นับเป็นอีกปีที่ไทยต้องเผชิญมรสุมที่พัดกระหน่ำมาจากรอบด้าน งานหนักของรัฐไทยชุดปัจจุบันที่ต้องนำพารัฐนาวาให้ผ่านพ้นวิกฤตเลวร้ายไปให้ได้ แม้ว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลหลายคนจะเอื้อนเอ่ยถ้อยคำที่คล้ายให้กำลังใจตนเองมากกว่าว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถดถอย ไม่วิกฤต เพียงแต่ไร้แรงขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างเต็มกำลัง
ส่วนหนึ่งของต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไร้แรงขับเช่นในปัจจุบัน นั่นเพราะสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะชะงักงัน และอิทธิพลของสงครามการค้าที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นมูลเหตุของปัจจัย
แน่นอนว่า จีนไม่ใช่ประเทศที่จะยอมอ่อนข้อหรือเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว เราจึงได้เห็นการโต้ตอบชนิดที่เรียกว่า สวนกันหมัดต่อหมัดบนเวทีการค้าโลก
กระนั้นการระรานของสหรัฐฯ ยังขยายอิทธิพลไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก และไทยเองที่เป็นเพียงประเทศคู่ค้า เหมือนจะถูกระลอกคลื่นของสงครามครั้งนี้ในทุกระนาบ ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลายตัวที่หากไม่ดับสนิท แต่ก็ไม่สามารถกู้สัญญาณชีพให้ฟื้นขึ้นมาได้ในเร็ววัน ทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การชะลอตัวของการลงทุนภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนไปโดยปริยาย
ปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นในระดับบนของระบบเท่านั้น ทว่าปัญหากลับแทรกซึมเข้าสู่เนื้อในของเครื่องจักร ทำให้แม้แต่ฟันเฟืองตัวเล็กๆ ก็ยากที่จะขับเคลื่อนได้เฉกเช่นวิกฤตที่ผ่านๆ มา
ปีนี้นับเป็นอีกปีที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งหามาตรการออกมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทว่า ไทยยังต้องเผชิญกับยุคเข็ญทางเศรษฐกิจไปอีกพักใหญ่ เมื่อยังต้องอาศัยอานิสงส์จากกระแสลมบวกจากภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่
ไม่ว่ารัฐจะหามาตรการใดออกมาใช้ แต่ดูเหมือนว่าชีพจรที่ควรจะฟื้นกลับมาเต็มสูบ ทำได้เพียงแผ่วเบา มีเพียงลมหายใจรวยรินที่ยังประคองชีพให้อยู่ไปได้แบบวันต่อวัน
ขณะที่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยในห้วงยามนี้ น่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และสัดส่วนที่ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นนั้นมาจากกลุ่มคน Gen Y
นี่เป็นอีกประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับนักเศรษฐศาสตร์ไทย เมื่อคน Gen Y เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในสังคมปัจจุบันในหลายแง่มุม
Gen Y เป็นคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ในวัยที่ต้องการสร้างฐานะและความมั่นคง มีอิสระทางความคิด มั่นใจในตัวเอง เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของกลุ่มธุรกิจหรือนักการตลาด เพราะมีรายได้ค่อนข้างสูง แม้ตัวเลขรายจ่ายต่อเดือนจะวิ่งควบตามหลังรายได้มาติดๆ
การใช้จ่ายของ Gen Y แม้ว่าส่วนหนึ่งจะใช้จ่ายในเรื่องของที่อยู่อาศัย รถยนต์ การออมเงิน หรือการซื้อสินทรัพย์อื่นๆ ทว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว เช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า เครื่องสำอาง
กลุ่มคน Gen Y มักให้เหตุผลในการจับจ่ายของตัวเองว่า “ของมันต้องมี” โดยลืมที่จะนึกถึงตัวเลขรายได้อย่างแท้จริง และเดินทางเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมอย่างสมบูรณ์แบบ
เมื่อรายได้ในมือไม่เพียงพอต่อความต้องการ การหันเข้าสู่เงินในอนาคตจึงเกิดขึ้นโดยปราศจากความระมัดระวัง ไร้การตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะตามมาในอนาคต ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจที่ส่งผลต่อคนในทุกระดับขณะนี้ ความมั่นคงของอาชีพ และการออมเงิน
ข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานการขอสินเชื่อประเภทบุคคลในไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2560 พบว่า กลุ่ม Gen Y ขอสินเชื่อประเภทบัตรเครดิต 56% สินเชื่อส่วนบุคคล 41% สินเชื่อบ้าน 49% รถยนต์ 46%
กลุ่ม Gen X ขอสินเชื่อประเภทบัตรเครดิต 33% สินเชื่อส่วนบุคคล 38% สินเชื่อบ้าน 39% รถยนต์ 40% และ Baby Boomer สินเชื่อประเภทบัตรเครดิต 11% สินเชื่อส่วนบุคคล 21% สินเชื่อบ้าน 12% รถยนต์ 14%
