วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > จับตาแผนเปิดประเทศ ดึงท่องเที่ยวปลุกกำลังซื้อสุดฤทธิ์

จับตาแผนเปิดประเทศ ดึงท่องเที่ยวปลุกกำลังซื้อสุดฤทธิ์

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในเดือนตุลาคม โดยออกมายอมรับว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย สถานการณ์จะหนักกว่านี้ สถานประกอบการปิด ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ขณะที่รัฐบาลไม่มีเม็ดเงินช่วยเหลือประชาชนได้ทั้งหมด มิหนำซ้ำกำลังเจอวิกฤตรายได้ประเทศ การเก็บภาษีหลุดเป้าหมาย

สาเหตุสำคัญมาจากแผนกระตุ้นกำลังภายในประเทศส่อแววล้มเหลว แม้มีการแจกเงินช่วยเหลือให้ประชาชนหลายกลุ่ม แต่เป็นการชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 กำลังซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ขาดรายได้มากว่า 4-5 เดือน ทั้งการปิดกิจการชั่วคราวและการเลิกจ้าง

ขณะเดียวกันโครงการปลุกการท่องเที่ยวในประเทศ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน http://www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีผู้ลงทะเบียนราว 4.92 ล้านคน ลงทะเบียนสำเร็จ 4.67 ล้านคน แต่มีการจองโรงแรมและจ่ายเงิน 625,606 ห้อง จากจำนวนสิทธิ์ทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ คิดเป็นเม็ดเงินเพียง 1,874.9 ล้านบาท

จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องอัดฉีดเพิ่มวันพักจากเดิม 5 วัน เป็น 10 วัน และช่วยเหลือค่าตั๋วเครื่องบินจากเดิมไม่เกินคนละ 1,000 บาท เป็นคนละไม่เกิน 2,000 บาท

ดังนั้น เมื่อกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจไม่เติบโตจึงกระทบเป็นลูกโซ่ต่อรายได้ภาษี เกิดกระแส “คลังถังแตก” ครม. ต้องอนุมัติกู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาท

แม้นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รีบชี้แจงถึงการอนุมัติกู้เงินเพิ่มเติม 2.14 แสนล้านบาท เป็นการเปิดวงเงินรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งการเลื่อนระยะเวลาชำระภาษีเงินได้ ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 จึงต้องเตรียมการรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 โดยจะกู้ตาม “ความจำเป็น” และพิจารณาร่วมกับระดับเงินคงคลัง รายจ่าย และรายรับของรัฐบาล

ประเด็นคือ กระทรวงการคลังคาดการณ์การเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 จะต่ำกว่าเป้าหมายไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาทแน่นอน ส่งผลให้เงินคงคลังอาจไม่พอใช้จ่าย และนั่นทำให้ต้องเสนอที่ประชุม ครม. กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้อีก 2.14 แสนล้านบาท

เวลานี้จึงเหมือนทางสองแพร่งที่รัฐบาลไม่มีสิทธิ์เลือก แต่ต้องเร่งบริหารจัดการให้ได้ทั้งสองทาง

ด้านหนึ่งเปิดประเทศเพื่อดึงรายได้จากการท่องเที่ยวและสร้างกำลังซื้อรอบใหม่ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563

อีกด้าน คุมเข้มมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบสอง โดยระยะแรกจะเป็นการท่องเที่ยวแบบปิด มีการจำกัดและเน้นความปลอดภัยสูงสุด เจาะเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ระบาดน้อย เข้ามาใช้บริการการแพทย์และท่องเที่ยว ซึ่งนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในปี 2564 อัตราขยายตัว 4-5% หลังจากนี้ไปรัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรัฐเร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมออกมาตรการส่งเสริมภาคท่องเที่ยวเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้

