วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > จากน่านสู่หลวงพระบาง บนเส้นทางของความเปลี่ยนแปลง

จากน่านสู่หลวงพระบาง บนเส้นทางของความเปลี่ยนแปลง

น่าน จังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือของไทย ที่หลอมรวมเอาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลากหลายชาติพันธุ์ไว้มากมาย รวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวน่านที่เรียบง่าย ทว่า ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผสมผสานให้น่านกลายเป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยมนต์เสน่ห์

ก่อนหน้านี้น่านอาจต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ครั้งหนึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเคยบรรจุน่านเข้าในแคมเปญเมืองต้องห้ามพลาด

แน่นอนว่ามีแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมายรองรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวที่แสวงหาสถานที่ใหม่ๆ ที่พร้อมจะเปิดรับประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากที่เคย

ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า คนน่านเองเคยแสดงความวิตกกังวลว่า กิจกรรมการโปรโมตการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านส่งผลให้การท่องเที่ยวในจังหวัดน่านขยายตัวเร็วเกินไป จะทำให้น่านเดินตามรอย “ปาย” จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีทุนจากภายนอกเข้ามา มากกว่าจะเป็นคนในท้องถิ่น เมื่อในเวลานั้นน่านอาจจะยังไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ทว่า ความแข็งแกร่งของชาวน่านดูจะสามารถยืนหยัดกับสิ่งเร้าที่เข้ามาใหม่ได้เป็นอย่างดี เมื่อปัจจุบันน่านยังคงอัตลักษณ์และรักษาวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รวมไปถึงบรรยากาศเมืองอันเงียบสงบเอาไว้ได้

กระนั้นยังมีอีกประเด็นที่การท่องเที่ยวจังหวัดน่านเคยกังวล เมื่อครั้งที่มีโครงการสร้างถนนสายสำคัญจากด่านห้วยโก๋นจังหวัดน่านไปสู่เมืองหลวงพระบาง ว่าหากเส้นทางนี้สร้างเสร็จลุล่วง น่านจะถูกลืมเลือนและกลายเป็นเมืองทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยวที่เลือกใช้การเดินทางโดยรถยนต์เพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองมรดกโลกของ สปป. ลาว

ถนนหงสา-บ้านเชียงแมน สู่หลวงพระบางที่ภาครัฐโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของประเทศไทยแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ในด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว

ภายใต้กรอบวงเงิน 1,977 ล้านบาท ระยะทาง 114 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้จะกลายเป็นเส้นทางสำคัญที่สนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ไปยังหลวงพระบางเมืองมรดกโลก ด้วยการเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง

แน่นอนว่าแม้โครงการดังกล่าวจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินทางทางรถยนต์จากน่านไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ความกังวลต่อกรณีที่ว่า น่านอาจเป็นเพียงทางผ่าน ปรากฏชัดเจนมากขึ้น

ทว่า เมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน ที่มีเป้าประสงค์จะทำให้น่านเป็นเมืองที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวให้เจริญเติบโตอย่างสมดุลอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวจังหวัดน่านภายใต้การดูแลของ ร.ต.ภานุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานน่าน เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า “แม้น่านจะมีหลายอำเภอ แต่อำเภอที่จะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ คือ อ.ปัว อ.บ่อเกลือ อ.ท่าวังผา อ.เมืองน่าน อ.แม่จริม อ.เวียงสา ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาจะเป็นชาวยุโรป อเมริกา จีน นักท่องเที่ยวไทยก็มีพอสมควร และเราจะมุ่งเน้นโดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน นักท่องเที่ยวคุณภาพ เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะใช้เวลาหลายวันในจังหวัดน่านก่อนจะเดินทางกลับหรือเดินทางไปจังหวัดอื่น”

ร.ต.ภานุวัฒน์ ผอ. การท่องเที่ยวน่าน ยังอธิบายอีกว่า น่านยังต้องคงอัตลักษณ์เอาไว้ เพราะมนต์เสน่ห์ของน่านเป็นจุดขายสำคัญ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจะรับรู้ว่า น่านเป็นเมืองที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่นั้นเรียบง่าย แหล่งท่องเที่ยวอาจไม่หวือหวา แต่เน้นการพักผ่อน การมาน่านเหมือนมาชาร์จแบต

ปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดน่านประมาณ 9.4 แสนคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวให้จังหวัดประมาณ 2,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนประมาณ 1,600 บาทต่อวัน

การท่องเที่ยวจังหวัดน่านยังตั้งเป้าว่าภายในปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นถึง 1.3 ล้านคน และสร้างรายได้สูงถึง 3,000 ล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังน่านจะเป็นนักท่องเที่ยวไทย 98 เปอร์เซ็นต์ และนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์

