ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตโควิด-19 สร้างความเสียหายเชิงโครงสร้างแก่ทุกประเทศที่มีการแพร่ระบาด ทั้งด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจทั้งระบบ เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นตัวจากสถานการณ์อันยากลำบากในห้วงยามนี้ ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นทุนเดิม
ประเทศจีนแม้จะเป็นประเทศต้นทางการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายนี้ และต้องเผชิญกับวิบากกรรมก่อนประเทศอื่น หลายประเทศแสดงความกังวลว่าจีนจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร
การประกาศล็อกดาวน์ของจีนในเวลานั้นส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งผลกระทบต่อประชากรในประเทศตัวเอง รวมไปถึงผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า แต่ความเอาจริงเอาจังและศักยภาพที่มีทำให้จีนผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้ในที่สุด
และด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน เศรษฐกิจจีนที่เคยฟุบตัวลงในช่วงเวลาหนึ่งกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีอีกครั้ง
โดยเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3/2563 มีการขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2563 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 เป็นผลสืบเนื่องจากการทยอยฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังจากที่ทางการจีนได้ออกมาตรการผ่อนคลายการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563
นอกจากนี้ กิจกรรมการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คำสั่งซื้อที่สูงขึ้น ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากจีน ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง อาทิ อุปกรณ์วัดไข้ ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย อีกทั้งมาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ของหลายประเทศช่วยหนุนความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีน
โมเมนตัมข้างต้นจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2563 จะยังขยายตัวต่อเนื่องได้สูงกว่าร้อยละ 5.0 (บนสมมุติฐานที่ไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างระลอกสอง)
หากแต่ยังคงเป็นอัตราการขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อันเนื่องมาจากภาคการส่งออกของจีนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวยังฟื้นตัวได้ไม่สมบูรณ์ อาทิ อัตราการขยายตัวของรายได้สุทธิที่ยังเติบโตช้ากว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก จนอาจยังกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน
สำหรับเศรษฐกิจจีนปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองต่อภาคการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี 2563 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-3.0 ต่อปี (ค่ากลางที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี) ภายใต้ความเสี่ยงหลากหลายด้านที่จีนยังต้องเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังน่ากังวล หรือประเด็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังคุกรุ่น
การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายประการ และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจีนถึงได้ชื่อว่าเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก
การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพมาอย่างต่อเนื่องของจีน ทำให้จีนกลับมาดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในทันทีที่มีการประกาศชัยชนะ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วแม้จะถูกแช่แข็งไปหลายเดือน
การสร้างสรรค์โอกาสท่ามกลางวิกฤต แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด อุตสาหกรรมหลายตัวหยุดชะงัก แต่ธุรกิจการให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กลับขยายได้เป็นอย่างดี โดยภาคบริการอินเทอร์เน็ตและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีรายได้รวม 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.89 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบปีต่อปี
ขณะที่บทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของโลกอยู่ในประเทศจีน นี่เองที่ทำให้จีนสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อจีนเป็นทั้งตลาดของภาคการผลิตที่ครองสัดส่วนเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของภาคการผลิตทั้งโลก ในขณะที่จีนเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนผู้มีรายได้ปานกลางกว่า 400 ล้านคน
