วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ปัจจัยความเชื่อมั่นผู้บริโภคลด

เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ปัจจัยความเชื่อมั่นผู้บริโภคลด

แม้ว่าประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ทว่านายกคนใหม่หน้าเดิม ยังไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ เมื่อยังไม่ได้ข้อสรุปของตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะเข้ามาสานงานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน

หลายฝ่ายที่เฝ้ารอโฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งไพร่ฟ้าหน้าใส นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ หรือแม้แต่ฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคที่ต้องมาเป็นฝ่ายค้านในสภา

ดูเหมือนสถานการณ์ความเป็นไปของเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันจะเป็นงานหนักของรัฐบาลชุดใหม่ไม่น้อย เมื่อมีปัญหาหลายด้านที่ต้องเร่งมือแก้ไขเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นทั้งกับนักลงทุน และผู้บริโภคคนไทย

โดยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ธนวรรน์ พลวิชัย เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2562 ว่า มีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 77.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวต่ำสุดในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวเพียง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2557 และลดลงจาก 3.6 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสก่อนหน้า จากสาเหตุที่การส่งออกลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

2. สศช. ปรับประมาณการอัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะโตที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ จากประมาณการอัตราเติบโตทั้งปีที่คาดการณ์ในระดับ 3.3-3.8 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการปรับกรอบจากครั้งก่อนที่อยู่ในระดับ 3.5-4.5 เปอร์เซ็นต์

3. ความวิตกกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต อาจมีความไม่แน่นอนและขาดเสถียรภาพ

4. ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

5. การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2562 มีมูลค่า 18,555.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.57 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,012.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.72 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,457.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ช่วง 4 เดือนแรกปี 2562 ส่งออกได้รวม 80,543.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.86 และมีการนำเข้ารวม 79,993.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.08 ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 549.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

6. SET Index ในเดือนพฤษภาคม 2562 ปรับตัวลดลง 53.30 จุด โดยปรับตัวลดลงจาก 1,673.52 จุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 เป็น 1,620.22 จุด ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562

7. ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาค

8. ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

9. ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว และมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภครู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ธนวรรน์ พลวิชัย คาดว่า ผู้บริโภคจะยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก เพราะสัญญาณเศรษฐกิจเข้าสู่ขาลงชัดเจนขึ้น แต่คงต้องติดตามและยังมองว่าหากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไม่ได้มีเพียงแค่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยเท่านั้น เมื่อยังมีตัวเลขที่น่ากังวลเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ซึ่งอยู่ในระดับที่ลดลง

ดูเหมือนว่าโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาทำงานด้านเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคาดหวัง แม้จะยังไม่ทราบว่าจะสามารถฝากความหวังไว้ได้หรือไม่ก็ตาม กระนั้นก็สร้างความกังวลไว้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 เพราะหากเกิดความล่าช้า อาจทำให้เกิดสุญญากาศ นั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยชะลอตัวและมีความเป็นไปได้ว่าเครื่องยนต์ทุกตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะสะดุด

ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่สุญญากาศ เมื่อภาครัฐดูเหมือนจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นกังวลไม่ต่างกัน โดย ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีความคิดว่าจะนำข้อเสนอที่ครั้งหนึ่งเคยถูกที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตัดตกไปก่อนหน้า นำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้ง เพียงหวังให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบ

มาตรการที่จะนำกลับมาเสนออีกครั้งคือ การแจกเงินสำหรับเที่ยวเมืองรองคนละ 1,500 บาท การลดหย่อนภาษีสำหรับมาตรการชอปช่วยชาติในกลุ่มที่มีกำลังซื้อหรือคนชั้นกลาง และการขยายเวลาการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โดยผู้อำนวยการ สศค. มองว่ามาตรการดังกล่าวอาจเป็นทางเดียวที่จะสามารถกระตุ้นสัญญาณชีพทางเศรษฐกิจที่ให้ผลเร็วที่สุด เมื่อภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน

นอกจากนี้ ลวรณ ยังเปิดเผยว่าได้วิเคราะห์นโยบายของรัฐบาลใหม่และประเมินตัวเลขเม็ดเงินที่จะถูกใช้ในอนาคต สำหรับการสร้างพลวัตให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย ว่าคลังอาจจะต้องจัดสรรเงินงบประมาณมากถึง 100,000 ล้านบาท โดยมีความคาดหวังว่าเมื่อเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบในอนาคตนั้น จะสามารถทำให้ฟันเฟืองทุกตัวในเครื่องจักรขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขาดเสถียรภาพในการหมุนไปข้างหน้าเท่านั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตกลายเป็นประเด็นสำคัญ

เมื่อปัญหาหนี้ครัวเรือนสร้างให้เกิดความเปราะบางที่มีผลต่อความสามารถในการตัดสินใจซื้อ หรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้

โดยรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และไทยเป็นอันดับ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นรองเพียงประเทศเกาหลีใต้ และมาเลเซีย

ทั้งนี้ จากรายงานสิ้นปี 2561 หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 12.1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 มาอยู่ที่ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นสัดส่วน 78.6 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปีนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2562 ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 10.1 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี นับแต่ไตรมาส 2 ปี 2557

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งให้เกิดหนี้จากการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ หรือ LTV และจากการส่งเสริมการขายรถยนต์ในงาน Motor Show 2019 ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 11.4 เปอร์เซ็นต์

คงต้องรอดูว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับตำแหน่งในเวลาอันใกล้นี้จะสามารถแบกรับความคาดหวังจากประชาชนไว้ได้หรือไม่ เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวไม่ใช่ปัญหาเดียวที่รอการแก้ไข สารพัดปัญหาที่รุมเร้ารอบด้านจะมีมือดีเข้ามาจัดการและนำพาความจำเริญให้เกิดขึ้นกับไทยได้หรือไม่ คำตอบคงได้รู้กันไม่นานจากนี้

ใส่ความเห็น