วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ระเบิดเศรษฐกิจปลุกผี หนี้นอกระบบฟื้นคืนชีพ

ระเบิดเศรษฐกิจปลุกผี หนี้นอกระบบฟื้นคืนชีพ

ผลพวงจากพิษเศรษฐกิจกำลังปลุกผีเจ้าหนี้นอกระบบฟื้นคืนชีพอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง แผ่นโฆษณาแปะติดทั่วเสาไฟฟ้าตามโรงงาน สะพานลอยและหว่านเจาะเข้าถึงหน้าประตูบ้านสะท้อนสัญญาณอันตราย จำนวนคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีหนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งกระฉูดต่อเนื่อง และที่สำคัญ ระเบิดเศรษฐกิจ 3 ลูกใหญ่ที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกกลายเป็นต้นตอที่สามารถก่อวิกฤตครั้งใหญ่ได้ทุกเมื่อ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย” เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ยอมรับว่าประเทศไทยในขณะนี้ยังหาคำตอบที่เหมาะสมไม่ได้ เนื่องจากเจอพายุเป็นเหมือนระเบิดถล่มหนัก 3 ลูก

ลูกแรกเป็นระเบิดเหนือน้ำ เรื่องการส่งออกที่ค่อยๆ ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ทำให้การส่งออกติดลบถึง 7.7% เมื่อเดือน พ.ย. 2562 เมื่อโลกสะเทือนจึงควบคุมไม่ได้เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาส่งออกถึง 70% ของจีดีพี

ระเบิดลูกที่ 2 อยู่ใต้น้ำและมีหลายลูก เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่เคลื่อนตัวช้าเกินไป งบประมาณแผ่นดินล่าช้า ที่สำคัญงบลงทุนแทบใช้ไม่ได้ ล่าสุดมีการใช้จ่ายงบลงทุนเพียง 50,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ของประเทศหยุดชะงัก

ระเบิดลูกที่ 3 ค่าเงินบาท เพราะไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่า เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทย การส่งออกติดลบ ขณะที่การนำเข้าลดลงมากกว่า ทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นช่องว่างทำให้เงินบาทแข็ง และหากเอกชนไม่ลงทุน เงินบาทจะยิ่งแข็งค่าต่อเนื่อง โดยขณะนี้ภาคเอกชนมีการลงทุน 16% ของจีดีพี หากไม่ลงทุนต่อเนื่อง อาจแก้ปัญหาเงินบาทไม่ได้ในระยะยาว

ระเบิดทั้ง 3 ลูกคือสิ่งที่รองนายกฯ สมคิดพยายามชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยต้องอาศัยการบริหารที่เหมาะสมเพื่อฝ่าดงระเบิด ซึ่งสะสมปัญหาไว้ โดยเฉพาะปัญหารายได้ประชากรที่ลดลง กำลังซื้อหด และตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง

แม้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า การแก้หนี้นอกระบบที่ให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พยายามเร่งอนุมัติสินเชื่อรายย่อยทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน ให้ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการอนุมัติสินเชื่อสะสมรวม 623,214 ราย จำนวนเงิน 27,362.22 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 577,505 ราย จำนวนเงิน 25,390.78 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบจำนวน 45,709 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,971.44 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งปล่อยกู้ได้รายละ 50,000 บาทและพิโกพลัส ซึ่งปล่อยกู้ได้ถึงรายละ 1 แสนบาท ทั้งแบบที่มีหลักประกันและแบบไม่มีหลักประกัน

หากรวมกันทั้งการปล่อยกู้พิโกไฟแนนซ์กับสินเชื่อฉุกเฉินของสองแบงก์รัฐ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบว่าสามารถปล่อยกู้ไปแล้ว 7.8 แสนราย เป็นเงินกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท

แต่น่าจับตายอดการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ตัวเลขจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2562 จากยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม จำนวน 160,596 บัญชี รวม 4,245.20 ล้านบาท เฉลี่ย 26,434.03 บาทต่อบัญชี พบยอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวม 82,946 บัญชี จำนวนเงิน 2,257.05 ล้านบาท

แบ่งเป็นสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวม 10,422 บัญชี จำนวนเงิน 306.63 ล้านบาท คิดเป็น 13.59% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน หรือเป็นหนี้เน่าเอ็นพีแอลสะสมรวม 9,584 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 269.34 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.93% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

อีกด้านหนึ่ง มีผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์และพิโกพลัสเพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึงพฤศจิกายน 2562 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ รวม 1,254 ราย ใน 76 จังหวัด

จังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 110 ราย กรุงเทพฯ 96 ราย และขอนแก่น 65 ราย โดยมีผู้ประกอบธุรกิจแจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 619 ราย ใน 68 จังหวัด และปล่อยสินเชื่อแล้ว 611 ราย

ส่วนสินเชื่อประเภท พิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาต 121 ราย ใน 46 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 15 ราย ใน 8 จังหวัด และเปิดดำเนินการแล้ว 12 ราย ใน 7 จังหวัด

ไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่เตรียมเสนอขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์อีกหลายกลุ่ม ซึ่งล่าสุดมีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว เช่น เครือข่ายในกลุ่มบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี เพื่อขยายตลาดสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน พิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์

ขณะที่ยักษ์ใหญ่เจ้าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น กลุ่มเงินติดล้อ กลุ่มเมืองไทยแคปปิตอล ต่างเร่งขยายฐานลูกค้าและผุดสาขาครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เช่น กลุ่มเมืองไทยแคปปิตอลวางแผนปี 2563 จะขยายสาขาเพิ่มอีก 600 แห่ง จากสิ้นปี 2562 ที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 4,107 แห่ง

กลุ่มบริษัท ไฮเวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ และสินเชื่อจักรยานยนต์ “สมหวังเงินสั่งได้” เตรียมขยายตลาดเจาะสินเชื่อธุรกิจรถฟู้ดทรัก (food truck) โลจิสติกส์หรือดีลิเวอรี และจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการเติบโตและต้องการสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ รวมทั้งปีนี้จะเปิดสาขาอีก 50 แห่ง จากปัจจุบันวางเครือข่ายทั่วประเทศ 300 สาขา โดยเน้นปักหมุดทั้งระดับอำเภอและตำบล

ทั้งหมดล้วนสะท้อนให้เห็นชัดเจน ทั้งในแง่ความต้องการสินเชื่อเร่งด่วนที่สูงมากในกลุ่มประชาชน ตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงชนชั้นกลาง พนักงานกินเงินเดือนจนถึงผู้ประกอบการ และในแง่ตลาดที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังก่อตัว คือตัวเลขหนี้ค้างสะสมและหนี้เอ็นพีแอลมีสิทธิ์พุ่งกระฉูดเช่นกัน หากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังย่ำแย่

ล่าสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ประเมินแนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลปี 2563 ของสินเชื่อส่วนบุคคลจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 2.51% ของสินเชื่อรวม เทียบปี 2562 อยู่ที่ 2.45% หรือมีเอ็นพีแอลรวม 36,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบปี 2562 อยู่ที่ 31,848 ล้านบาท

สินเชื่อบัตรเครดิต คาดอยู่ที่ระดับ 2.68% จากปี 2562 อยู่ที่ระดับ 1.42% มูลค่า 8,099 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 6,638 ล้านบาท

เมื่อตัวเลขสินเชื่อคงค้างและเอ็นพีแอลพุ่งสูงขึ้น สถาบันการเงินในระบบจำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อ และอาจเกิดวังวนบีบลูกค้าหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบอีก ซึ่งรอบนี้ดูแนวโน้มจะหนักหนาสาหัสมากกว่าอดีตอีกหลายเท่า

ใส่ความเห็น