คงต้องรอดูว่าความพยายามของการท่องเที่ยวจังหวัดน่านจะเข้าใกล้จุดหมายได้มากน้อยเพียงใด หากมีความต้องการจะผลักดันให้น่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น พร้อมกับโจทย์ใหญ่ที่ยังต้องคงอัตลักษณ์ความเป็นน่านนครไว้

เพราะหากน่านกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือนักลงทุนที่พร้อมจะขยายพอร์ตปักหมุดยังเมืองท่องเที่ยว และนำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาเสนอให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงแรม ที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของจังหวัดน่านให้เดินซ้ำรอย “ปาย”

ประปาภูเขา หมู่บ้านกิ่วแท่ง เมืองจอมเพชร

ไม่ใช่แค่จังหวัดน่านเท่านั้นที่กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการลงทุนในพื้นที่ การท่องเที่ยว ทว่า ตลอดสองข้างทางของโครงการถนนหงสา-บ้านเชียงแมน เส้นทางที่มุ่งหน้าสู่หลวงพระบาง มีความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นจนสังเกตได้ ทั้งธุรกิจปั๊มน้ำมัน แหล่งท่องเที่ยวที่อิงแอบไปกับธรรมชาติ ซึ่งข้อดีของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนั้นนำมาซึ่งรายได้ที่มากขึ้นของประชาชนในพื้นที่ แม้บางอย่างจะขัดกับวิถีชีวิตดั้งเดิมไปบ้างก็ตาม

ถนนหงสา-บ้านเชียงแมน รายล้อมไปด้วยภูเขาสูงตระหง่าน สายหมอกลอยหยอกล้อไปตามแนวสันเขา กลิ่นไอดินหลังสายฝนโปรยปราย ลอยมาตามลมนำพาเอาความชุ่มฉ่ำมาให้ผู้คนที่หมู่บ้านกิ่วแท่ง เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว

และดูเหมือนจะไม่ใช่แค่เพราะสายฝนเท่านั้นที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้คนในหมู่บ้านนี้ เมื่อ สพพ. ร่วมกับ บริษัท ลาว เวิลด์ เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ร่วมมือกันภายใต้โครงการประปาภูเขาเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหมู่บ้านดังกล่าว

โครงการดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการระบบประปาภูเขา เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์ในการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรอย่างเพียงพอและทั่วถึง ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

การขยายตัวของเมืองหลวงพระบาง

ขณะที่น่านมีความพยายามที่จะก้าวเข้าไปสู่เมืองท่องเที่ยว ที่มีหมุดหมายจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ให้ได้ภายในปีนี้ แต่ยังคงต้องรักษาอัตลักษณ์ของน่านนครไว้ ทว่าเมืองคู่แฝดอย่างหลวงพระบางกลับวิตกกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การขยายตัวของเมือง รูปแบบการท่องเที่ยวที่เริ่มเปลี่ยนแปลง

การเดินทางสู่เมืองหลวงพระบาง จากน่านด้วยถนนหงสา-บ้านเชียงแมน จะสิ้นสุดลงริมแม่น้ำโขง รถยนต์ต้องอาศัยเรือบั๊คเพื่อข้ามเข้าไปในหลวงพระบาง แน่นอนว่าหลังจากโครงการถนนแห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งภาครัฐไทยและ สปป. ลาว เริ่มเล็งเห็นถึงความแออัดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับบริเวณท่าเรือ

ล่าสุดในการประชุม Asean Summit ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รัฐบาล สปป. ลาว ได้ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย ถึงโครงการใหม่ คือโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงช่วงบ้านเชียงแมน-หลวงพระบาง

โดยสะพานนี้จะมีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน 2-3 ปีจากนี้

วงสะหวัน เทพพะจัน รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง ให้ความเห็นเกี่ยวกับถนนหงสา-บ้านเชียงแมนว่า “เส้นทางดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อชาวหลวงพระบางมาก เพราะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้หลวงพระบางเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของ สปป. ลาว และเราโชคดีที่หลวงพระบางได้รับเลือกให้เป็นเมืองมรดกโลก ในปี 1995 และคนไทยเองก็มาเที่ยวเมืองหลวงพระบางเป็นอันดับต้นๆ ถนนเส้นนี้จะทำให้ประชาชนสามารถไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น ขณะที่การสัญจรมายังหลวงพระบางด้วยเรือบั๊คเริ่มแออัดคับคั่งมากขึ้น หากโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงจะเกิดขึ้นเพื่อลดทอนการจราจรทางเรือ คงจะดีไม่น้อย”

ทั้งนี้ วงสะหวันยังมองว่าถนนดังกล่าวจะสร้างโอกาสให้เกิดการค้า การลงทุนบนพื้นที่สองข้างทางให้ดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเมืองจอมเพชร ที่บรรยากาศโดยรอบเปลี่ยนไป เมื่อมีการเติบโตด้านการท่องเที่ยว เป็นโอกาสให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยแบบถาวร

