วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > “เจริญ” เดินหน้าอสังหาฯ แสนล้าน ดัน “เดอะปาร์ค” วัดดวงสู้วิกฤต

“เจริญ” เดินหน้าอสังหาฯ แสนล้าน ดัน “เดอะปาร์ค” วัดดวงสู้วิกฤต

ทีซีซีกรุ๊ปของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ตัดสินใจเดินหน้าโครงการอสังหาริมทรัพย์แสนล้าน ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เหล่ากูรูต่างฟันธงอัตราจีดีพีไทยมีสิทธิ์ติดลบทะลุตัวเลขสองหลัก หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองของเชื้อโควิด-19 โดยล่าสุดเผยโฉม เดอะ ปาร์ค ไลฟ์ (The PARQ Life) ปลุกจุดขายไลฟ์สไตล์รีเทล ตามแผนสร้างย่านธุรกิจขนาดใหญ่บนถนนพระราม 4 ซึ่งปักหมุดไว้ตั้งแต่อาคาร FYI Center อาคาร ThaiBev Quarter และตามด้วยการเร่งพลิกโฉมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ขณะเดียวกันเมื่อจิ๊กซอว์ทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งเดอะปาร์ค เฟส 2 จะมีพื้นที่สำนักงานระดับพรีเมียมเพิ่มเติม โรงแรมหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เน้นให้บริการกลุ่มนักธุรกิจและผู้คนที่เดินทางมาประชุมสัมมนาที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ซึ่งจะเปิดให้บริการในรูปลักษณ์ใหม่ ขยายพื้นที่การจัดงานเพิ่มขึ้นจาก 20,000 ตารางเมตร เป็น 70,000 ตารางเมตร จะปลุกกระแสต่อยอดไปถึงอภิมหาโครงการ วัน แบงค็อก ที่เตรียมประเดิมเปิดเฟสแรกในปี 2566

เป้าหมายใหญ่ คือ วัน แบงค็อก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จะเป็นศูนย์ลิงก์เกจเชื่อมโยงทุกโครงการตั้งแต่ถนนพระราม 4 จนถึง “สามย่านมิตรทาวน์” และจะเป็นโปรเจกต์มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 104 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอระดับพรีเมียม 5 อาคาร คอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี 3 อาคาร พื้นที่ค้าปลีก 4 จุดเชื่อมกัน จำนวนร้านมากกว่า 450 ร้าน โรงแรมหรู 5 อาคาร และศูนย์กลางกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม

ที่นี่จะเป็นจุดศูนย์กลางกรุงเทพฯ และประเทศไทย มีผู้คนมากกว่า 2 แสนคนต่อวัน มี Signature Tower ที่สูงกว่า 430 เมตร ซึ่งจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 10 ตึกที่สูงที่สุดของอาเซียน และตั้งเป้าขึ้นแท่นเบอร์ 1 แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของโลก

สำหรับจิ๊กซอว์ตัวล่าสุด “เดอะ ปาร์ค” เฟสแรก มีพื้นที่รวมทั้งหมด 130,000 ตารางเมตร เป็นโปรเจกต์มิกซ์ยูสระหว่างพื้นที่สำนักงานกับค้าปลีก แบ่งเป็น 2 โซนหลัก

โซนแรก The PARQ Workplace สำนักงานเกรดเอ ที่มีพื้นที่ให้เช่าใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ขนาด 60,000 ตารางเมตร และปราศจากเสาภายใน ล่าสุดมีผู้เช่ารายใหญ่ เช่น บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โพเมโล่ (Pomelo) บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย จำกัด

ส่วนอีกโซน The PARQ Life เป็นพื้นที่ร้านค้าปลีกระดับพรีเมียม จำนวน 3 ชั้น เน้นจุดขายสำคัญ Life Well Balanced หรือการใช้ชีวิตอย่างสมดุล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองและปฏิวัติรูปแบบการทำงานของคนทำงาน ร้านค้าส่วนใหญ่เน้นการอัปเกรดชีวิต เช่น ร้านอาหารสุขภาพ ร้านค้าที่ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริการด้านสุขภาพและความงาม รวมประมาณ 60 ร้าน

ร้านค้าที่เปิดให้บริการแล้ว เช่น ศูนย์อาหารฟู้ด รีพับลิค (Food Republic) ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ (Starbucks) เคเอฟซี (KFC) ร้านกาแฟทิม ฮอร์ตันส์ (Tim Hortons) ร้านพีซ โอเรียนทอล ทีเฮ้าส์ (Peace Oriental Teahouse) ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ (Kope Hya Tai Kee) ร้านอาหารญี่ปุ่นโฮวยู (Hou Yuu) ร้าน Sakae Shabu Shabu ร้าน Gyu-Kaku & On-Yasa, ร้านเอกมัย มัคคิอาโต้ (Ekkamai Macchiato) และ ร้านเบรฟ โรสเตอร์ (Brave Roasters)

นอกจากนี้ มี Jetts Black ฟิตเนสชื่อดังระดับโลก ซึ่งเป็นสาขาแฟลกชิปแห่งแรกของไทย MTM Academy ยิมมวยไทยฟิตเนส สถาบันความงาม Amara Beauty and Spa ที่ได้รับรางวัล The Best Healthy & Beauty Business จากประเทศเกาหลี

ในจังหวะเดียวกัน บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “โกลเด้นแลนด์” อีกหนึ่งบริษัทในเครือทีซีซีกรุ๊ป เตรียมงานใหญ่ฉลองการดำเนินการครบรอบ 1 ปีของโครงการสามย่านมิตรทาวน์ในวันที่ 20 กันยายน 2563 หลังผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเตรียมกลยุทธ์เชิงรุกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เพื่อสร้างอัตราการเติบโตต่อยอดไปถึงปี 2564

