วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > การออกกำลังกาย ในผู้ป่วยโรคหัวใจ

การออกกำลังกาย ในผู้ป่วยโรคหัวใจ

ใครว่า “ผู้ป่วยโรคหัวใจ” ออกกำลังกายไม่ได้ เรามักจะเคยได้ยินคนทั่วไปให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีอาการความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจว่า ไม่ควร ไม่เหมาะที่จะออกกำลังกาย แต่แท้จริงแล้ว ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้

ข้อมูลจากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การออกกำลังกายมีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับทุกคนหรือแม้แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น

สิ่งที่ควรทำก่อนออกกำลังกาย
ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อประเมินสภาพร่างกายและความพร้อม ทั้งเรื่องของอัตราการเต้นของหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกาย ความหนักของการออกกำลังกาย รวมไปถึงประเภทและชนิดของกีฬาที่ควรเล่น

ไม่ไหว อย่าฝืน
ผู้ป่วยต้องรู้จักประมาณตน เช็กอาการเบื้องต้นของตัวเองได้ เช่น ชีพจร อาการหอบ ความเหนื่อยที่ร่างกายแสดงออกมา หรือปริมาณเหงื่อ อาการเจ็บหน้าอก หน้ามืด คลื่นไส้ หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรหยุดและปรึกษาแพทย์

ตั้งเป้าหมายระยะสั้นๆ
ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เช่น การเดิน แอโรบิก หรือเวทเบาๆ เพื่อทำให้ร่างกายเริ่มปรับและคุ้นชิน หากละเลยจากการออกกำลังกายไปเป็นเวลานาน เมื่อกลับมาเริ่มต้นใหม่ หัวใจจะทำงานหนักขึ้น ดังนั้น ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอจะส่งผลดีต่อสภาพร่างกายมากขึ้น หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

หาเพื่อนออกกำลังกาย
ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ยังต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ จำเป็นที่จะต้องออกกำลังกายโดยมีบัดดี้ เพื่อป้องกันการเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

หาอุปกรณ์เสริม

ผู้ป่วยที่กังวลว่าระดับชีพจรจะพุ่งสูงขึ้นจนเกินไป อาจหาตัวช่วยที่สามารถบอกได้ว่า ขณะออกกำลังกายหัวใจหรือชีพจรเต้นในอัตราใด เช่น

การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
แอโรบิก เป็นการออกกำลังกายที่ร่างกายทุกส่วนได้เคลื่อนไหว ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อใช้พลังงานได้อย่างเต็มที่ทุกส่วน และการออกกำลังกายด้วยการแอโรบิกนั้น ไม่หนักจนเกินไป หัวใจเต้นในอัตราที่ไม่สูงหรือเร็วมาก แต่ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในกระแสเลือดมากขึ้น หัวใจสูบฉีดโลหิตได้ดีขึ้น

การเดิน เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับคนทุกวัย ทั้งคนป่วยและไม่ป่วย การเดินไม่ทำให้ร่างกายเหนื่อยมากจนเกินไป สำหรับผู้สูงอายุควรเลือกการเดินเป็นการออกกำลังกาย

วิ่ง สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ หากประสงค์ที่จะวิ่ง จำเป็นต้องปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลเสียก่อน เพราะการวิ่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นได้ง่าย อาจต้องควบคุมความเร็วและความแรงของการวิ่ง เพื่อให้หัวใจเต้นอยู่ในโซนที่ปลอดภัย

การวิ่งช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกแรงและสูบฉีดโลหิตได้เร็วกว่า และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

ว่ายน้ำ การออกกำลังกายในน้ำมีผลกระทบกับข้อต่อในร่างกายและกล้ามเนื้อน้อยที่สุด เพราะน้ำเป็นตัวช่วยชั้นดีในการพยุงน้ำหนักตัว แม้จะออกแรงมากแต่ให้ความรู้สึกเหนื่อยน้อยกว่าการออกกำลังกายชนิดอื่น ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง

ข้อดีของการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ
1. ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น หลังการออกกำลังกายพบว่า หัวใจเต้นช้าลง และมีการเพิ่มปริมาณเลือดในการบีบตัวแต่ละครั้ง

2. อาการเจ็บหน้าอกลดลง

3. สามารถออกกำลังกายได้นานขึ้น หลังจากออกกำลังกายติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3-4 สัปดาห์

4. ช่วยให้ระบบการหายใจดีขึ้น

5. การทำงานของเซลล์เยื่อบุผิวหลอดเลือดดีขึ้น ทำให้มีการหลั่งสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายได้มากขึ้น เลือดไปเลี้ยงแขนขาและหัวใจเพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่เพิ่งพ้นจากภาวะหัวใจวาย หรือผู้ป่วยจากภาวะน้ำท่วมปอด ควรฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจก่อน เมื่อกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจแข็งแรงแล้ว จากนั้นจึงค่อยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละขั้นตอนควรใช้เวลาในการฝึก 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ป่วยด้วยว่าสามารถพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ดีขนาดไหน

การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ แต่หากเป็นแล้วต้องรู้จักดูแลตัวเอง หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ แค่นี้ก็ห่างไกลโรคร้ายได้แล้ว

ใส่ความเห็น