วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > จาก “ไทยเบฟ” ถึง “AWC” ระดมทุนลุยอสังหาฯ แสนล้าน

จาก “ไทยเบฟ” ถึง “AWC” ระดมทุนลุยอสังหาฯ แสนล้าน

11 มิถุนายน 2562

วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาว เจริญ สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เปิดแถลงข่าวใหญ่เกี่ยวกับทิศทางธุรกิจในอนาคต พร้อมๆ กับยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยถือเป็นการผลักดันบริษัทที่เจริญปลุกปั้นมากับมือ หลังจากเคยถูกต่อต้านอย่างหนักเมื่อครั้งผลักดันบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จนต้องล้มแผนไปเมื่อปี 2548

ครั้งนั้น เจริญปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแอลกอฮอล์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสถาบันการเงินและประกัน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจอยู่ภายใต้ ทีซีซี โฮลดิ้ง โดยธุรกิจแอลกอฮอล์อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ทีซีซี แลนด์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงินอยู่ภายใต้การจัดการของ บริษัท ทีซีซี แคปปิตอล

ทั้งนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2546 อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท และคาดกันว่า หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้มูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้น 2.5-3 แสนล้านบาท โดยมีจุดแข็งในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ มีบริษัทในเครือ 48 แห่ง มีโรงงานแอลกอฮอล์ 1 โรง โรงงานเบียร์ 2 โรง โรงงานสุรา 16 โรง โรงงานผลิตถังไม้โอ๊ก 1 โรง โรงงานผลิตอิฐ 1 โรง

ส่วนตราสินค้ามีทั้งแม่โขง แสงโสม มังกรทอง สาเกชิโนบุ เบียร์ช้าง เบียร์อาชา น้ำดื่มและน้ำโซดาตราช้าง

เมื่อถูกกระแสสังคมต่อต้านหนักหน่วง เจริญตัดสินใจดัน “ไทยเบฟ” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (“SGX”) แทน และเสนอขายหุ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 แต่ยังมีแนวคิดเรื่องการระดมทุนในตลาดหุ้นไทย

กระทั่งปี 2551 ไทยเบฟยื่นคำขอจดทะเบียนหุ้นสามัญทั้งหมดต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามคำเชิญจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง โดยจะนำหุ้นสามัญเดิม 80 ล้านหุ้นออกเสนอขายแก่นักลงทุนในประเทศไทย และจะกลายเป็นบริษัทไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST)

ทว่า ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่สามารถฝ่าด่านคัดค้านจากกลุ่มผู้ประสานงานเครือข่ายต้านน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ 384 องค์กร ที่ประกาศจะระดมเครือข่ายทั่วประเทศปิดล้อมอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่า แผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ “แอสเสท เวิรด์” หรือ AWC รอบนี้ ย่อมต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการปลุกปั้นให้เป็นหุ้นที่มีมูลค่าโดดเด่นและเน้นภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจที่มีมาตรฐานภายใต้ธรรมาภิบาลที่ดี

ตามแผนเบื้องต้น AWC จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 6,957 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 22.47% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท และขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีธนาคารกสิกรไทย บล.ภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อนำเงินมาใช้ 3 ส่วน คือ 1. เป็นเงินลงทุนซื้อกิจการ พัฒนาและปรับปรุงทรัพย์สิน 2. ชำระคืนเงินกู้ยืมให้ธนาคาร และ 3. เป็นเงินทุนหมุนเวียน

หาก ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 6,957 ล้านหุ้น มีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินแต่ไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ หรือไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น

จากข้อมูลไฟลิ่งระบุว่า แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC) มีทุนจดทะเบียน 32,000 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม 92,000 ล้านบาท โดยถือเป็นบริษัท Holding Company ในเครือทีซีซีกรุ๊ป มี 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ซึ่งบริหารงานโดยผู้บริหารโรงแรมแบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ แมริออท, อะลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล, โอกุระ, บันยันทรี, ฮิลตัน และเชอราตัน

อีกกลุ่มเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial Building) ครอบคลุมโครงการ 2 รูปแบบ คือ 1. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต ได้แก่ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โครงการเกทเวย์ แอท บางซื่อ โครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ

2. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน ล่าสุดมี 4 แห่ง ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ แอทธินีทาวเวอร์ 208 วายเลสโร้ด และอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์

วัลลภากล่าวว่า บริษัทเป็นเจ้าของและผู้พัฒนาโรงแรมทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยเปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 4,960 ห้อง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 5 แห่ง นอกจากนี้ ทำสัญญาซื้อโรงแรมอีก 12 แห่ง โดยดำเนินการแล้ว 4 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 8 แห่ง ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี จะมีโรงแรมเพิ่มเป็น 27 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 8,000 ห้อง

สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ล่าสุดมีโครงการรวม 10 แห่ง เปิดดำเนินการแล้ว 8 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 2 แห่ง รวมทั้งมีโครงการในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้าปลีก (Retail) อีก 2 แห่ง เป็นโครงการใหม่ 1 แห่ง และส่วนต่อขยายโครงการเดิม 1 แห่ง

หากดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี AWC มีการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี เม็ดเงินรายได้ปี 2559 อยู่ที่ 9,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 11,000 ล้านบาทในปี 2560 และมากกว่า 12,000 ล้านบาทในปี 2561 โดยสัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ 60% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 40%

“คุณพ่อมีแนวคิดรวมอสังหาฯ ระดับไพรม์เข้าด้วยกัน และอยากให้ธุรกิจของครอบครัวเข้าสู่ระบบเป็นมาตรฐานมากขึ้น ไม่อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานยึดติดกับธุรกิจครอบครัวมาก โดยสินทรัพย์ทั้งหมดที่นำเข้ามาทุกชิ้นต้องมีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้น สินทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจจะเป็นแบบฟรีโฮลด์ (เจ้าของกรรมสิทธิ์) 90% ส่วนอีก 10% จะเป็นสินทรัพย์ลีสโฮลด์ (เช่าระยะยาว) ที่สำคัญ อสังหาฯ ในพอร์ตของ AWC เป็น Prime Property และ Prime Location ย่านซีบีดีที่สร้างรายได้แล้ว จึงเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน”

ขณะเดียวกัน การลงทุนของ AWC ทุกโครงการมีแนวโน้มเติบโต ทั้งกลุ่มโรงแรมที่เจาะตลาดกลางถึงสูง ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งปีนี้มีการคาดการณ์สูงถึง 38 ล้านคน อัตราการเข้าพักโรงแรมของ AWC ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 80% และมีศักยภาพที่จะเจาะตลาด MICE ด้วย นอกจากนี้ โครงการของ AWC ส่วนใหญ่เป็นฟรีโฮลด์ เมื่อคิดจากราคาที่ดินในไทยที่ยังต่ำกว่าราคาตลาดภูมิภาคเอเชีย จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายเท่า

ที่สำคัญ หากทั้งหมดเป็นไปตามแผน หุ้น AWC น่าจะเข้าจดทะเบียนได้ทันภายในปีนี้ และจะถือเป็นดีล IPO ใหญ่สุดของปีนี้ เม็ดเงินระดมทุนขั้นต่ำหลักหลายหมื่นล้านบาท และนั่นย่อมหมายถึงมาร์เก็ตแคปที่จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลด้วย

 

เดอะ แกลลอรี่ Art of Giving

วัลลภา ไตรโสรัส ย้ำเป้าหมายข้อหนึ่งของการผลักดันบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่แค่การระดมเม็ดเงินลงทุนมหาศาล แต่ต้องการปลุกปั้นภาพลักษณ์ใหม่ ล้างภาพธุรกิจครอบครัวแบบเดิม เพื่อเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากลภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี เรียกว่า งานนี้ต้องได้ทั้งเงินและกล่อง

เพราะภายใต้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยุคใหม่มีกระบวนการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจเข้มข้นขึ้น ทั้งในแง่จริยธรรม การคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและให้ประโยชน์ต่อชุมชน โดยเฉพาะโครงการ Thailand Sustainability Investment ที่มีการประเมินผลและประกาศรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ทุกปี ซึ่ง AWC ย่อมต้องการติดชาร์ตหุ้นยั่งยืนเช่นกัน

“AWC ต้องการปรับกระบวนการทางธุรกิจหลายอย่างและได้ก่อตั้งมูลนิธิแอสเสทเวิรด์เพื่อการกุศล เมื่อปี 2561 เพื่อสนับสนุนโครงการด้านสังคม โดยเฉพาะโครงการ The Gallery ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนในรูปร้านขายของที่ระลึกแนวศิลปะ มีแนวคิดสำคัญ คือ Giving Art, Art of Giving อวดผลงานโดดเด่นของกลุ่มนักออกแบบจากหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย และสามารถผลักดันโครงการเพื่อสังคมทั่วประเทศไทยตามสโลแกนของบริษัท Building a Better Future”

ตามแนวคิดของวัลลภาเธอหมายมั่นปั้น เดอะ แกลลอรี่ ให้เป็นธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไร โดยนำกำไรทั้งหมดจากการจำหน่ายสินค้าไปสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น การสร้างโอกาสด้านศิลปะโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและชุมชนสนับสนุนเด็กนักเรียนสำเร็จการศึกษาด้านศิลปะ

ปัจจุบัน เดอะ แกลลอรี่ มี 6 แห่ง ได้แก่ สาขาอาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์,โรงแรมแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์, หัวหินแมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา, แมริออทภูเก็ต, เดอะระวีกัลยา แบงค็อก ไอคอนสยาม สุขสยาม รอยัล พาวิลเลียน และน่าจะมีแผนขยายสาขาอีก

แต่เหนืออื่นใด ต้องจับตาโมเดลวิสาหกิจ “เดอะ แกลลอรี่” จะได้รับแรงสนับสนุนจริงจังหรือไม่ เพราะนั่นย่อมเป็นกรณีหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืนได้อีกทางด้วย

ใส่ความเห็น