วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > อนาคตแรงงานไทย บนยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน

อนาคตแรงงานไทย บนยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน

สาเหตุการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คงไม่ใช่สาเหตุความไม่แน่นอนในอนาคตของแรงงานไทยเท่านั้น เมื่อยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจสร้างผลกระทบต่อเหล่ามดงานไทยได้

ทั้งภาคการผลิตของไทยที่กำลังเริ่มมีการปรับเปลี่ยน และหยิบจับเอาเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้มากขึ้น การลดจำนวนลงของโรงงานอุตสาหกรรม และนโยบายของภาครัฐที่ต้องการนำไทยให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหมือนเป็นการบังคับให้แรงงานต้องรู้จักปรับตัว เพื่อให้พร้อมรับกับกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ถ้าไม่อยากถูกทิ้งให้ล้าหลัง

ทว่า คำถามคือ แรงงานไทยในปัจจุบันพร้อมแล้วหรือยังที่จะปรับตัวเพื่อ move on หรือสุดท้ายแล้วคือ move on เป็นวงกลม และกลับมาที่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางแก้ไข เยียวยาในทุกๆ เรื่องไป

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า ตลาดแรงงานของไทยมีจำนวนเฉลี่ยราว 37.6 ล้านคน หรือ 56.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย (ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2561) และแรงงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเอกชนประมาณ 21-22 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน และประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมกัน 4.242 ล้านคน ที่เหลือเป็นแรงงานอิสระและแรงงานนอกระบบ และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.0 เปอร์เซ็นต์ อัตราการว่างงานต่ำอยู่ที่ 4 ของโลก

แม้เปอร์เซ็นต์อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำมากในปัจจุบัน ทว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจสร้างความกังวลให้แก่แรงงานไม่น้อย ข้อมูลจากปี 2561 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า จำนวนโรงงานมีทั้งสิ้น 140,535 โรงงาน และมีแรงงานประมาณ 4.041 ล้านคน ขณะที่ 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนโรงงานและจำนวนแรงงานมีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้มีเพียงภาคเกษตรภาคเดียวที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาคอื่นตัวเลขผู้มีงานทำลดลง เช่น ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ลดลง 6.2 เปอร์เซ็นต์ ภาคการค้าส่งค้าปลีกลดลง 4.35 เปอร์เซ็นต์

และที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีคือข้อมูลที่บอกว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนมิถุนายน 2562 ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้การจัดตั้งธุรกิจใหม่ลดลงน่าจะมาจากสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและปัญหาด้านการส่งออก

ขณะที่ความเห็นของ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ มองว่าปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยนั้นมีด้วยกัน 4 ปัจจัย คือ 1. การเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่มีการนำเอาปัญญาประดิษฐ์เข้ามาสู่ระบบการผลิตมากขึ้น นั่นทำให้การจ้างแรงงานคนลดลงในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ แผงวงจร ฮาร์ดไดรฟ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เห็นได้จากหลายโรงงานเริ่มมีโครงการเกษียณก่อนเวลาหรือให้ลาออกด้วยความสมัครใจ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

2. นโยบายของภาครัฐที่ต้องการนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีและออโตเมชั่น ขณะที่เงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น 60 เปอร์เซ็นต์เป็นการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และยังเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มซุปเปอร์คลัสเตอร์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อีกทั้งเงื่อนไขการลงทุนที่ไทยเสนอให้ ไม่ได้ผูกติดกับการจ้างงานเหมือนเช่นในอดีต และการลงทุนใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีชั้นสูงนั้น ทำให้มีแนวโน้มการจ้างแรงงานคนน้อยลง

3. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ปี 2557 โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ขณะที่จีนซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในรอบ 30 ปี แน่นอนว่ายังรวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูง

4. สถานการณ์การว่างงานของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำเป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูลจาก World Bank 2017) ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากด้านการว่างงานน้อยที่สุดในโลก ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีปัจจัยเรื่องการเข้ามาของเทคโนโลยีล้ำสมัย หรือผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลาดแรงงานยังมีภูมิคุ้มกันและสามารถรับมือได้ดีกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการว่างงานอยู่ในระดับเฉลี่ย 3.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไทยมีอัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 1.1 เปอร์เซ็นต์

แม้ข้อมูลจากธนาคารโลกเมื่อปี 2017 จะบอกว่าไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากด้านการว่างงานน้อยที่สุดในโลก ทว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสถิติภาวะการว่างงานของคนไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรากฏมีผู้ว่างงานมากกว่า 4.36 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.4 หมื่นคน

และในจำนวนผู้ว่างงานนี้ เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนถึง 2.20 แสนคน และเคยทำงานมาก่อน 2.16 แสนคน ส่วนใหญ่มาจากภาคการบริการและการค้า ภาคการผลิตและภาคเกษตรกรรม

ตัวเลขของผู้ว่างงานนี้หมายถึงความรับผิดชอบที่ภาครัฐพึงมี ทั้งสวัสดิการที่รัฐต้องดูแลตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ในกฎหมายแรงงาน กรณีที่แรงงานถูกเลิกจ้าง การสร้างให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเปิดโอกาสในการเข้าถึงงานที่ตรงตามทักษะมากขึ้น

นโยบายของรัฐบาลในการนำพาประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 แม้จะเป็นเรื่องดีที่ทำให้ไทยก้าวขึ้นไปบนเวทีโลกในฐานะใหม่ แต่ต้องไม่ลืมว่าการนำพาปัญญาประดิษฐ์จะทำให้แรงงานคนค่อยๆ หมดความหมายลง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการว่างงานในระบบมากขึ้น

จริงอยู่ที่ว่า แรงงานไทยเองจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาฝีมือ หาโอกาสเพิ่มทักษะให้แก่ตัวเองมากขึ้น กระนั้นบรรดาจักรกลที่เข้ามาแทนที่นั้นยังจำเป็นที่จะต้องมีแรงงานคนคอยควบคุมในทุกๆ ด้านหรือไม่

ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผ่านของยุคอุตสาหกรรมไทยจากยุคที่ต้องพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก ไปสู่ยุคอุตสาหกรรมดิจิทัลเท่านั้น ที่จะส่งผลต่ออนาคตของแรงงานไทย แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก การยกเลิกกิจการหรือการลดต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการ เพื่อหวังจะลดต้นทุน ย่อมส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแรงงานไทยด้วยทั้งสิ้น

นับว่าเป็นปีที่ไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในหลายๆ ด้าน และดูเหมือนความหวังที่จะช่วยให้แรงงานยังสามารถอยู่ในระบบต่อไปได้ อาจจะต้องฝากไว้กับความพยายามของรัฐที่เร่งเร้าให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พื้นที่ที่รัฐไทยใช้เป็นทางออกของปัญหาที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้.

ใส่ความเห็น