ขณะที่ แพง ดวงเงิน อธิบดีกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง มองว่าเส้นทางจากน่านสู่หลวงพระบางนั้นเป็นเส้นทางที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของกระทรวงโยธาธิการและขนส่งของ สปป. ลาว เพื่อเส้นทางดังกล่าวจะมีส่วนสนับสนุนทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศที่สาม อย่างเวียดนามได้ รวมไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงช่วงบ้านจอมเพชรมายังเมืองมรดกโลก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความแออัดที่จะเกิดขึ้นหากมีผู้เดินทางต้องการข้ามเรือจำนวนมาก

นอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่แล้ว สิ่งที่ภาครัฐของ สปป. ลาว กำลังกังวลคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองหลวงพระบาง และการเข้ามาของทุนต่างชาติ

แววมะนี ดวงดาลา รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลวงพระบาง แสดงความเห็นในเรื่องการลงทุนในหลวงพระบางว่า “ประชากรของ สปป. ลาว มีน้อย หากพูดถึงเรื่องการลงทุน คงจะง่ายกว่าหากมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามา และการลงทุนควรจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของสินค้าที่เป็นออร์แกนิก เพราะสินค้าเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

อีกหนึ่งสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ สปป. ลาว คือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยเฉพาะเส้นทางโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโครงการนี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และการท่องเที่ยวของ สปป. ลาว

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสการหลั่งไหลของเงินทุนจากแดนมังกร ในด้านการค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเงินทุนจากจีนกระจายไปในเมืองต่างๆ ของ สปป. ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง

หลายพื้นที่ในหลวงพระบางที่เป็นที่ดินว่างเปล่า เริ่มมีการปักป้ายประกาศขายหรือให้เช่าที่ดินแก่นักลงทุน ที่เขียนด้วยภาษาลาว ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ นี่อาจเป็นหลักฐานชั้นดีที่บอกว่านักลงทุนชาติใดที่เข้ามาลงทุนใน สปป. ลาว มากขึ้นในห้วงยามนี้

ซึ่งรองเจ้าแขวงหลวงพระบางให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า “หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก เราต้องยึดตามแนวทางปฏิบัติขององค์การยูเนสโก ในเรื่องการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งพื้นที่ภายในตัวเมืองหลวงพระบางเองคงไม่สามารถขยายหรือก่อสร้างได้ นักลงทุนต้องพิจารณาพื้นที่โดยรอบมากกว่า แต่เราต้องเฝ้าระวังการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติว่าควรปฏิบัติให้ถูกระเบียบข้อกำหนดของเราเช่นกัน”

และประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนหลวงพระบางคือเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตผู้คนในหลวงพระบาง

แววมะนีแสดงความกังวลในเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีวัฒนธรรมว่า “เราต้องช่วยกันอธิบาย สร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ว่าสิ่งใดควรปฏิบัติ สิ่งใดไม่ควรปฏิบัติ เพื่อให้หลวงพระบางยังคงเสน่ห์และอัตลักษณ์ที่เป็นจุดขายสำคัญของการท่องเที่ยวเอาไว้”

การตักบาตรข้าวเหนียวคือจุดขายสำคัญของเมืองมรดกโลก ที่เหล่าอาคันตุกะให้ความสนใจ ทว่า ปัจจุบันชาวเมืองหลวงพระบางเองกลับใส่บาตรข้าวเหนียวกันน้อยลง ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาที่ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างต้องขบคิดและระดมสรรพสมองเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“เดี๋ยวนี้คนหนุ่มคนสาวใส่บาตรกันน้อยลง ถ้าเป็นวันปกติ แต่ในงานประเพณี วันสำคัญทางศาสนา ก็ยังมีอยู่บ้างนะ เขาจะนุ่งซิ่นมาใส่บาตรกัน แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว กลายเป็นนักท่องเที่ยวมาใส่แทน วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ” เจ้าของกิจการโรงแรมในหลวงพระบางอธิบาย หลังจากเสร็จสิ้นการใส่บาตร และเสริมว่า “นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหลวงพระบางเยอะก็ยังเป็นคนไทยนะ เพราะใกล้กัน ทั้งมาจากทางเครื่องบิน มาทางรถยนต์ ช่วงนี้ Low Season นักท่องเที่ยวจะน้อยหน่อย”

ความเปลี่ยนแปลงบนความเปลี่ยนผ่านของเมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคน กำลังส่งผลอย่างช้าๆ แม้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะรับรู้ถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไข คงต้องติดตามกันต่อไปว่า แนวทางการแก้ปัญหาทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญให้น่านนครได้เรียนรู้และหาทางป้องกัน หากต้องการให้น่านกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ที่วันหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่มีอาจถูกวัฒนธรรมต่างถิ่นครอบงำและกลืนหายไป

ใส่ความเห็น