Column: Well – Being
ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดยั้งของโรค โควิด-19 ที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจอย่างน่ากลัวนั้น ปรากฏว่าแพทย์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า มีผู้ป่วยอาการหนักต้องต่อสู้กับอาการลิ่มเลือดอุดตัน เป็นการเพิ่มความซับซ้อนอย่างหนักหน่วงให้กับความเจ็บป่วยที่ทุกข์ทรมานอยู่แล้ว
ผลการวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน ที่น่าสนใจคือ การศึกษาจากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 โดยนักวิจัยพบลิ่มเลือดอยู่ในปอดและบริเวณใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบลิ่มเลือดบริเวณใต้ผิวหนังของผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย
นิตยสาร Prevention นำเสนอบทความน่าสนใจชิ้นนี้ว่า การศึกษาผู้ป่วย โควิด-19 ในห้องไอซียู 184 คนที่เนเธอร์แลนด์ พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 27 มีอาการลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism หรือ VTE) ซึ่งมักเป็นอาการลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา ต้นขา หรือกระดูกเชิงกราน ผู้ป่วยร้อยละ 25 มีอาการลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (pulmonary embolism หรือ PE) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดบางส่วนแตกตัวแล้วไหลเข้าสู่ปอด นักวิจัยสรุปว่า โดยรวมแล้วผู้ป่วยในห้องไอซียูร้อยละ 31 มีอาการแทรกซ้อนจากภาวะลิ่มเลือดนี้ค่อนข้างสูง
ตัวอย่างกรณีนี้คือ ดาราชื่อดังแห่งบรอดเวย์ นิค คอร์เดโร ผู้ป่วย โควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายสัปดาห์ จนถึงขั้นต้องตัดขาข้างหนึ่งทิ้งเพราะอาการลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ต้องเลือกระหว่างการรักษาชีวิตหรือขาเอาไว้ ซึ่งเขาต้องเลือกเอาอย่างแรก
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า เจ้าไวรัสที่โจมตีระบบทางเดินหายใจนี้ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้อย่างไร
ลิ่มเลือดคืออะไร
ลิ่มเลือดเป็นกระบวนการปกป้องตามปกติในร่างกาย ถ้าคุณได้รับบาดเจ็บ ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือด (เลือดที่มีลักษณะเหมือนเจล หรือก้อนเลือดที่อยู่ในสภาพกึ่งของแข็ง) เพื่อหยุดภาวะเลือดไหล ทันทีที่เลือดหยุดไหล ร่างกายมักทำให้ลิ่มเลือดนั้นสลายตัวและกำจัดออกไป
แต่บางครั้งบางคนอาจมีลิ่มเลือดมากจนผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากความเจ็บป่วยที่ซ่อนเร้น เช่น โรคเบาหวาน โรคทางพันธุกรรม หรือความเจ็บป่วยเฉียบพลัน
การเกิดภาวะลิ่มเลือดที่น่ากังวลมากคือ เมื่อมันกลายเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา (deep vein thrombosis หรือ DVT) “เป็นภาวะที่เกิดอันตรายถึงชีวิตได้” ดร. วิลเลียม ชาฟเนอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ กล่าว
ไวรัสโคโรนาทำให้เกิดลิ่มเลือดได้อย่างไร
เมื่อผู้ป่วยเป็น โควิด-19 ร่างกายของพวกเขาถูกกระตุ้นมากเกินไปเพื่อต่อสู้กับเชื้อร้ายนี้ “ทำให้เกิดภาวะอักเสบอย่างรุนแรง” ฌอน ฟิสเชอร์ นักวิทยาเนื้องอกและนักโลหิตวิทยาแห่งศูนย์สุขภาพโพรวิเดนซ์ เซนต์ จอห์น กล่าว ภาวะดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อผนังหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด
ลิ่มเลือดยังเป็นภาวะน่ากังวลในผู้ป่วยอาการหนัก เพราะพวกเขาไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และการขาดกิจกรรมทางกายภาพก็เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด ดร. เอเมช เอ. อดัลยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและนักวิชาการอาวุโสประจำศูนย์เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพจอห์นฮอปกินส์ อธิบาย
ทำไมผู้ป่วย โควิด-19 จึงเสียชีวิตเพราะเกิดลิ่มเลือด
ลิ่มเลือดสามารถทำให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น เจ็บปวดและหายใจลำบาก ในกรณีของ DVT ซึ่งสามารถเป็นอาการของผู้ป่วยโควิด -19 ด้วยนั้น ดร. อดัลยาอธิบายว่า “เป็นเรื่องยากที่ผู้ป่วยจะแยกความแตกต่างได้ว่า อาการของระบบทางเดินหายใจของเขามีสาเหตุจากไวรัสหรือลิ่มเลือดอุดตัน” ผลคือ ทำให้อาการลิ่มเลือดอุดตันพัฒนาจนถึงขั้นรุนแรง ก่อนที่ผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์จะทันได้ตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ผู้ป่วย โควิด-19 อาการหนักเองก็ต้องต่อสู้กับการพยายามหายใจอยู่แล้ว และภาวะลิ่มเลือดอุดตันทำให้พวกเขามีอาการแย่ลงอีก “สถานการณ์นี้ทำให้ปอดที่ทำงานหนักอยู่แล้วยิ่งอ่อนแอ รวมทั้งลดประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในร่างกายด้วย” ดร. อนุปมา เนห์รา ผู้อำนวยการแผนกวิทยาเนื้องอกและโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์รัตเจอร์ส นิวเจอร์ซีย์ อธิบาย “ถ้าลิ่มเลือดนี้เข้าไปอุดกั้นหลอดเลือดแดงใหญ่ในปอด ย่อมทำให้ผู้ป่วย โควิด-19 เสียชีวิตได้”
ดร. เนห์ราเพิ่มเติมว่า ยังมีรายงานการเกิดลิ่มเลือดแพร่กระจายในหลอดเลือดฝอยที่ปอดด้วย
จะจัดการกับลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างไร
เมื่อนำผู้ป่วยเข้าห้องไอซียู แพทย์มักฉีดยาละลายลิ่มเลือดให้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดก่อนเป็นลำดับแรก “ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าที่หน้าท้องก่อนโดยอัตโนมัติ” ดร. อดัลยากล่าว
ดร. ชาฟเนอร์อธิบายว่า แพทย์มักฉีดยาละลายลิ่มเลือดแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่แล้ว “แม้จะไม่ใช่วิถีปฏิบัติทั่วไป แต่แพทย์ที่ต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อนก็กำลังใช้ความพยายามและรอดูว่าจะได้ผลไหม”
จะลดความเสี่ยงจากลิ่มเลือดอุดตันได้ไหม
ดร. ชาฟเนอร์กล่าวว่า เป็นความคิดที่ดีถ้าคุณมีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงอยู่ในความดูแล แล้วคุณกระตุ้นให้พวกเขาเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน “ให้พวกเขาเดินไปรอบๆ ห้อง หรือออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะลิ่มเลือด แต่การได้เคลื่อนไหวยังส่งผลดีต่อจิตใจของคุณด้วย”