มีผลสำรวจที่น่าสนใจจากหอการค้าอเมริกันในกรุงปักกิ่งพบว่า นักธุรกิจจากสหรัฐฯ ยังคงมั่นใจและคาดหวังจากผู้บริโภคชาวจีน แม้จะได้รับผลกระทบจากโรคระบาด แต่ปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศบนจีนแผ่นดินใหญ่ฟื้นตัวในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 11.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบปีต่อปี
นอกจากนี้ อีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลจีนที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดย่อม (SME) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ อีกทั้งจีนยังมีโอกาสขยับขยายและปรับปรุงระบบคุ้มครองทางสังคมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพิ่มพูนการลงทุนแบบพุ่งเป้าในโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่
กระนั้นกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังได้เสนอนโยบายที่จะสร้างความแข็งแกร่งต่อโครงสร้างเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น นโยบายการคลังเชิงรุกในทิศทางบวก นโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสม และนโยบายการจ้างงาน
นโยบายด้านเศรษฐกิจที่จีนนำออกมาใช้หลังวิกฤตโควิด-19 และส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศตัวเองมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ไว้เมื่อกลางเดือนเมษายนว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโต 1.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ แม้จะมีการหดตัวในไตรมาสแรกก็ตาม ก่อนจะกระโดดกลับขึ้นมาเติบโตได้สูงถึง 9.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2021 และอาจกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก
เมื่อพิจารณาทิศทางและเหตุผลการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนแล้ว ย้อนกลับมามองความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทยว่าจะมีหนทางใดที่จะหลุดพ้นตัวเลขจีดีพีที่ติดลบได้หรือไม่
ไทยยังจมปลักกับปัญหาเดิมๆ ที่รุมเร้าต่อเนื่อง ทั้งปัญหาด้านการเมืองที่ปัจจุบันเริ่มเห็นความขัดแย้งที่ชัดเจนและเริ่มขยายวงกว้างขึ้น ขณะที่สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยยังไม่หลุดพ้นจากคำว่า “ถดถอย” ทั้งจากความเปราะบางที่มีอยู่เป็นทุนเดิม และการซ้ำเติมจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง
นอกจากนี้ การพึ่งพาตลาดต่างชาติเป็นหลักทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะหลุดพ้นจากตัวเลขจีดีพีติดลบ แม้จะเริ่มมีความหวัง เมื่อปัจจุบันไทยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศได้แล้ว ภายใต้มาตรการ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนทั้งสองกลุ่มจะต้องผ่านการคัดกรองโควิด-19 และเข้าสู่สถานที่กักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน
ทว่า นักท่องเที่ยวจากจีนที่มีจำนวนไม่ถึงสองร้อยคน หากมองเรื่องของรายได้ที่จะเข้าประเทศ อาจจะยังไม่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่ได้ แต่นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีนในครั้งนี้ดูจะเป็นความหวังเดียวในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้
แน่นอนว่า ในอนาคตรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมองหานโยบายที่จะสร้างให้เกิดรายได้ที่มั่นคงมากกว่าในปัจจุบัน เมื่อเห็นแล้วว่าการพึ่งพาตลาดต่างชาติมากจนเกินไปนั้น จะเกิดปัญหาอะไรบ้างเมื่อโลกเผชิญวิกฤตเช่นนี้
นอกจากนี้ ไทยยังต้องพยายามแก้ปัญหาในเรื่องค่าแรงที่ส่งผลต่อการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม แน่นอนว่าหากภาครัฐปรับลดอัตราค่าแรงขั้นต่ำลง คงจะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ค้าแรงงานแน่นอน แต่หากมีการปรับอัตราค่าแรงเพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้ว่า เราคงจะได้เห็นการอพยพย้ายถิ่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น
ภาครัฐคงต้องสรรหานโยบายใหม่ที่จะบาลานซ์โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดต่างชาติสูงเท่าปัจจุบัน แต่ให้อุตสาหกรรมหลักของไทยยังคงอยู่ได้ด้วยตัวเอง เฉกเช่นที่จีนทำ
หลายคนอาจจะมองว่าจีนได้เปรียบในเรื่องจำนวนประชากร และโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ถูกวางรากฐานให้สามารถขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อุปทานได้ อีกทั้งยังพึ่งพาตัวเองได้แม้ประเทศอื่นๆ ยังเผชิญกับวิกฤตต่อไป
ไทยไม่ได้อ่อนแอลงจากวิกฤตจากภายนอกประเทศเท่านั้น แต่ปัญหาภายในก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ไทยอ่อนแอลงทั้งเศรษฐกิจและการเมือง และปัญหาที่รุมเร้ารอบด้านในปัจจุบัน คงทำให้เศรษฐกิจยากที่จะหลุดพ้นจากตัวเลขจีดีพีที่ติดลบ หวังเพียงว่าไตรมาสสุดท้ายของปีสถานการณ์จะไม่แย่ลงไปกว่าเดิม