ต้องยอมรับว่า ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์เน้นจับกลุ่มเป้าหมายนักเรียนนักศึกษา พนักงานออฟฟิศ และกลุ่มครอบครัว ไม่ได้พุ่งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งความเป็นไลฟ์สไตล์รีเทลสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการแบบไม่ติดลบมาก ทั้งในแง่รายได้ของกลุ่มร้านค้าเช่าและทราฟฟิกผู้คนที่เข้ามาใช้บริการ

ทั้งนี้ โกลเด้นแลนด์พยายามย้ำ 5 จุดขายหลัก คือ 1. Place Making Space การเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้ลูกค้าและผู้มาใช้บริการทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากการชอปปิ้ง

2. MRT Direct Link จากทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน ซึ่งสามย่านมิตรทาวน์ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท สร้างอุโมงค์เชื่อมต่อระหว่างตัวสถานีสามย่านมายังสามย่านมิตรทาวน์โดยตรง สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายที่เดินทางมาโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน และจากการเปิดให้บริการต่อขยายรถไฟฟ้าใต้ดินช่วงบางซื่อ-หลักสอง ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเดินทางมาสามย่านมิตรทาวน์สะดวกสบายและมีปริมาณเพิ่มขึ้น

3. Smart Design การออกแบบสถาปัตยกรรม เน้นภาพลักษณ์ความเป็น “สามย่าน” จนกลายเป็นจุดเช็กอินยอดนิยมของผู้คนจำนวนมาก

4. การสร้าง Community Partnership ภายใต้แนวคิดที่ต้องการสร้างกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะวิกฤตโควิด-19 การสร้างงานสร้างอาชีพ บางคนได้อาชีพใหม่ บางคนได้อาชีพที่ 2 รองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เช่น การจัดงานรวมมิตรศิษย์จุฬาฯ (Mitr Marketplace for CU) มิตรนางฟ้า (ร่วมกับการบินไทย) ตลาดรวม ‘มิตร’ ศิษย์ปทุมวัน และ 5. Flexibility ศูนย์การค้าเปิดให้บริการโซนพิเศษเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่โคเลิร์นนิงสเปซ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร อีสปอร์ตคลับ และโซนคาเฟ่สุดฮิป กลายเป็นศูนย์รวมของคนนอนดึก และดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad)! แห่งใหม่

ธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล โกลเด้นแลนด์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนหลังทางการประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนมิถุนายน ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษๆ ผลักดันตัวเลขผู้ใช้บริการพลิกกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว อยู่ที่ 60,000 คนต่อวัน หรือ 80% ของช่วงสถานการณ์ปกติ ยอดขายร้านค้าและอัตราการเช่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 97% โดยยังคงรักษามาตรการด้านความปลอดภัย ทั้งการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 1 คนต่อ 5 ตารางเมตร ทำความสะอาดจุดสัมผัส และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอ เพิ่มระบบวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ และติดตั้งระบบบันทึกประวัติการเข้าใช้บริการไทยชนะทั่วทั้งศูนย์

ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มวัยทำงาน (Adult) มีสัดส่วนมากสุด 63% กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา (University Student & Pre-University) 27% กลุ่มผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และครอบครัว (Active Aging & Household with Kids) 6% ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเพียง 4%

ข้อมูลจากการทำรีเสิร์ชยังพบว่า จุดขายหลักการเป็น “คลังอาหารและการเรียนรู้” ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้โดนใจมากที่สุด โดย 47% มาเพื่อหาอาหารที่มีหลากประเภท ตอบโจทย์ทุกความชอบทุกกลุ่มเป้าหมาย

ขณะที่ 29% มาพบปะสังสรรค์ แฮงก์เอาต์กับกลุ่มเพื่อน ส่วน 15% มาเรียนรู้ในพื้นที่โคเลิร์นนิ่ง อีก 9% เป็นกลุ่มใช้บริการประจำ ต้องการจับจ่ายในร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และสนใจกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ โดยช่วงปลายปีนี้และปี 2564 จะเพิ่มกิจกรรมทางการตลาด เพื่อเพิ่มสีสันกระตุ้นบรรยากาศ โดยเฉพาะการเน้นจุดขายหลัก คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้ (Urban Life Library) สร้าง Destination for Food Lover และอัดซิกเนเจอร์อีเวนต์ เช่น กิจกรรมลานนม และเตรียมดึงร้านค้าใหม่ๆ เพื่อผลักดันยอดผู้ใช้บริการให้อยู่ในระดับเดียวกับที่เคยทำได้ในปีที่ผ่านมา

ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับเทรนด์ศูนย์การค้าที่กำลังมาแรง แน่นอนว่า จุดขายไลฟ์สไตล์รีเทลสามารถผลักดันโปรเจกต์มิกซ์ยูสของทีซีซีกรุ๊ป โดยเฉพาะการตอบโจทย์ผู้คนยุคใหม่ที่ต่างจากศูนย์อื่นๆ

แต่อีกด้านหนึ่ง โจทย์หินในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่หลายฝ่ายประเมินว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวสู่จุดเสี่ยงที่สุด หลังมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ สิ้นสุด ทั้งการพักชำระหนี้และการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ยังเจอปัญหาหนี้ครัวเรือนล้นทะลัก ธุรกิจการท่องเที่ยวระส่ำอย่างหนักและวิกฤตการเลิกจ้าง

ทั้งหมด คือ เกมพิสูจน์ชั้นเชิงกลยุทธ์ธุรกิจจะรอดและรุ่งต่อไปได้หรือไม่

ใส่ความเห็น