิด-19 จบลงหรืออย่างน้อยประเทศไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นในปีหน้า

ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าผู้ประกอบการโรงแรมไทยที่เริ่มแบกภาวะการขาดสภาพคล่องไม่ไหว ปล่อยขายกิจการในราคาถูกให้กับนายทุนต่างชาติ ที่อาจเข้ามากดราคาโดยผ่านทางบริษัทที่คอยมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจโรงแรมในช่วงที่เกิดวิกฤต

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร เคยแสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าว พร้อมเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 1 แสนล้านบาทสำหรับจัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยวช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเดินต่อได้ เพราะหากรัฐบาลเพิกเฉยอาจส่งผลให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาไล่ซื้อกิจการของคนไทยในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

กรณีการเข้าซื้อกิจการธุรกิจโรงแรมของกลุ่มทุนจากต่างชาติ ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงว่า หากธุรกิจโรงแรมถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของชาวต่างชาติแล้ว การจ้างงานที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้ตลาดแรงงานไทยสูญเสียโอกาส เพราะเจ้าของโรงแรมที่เป็นชาวต่างชาติอาจเลือกคนจากประเทศตัวเองเข้ามาทำงาน

ขณะที่มีการคาดการณ์ทิศทางการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ว่า การท่องเที่ยวไทยอาจมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และสัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป เพราะรายได้ส่วนใหญ่อาจมาจากนักท่องเที่ยวในประเทศ ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์

ทว่า รายได้การท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังต้องอาศัยปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายประการ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังมีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายจากภาครัฐ

อีกทั้งยังต้องติดตามต่อไปว่า นโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2/2564 อย่างที่หวังไว้หรือไม่ ในขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศยุโรปและโซนโอเชียเนียคาดว่าจะสามารถเดินทางกลับเข้ามาเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ข่าวการเตรียมเข้าซื้อกิจการธุรกิจโรงแรมของ AWC น่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สร้างฐานความมั่นคงของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เมื่อปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมที่เปิดให้บริการไปแล้วรวม 18 แห่ง เกือบ 5,000 ห้อง

นับว่าการสยายปีกของ AWC ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 สร้างความได้เปรียบในด้านธุรกิจให้ตัวเองได้อย่างไม่ธรรมดา

ใส่ความเห็น