ล่าสุด มีข้อมูลสนับสนุนที่น่าสนใจจากบริษัทวิจัย 3 แห่ง ประกอบด้วย Blackbox Research ผู้ให้บริการด้านการวิจัยทางสังคม Dynata ผู้ให้บริการด้านข้อมูล และ Language Connect พันธมิตรด้านภาษา ร่วมกันสำรวจและนำเสนอรายงานเรื่อง Unravel Travel: Fear & Possibilities in a Post Coronavirus (COVID-19) World วิเคราะห์ความคิดเห็น ความพึงพอใจ และความคาดหวังของกลุ่มตัวอย่าง 10,195 คน จาก 17 ประเทศเกี่ยวกับการเดินทางหลังสถานการณ์โควิด-19

พบว่า คนไทย 4 ใน 5 (82%) เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยพร้อมเปิดรับกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและท่องเที่ยวอย่างดี มีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบจากทุกประเทศที่ร่วมการสำรวจ และกลุ่มนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ต่างยกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแรก

ในเรื่องนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมใช้ จ. ภูเก็ตเป็นโมเดลนำร่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยได้ในรูปแบบใหม่ (New Normal) คือ เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยในพื้นที่จำกัดและเริ่มบางพื้นที่ในภูเก็ตก่อน

ยกตัวอย่าง หาดป่าตอง จะปิดพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่เป็นเวลา 14 วัน เมื่ออยู่ครบจะได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 หากผลตรวจไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวคนนั้นสามารถออกจากพื้นที่จำกัด ไปท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นภายในจังหวัดภูเก็ตได้

ถ้าต้องการจะเดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยต้องอยู่ในสถานที่จำกัดอีก 7 วันรวมเป็น 21 วัน และจะมีการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้ออกไปท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ได้

นอกจากนั้น วางแผนขยายไปยังจังหวัดท่องเที่ยวหลักของ 6 ภูมิภาค เหมือนภูเก็ตโมเดล เช่น ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ภาคตะวันตก ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี ภาคใต้ นอกจากภูเก็ตอาจเป็นกระบี่ หรือสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง สิ้นเดือนมีนาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพลิกฟื้นเศรษฐกิจรอบใหม่ยังมีประเด็นการเมืองที่อาจทำให้แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวหยุดชะงัก โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรก ดัชนีหอการค้าไทยรายภาคยังแย่ทุกรายการ รวมถึงช่วง 6 เดือนข้างหน้า ยังไม่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นชัดเจน มาตรการรัฐยังไม่สามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังเข้าไม่ถึงเงินทุน อาจมีความเสี่ยงจะปลดแรงงานได้อีก

ที่สำคัญ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงติดลบมากกว่า 7.5% ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองต้องไม่บานปลาย การชุมนุมแบบสงบจะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่มีผลกระทบเชิงลบต่อจิตวิทยาในการลงทุน และต้องไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบ 2

หากเกิดการระบาดรอบ 2 และล็อกดาวน์บางพื้นที่ เศรษฐกิจไทยจะเสียหายวันละ 3,000-5,000 ล้านบาท เดือนละ 100,000-150,000 ล้านบาท หรือหากสถานการณ์รุนแรงจนล็อกดาวน์ประเทศเหมือนช่วงต้นปี มูลค่าการใช้จ่ายจะหายไปวันละ 8,000-9,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 240,000-270,000 ล้านบาท

ศูนย์พยากรณ์ฯ ย้ำด้วยว่า การใช้จ่ายในประเทศก่อนโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 20,000 ล้านบาท เมื่อผ่อนคลายล็อกดาวน์ การใช้จ่ายกลับมาอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ล้านบาท ถ้าจะให้กลับมาใช้จ่ายเท่าเดิมวันละ 20,000 ล้านบาท ต้องรอเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมา

ทว่า การเปิดประเทศเพื่อดึงการท่องเที่ยวกู้วิกฤตเศรษฐกิจย่อมต้องแลกด้วยความเสี่ยง ซึ่งต้องเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะหากเกิดการระบาดรอบ 2 ทุกอย่างอาจต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

ใส่ความเห็น