แน่นอนว่าการใช้จ่ายของ Gen Y ที่เกิดจากวลีฮิตติดปาก “ของมันต้องมี” คงไม่สามารถก่อปัญหาในระบบได้ หากเป็นการจับจ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบของรายได้ที่พึงมี ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ต้องยอมรับว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่ทำให้นักการตลาดใช้ช่องทางนี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และ Influencers (บล็อกเกอร์หรือบุคคลที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์) มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ซื้อสินค้าตาม
เมื่อการใช้จ่ายของคน Gen Y จำนวนหนึ่งเป็นการใช้จ่ายที่ออกนอกกรอบรายได้ และพึ่งพาบัตรพลาสติกที่สามารถอำนวยความสะดวกทางการเงินได้เป็นอย่างดี แม้คนกลุ่มนี้จะมีรายได้ที่ค่อนข้างสูง แต่รายจ่ายที่เกิดขึ้นวิ่งเป็นเส้นขนานกับรายได้และแซงหน้าขึ้นทุกขณะ บวกกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจตกต่ำ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางอาชีพอาจส่งผลให้รายได้ลดลง ขณะที่รายจ่ายยังเท่าเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้นจากภาระที่สูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการผิดนัดชำระหนี้
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า คนไทยประมาณ 21 ล้านคนมีหนี้ และประมาณ 3 ล้านคนหรือ 16 เปอร์เซ็นต์ มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็นหนี้เสีย แต่สิ่งที่น่าตกใจและเป็นกังวลคือ คนไทยอายุ 30 ปี จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ มีหนี้และเป็นหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของคนกลุ่มช่วงอายุ 29 ปี เป็นหนี้เสีย
ตัวเลขเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นดีที่บอกว่า Gen Y ก่อหนี้มากที่สุดในเวลานี้ และทำให้สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้น
โดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คนส่วนใหญ่ 88.1 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป ซื้อยานพาหนะเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ซื้อบ้าน จ่ายบัตรเครดิต รวมไปถึงหนี้เก่าที่ค้างติดตัวมา
ปัจจัยหนี้สินเหล่านี้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวสูงถึง 7.4 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเงินจำนวน 340,000 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 59.2 เปอร์เซ็นต์ และหนี้นอกระบบ 40.8 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการแบ่งชำระหนี้ในระบบ 16,000 บาท และหนี้นอกระบบ 5,222 บาทต่อเดือน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองว่า กลุ่มคน Gen Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยมาจากเรื่องต่อไปนี้ 17.6% ของการเป็นหนี้เกิดจากรายได้ลดลง 15.1 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากเกินไป และ 15 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจหอการค้าไทย ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว 2.5-2.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี มีผลโดยตรงกับรายได้ของประชาชน ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
และภาครัฐควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงกลางไตรมาสแรกของศักราชหน้า นอกจากนี้ รัฐควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชนโดยเฉพาะค่าครองชีพ ที่ควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
อีกทั้งยังแนะให้รัฐช่วยจัดหาแหล่งทุนในระบบดอกเบี้ยต่ำ ลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับประชาชนที่ต้องการกู้ยืม เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้
คำถามคือ การที่ประชาชนสร้างหนี้จากการอยู่ในสังคมบริโภคนิยม หรือใช้ชีวิตภายใต้คำนิยาม “ของมันต้องมี” จนก่อให้เกิดหนี้นั้น เหตุใดจึงเป็นปัญหาที่รัฐต้องช่วยแก้ไข เมื่อต้นเหตุที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย และการไม่ประมาณตนของแต่ละบุคคลเอง
รอให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาในทุกๆ เรื่อง อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก แต่หากคนทุกกลุ่มใช้ชีวิตไม่ประมาทภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเช่นนี้ ก็น่าจะทำให้อยู่ห่างจากคำว่า “หายนะ” ได้ไม่ยาก