วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ซีพี เจเนอเรชัน 3 ยุค 4.0 รุกภาพลักษณ์ใหม่

ซีพี เจเนอเรชัน 3 ยุค 4.0 รุกภาพลักษณ์ใหม่

ธนินท์ เจียรวนนท์ น่าจะเห็นเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปรับทัพครั้งใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่กำลังจะครบรอบ 100 ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า ท่ามกลางการรุกขยายธุรกิจแนวโน้มใหม่ ยุคใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะอาณาจักรยุค 4.0 จะหลากหลายมากขึ้นตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและกว้างขวางไร้ขอบเขต

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า ชื่อ “ธนินท์” โลดแล่นอยู่ในวงการและถือเป็นผู้ปลุกปั้นกิจการซีพีให้เติบโตมากที่สุด ตั้งแต่เครือซีพีก่อตั้งเมื่อปี 2464 เริ่มบุกเบิกจากร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักและปุ๋ย “เจียไต๋” โดย 2 พี่น้องชาวจีน เจีย เอ็ก ซอ บิดาของธนินท์ และ เจีย โซว ฮุย

ย้อนประวัติกันอีกครั้ง ธนินท์ เจียรวนนท์ เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2482 ที่ย่านเยาวราช ซึ่ง ธนินท์ หรือ ด.ช. ก๊กมิ้น เป็นบุตรชายคนที่ 5 ในบรรดาบุตรทั้ง 5 คนของ นายเอ็กชอ แซ่เจี๋ย เขาเริ่มทำงานเป็นครั้งแรกที่ร้านเจริญโภคภัณฑ์ เมื่ออายุได้ 19 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านพาณิชยกรรมที่ฮ่องกง โดยทำงานในตำแหน่งแคชเชียร์

จากนั้นโยกย้ายไปทำงานที่สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด กระทั่งอายุ 25 ปี กลับมาทำงานอีกครั้งที่เจริญโภคภัณฑ์และกลายเป็นหัวเรือหลักสร้างธุรกิจซีพีจนขึ้นชั้นเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และขยายกลุ่มธุรกิจในเครือมากถึง 13 กลุ่มธุรกิจ

ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและเคมีเกษตร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม กลุ่มธุรกิจพลาสติก กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจยานยนต์ กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคาร

ธนินท์ได้รับการจัดอันดับเป็นเศรษฐีโลกครั้งแรกเมื่อปี 2545 เวลานั้นติดอันดับ 351 ของโลกและติดชาร์ตไต่อันดับเรื่อยมา ปี 2548 ติดรายชื่อเศรษฐีของประเทศไทย อันดับ 3 และขึ้นอันดับ 1 ในปี 2553, 2554 และ 2555 รวมทั้งติดโผเศรษฐีระดับโลกตลอดมา และล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นิตยสาร ฟอร์บส ไทยแลนด์ ประกาศรายชื่อ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2562 ปรากฏว่า กลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ ติดอันดับ 1 มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 941,000 ล้านบาท

ทว่า แม้ในวงการธุรกิจต่างยอมรับชั้นเชิงความสามารถและชื่อเสียงของเจ้าสัวธนินท์ แต่ภาพลักษณ์อีกด้านหนึ่งมักถูกโจมตีในฐานะนายทุนที่ยึดกุมเศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมทั้งพยายามดึงทายาทรุ่นหลังและทีมผู้บริหารคนรุ่นใหม่เข้ามาในบอร์ดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ซีพีว่า แนวคิดการรุกธุรกิจไม่ได้มาจากการสั่งการของธนินท์เพียงคนเดียว

การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นชัดเจนที่สุดเมื่อปี 2560 ธนินท์และพี่ชายอีก 3 คน ได้แก่ จรัญ, มนตรี และสุเมธ เจียรวนนท์ ตัดสินใจเปิดทางให้ทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามานั่งบริหารในตำแหน่งสูงสุดของเครือซีพี โดยธนินท์โยกไปดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสเครือซีพี ขณะที่จรัญและมนตรีดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ และสุเมธเป็นประธานที่ปรึกษา

ให้สุภกิต ลูกชายคนโตธนินท์ ไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และศุภชัย ลูกชายคนเล็ก เป็นประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) นอกจากนี้ ยังขยับผู้บริหารคนรุ่นใหม่เข้ามารับตำแหน่งสำคัญในทุกกลุ่มธุรกิจ

24 เมษายน 2562 ธนินท์ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยให้เหตุผลว่ามีภารกิจมากขึ้น ไม่มีเวลาปฏิบัติงานอย่างเต็มที่

10 พฤษภาคม ซีพีเอฟ มีมติแต่งตั้งสุภกิต เจียรวนนท์ เป็นประธานกรรมการบริษัท พร้อมแต่งตั้งศุภชัย เจียรวนนท์ และประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ เป็นกรรมการ

ขณะที่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการลาออกของธนินท์จากตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการบริษัท มีผลทันที และแต่งตั้งสุภกิตขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

สำหรับสุภกิต วัย 56 จบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ New York University ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นทำงานเมื่อปี 2532 เป็นกรรมการบริษัทไทย โคดามา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเกรท อิเล็กทริค จำกัด จากนั้นนั่งกรรมการบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบริษัทไทยโคดามา ประธานกรรมการ บริษัทเอทีแอนด์ที เน็ตเวิร์ค เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ

ปัจจุบันเป็นกรรมการ บมจ.ซีพี ออลล์, บมจ.สยามแม็คโคร และรั้งประธาน รองประธาน และกรรมการบริหารกิจการในเครือซีพีอื่นๆ อีกร่วม 40 แห่ง เช่น ประธานกรรมการบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป เครือเจริญโภคภัณฑ์ เทเลคอมโฮลดิ้ง เจียไต๋ แลนด์ โฮลดิ้ง เจียไต๋ พร็อพเพอร์ตี้ เมเนจเม้นท์ บจ.ฟอร์จูน ลิสซิ่ง แมส เจียน อินเวสเม้นท์ บจ.ปักกิ่ง โลตัส ซุปเปอร์มาร์เก็ต เชนส์ สโตร์ บจ.เอสเอ็ม ทรู บจ.เซี่ยงไฮ้ คิงฮิวล์–ซุปเปอร์แบรนด์มอลล์

รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการตลาด และการจัดจำหน่าย (จีน) บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่ดิน (จีน) บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.ซีพี โลตัส คอร์ปอเรชั่น รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.เซี่ยงไฮ้ โลตัส ซุปเปอร์มาร์เก็ต เชนส์ สโตร์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์

ขณะที่ศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะซีอีโอเครือซีพี ล่าสุดถือเป็นตัวหลักลุยโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (Hi Speed Train) เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องวงเงิน 224,544 ล้านบาท รวมถึงการร่วมประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน มูลค่ากว่า 290,000 ล้านบาท ในนามกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดยบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ที่มีธนินท์และเครือญาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีลูกๆ ของธนินท์อีก 3 คนที่จับธุรกิจแนวใหม่ ไม่ว่าจะเป็น วรรณี เดินหน้าลุยโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ณรงค์ นั่งรองประธานกรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม และทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ กำลังเร่งเจาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อ “แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC)” รวมถึงอภิโครงการค้าปลีกไอคอนสยาม

ดูเหมือนว่า การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของ “ซีพี” ยุคเจเนอเรชันที่ 3 น่าจะเป็นภารกิจสำคัญที่ธนินท์ต้องรีบปลุกปั้นและรอผลลัพธ์ก่อนวางมืออย่างมั่นใจที่สุด

ใส่ความเห็น